เรื่อง : เอื้อมพร-เสาวลักษณ์
ภาพ : ชนาธิป นันทชัยบัญชา
ยิ่งโลกเต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้งมากขึ้นเท่าใด ชาวชีวจิตก็ยิ่งฝักใฝ่ธรรมะและทำความดีอยู่เงียบๆ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่า นอกจากรังสรรค์สังคมโดยรวมให้เกิดความสงบสุขแล้ว ยังเป็นที่พึ่งทางออกในยามที่ตนประสบปัญหาจิตใจ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา
ด้วยเพราะธรรมะช่วยดูแลสุขภาพใจได้นี่เอง ทำให้คนรักสุขภาพสนใจปฏิบัติธรรมกันมาก แต่ในจำนวนนั้น จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและปฏิบัติอย่างถูกต้อง โอกาสนี้เราจึงขอนัดพูดคุยกับท่านอุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง อดีตผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์พิเศษสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะยุติงานทางโลกมาศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังกับท่านหลวงปู่ชาและท่านพุทธทาสตามลำดับ
ทุกวันนี้ผู้คนต้องเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ กันเต็มไปหมดดังนั้นเราจะสามารถน้อมนำธรรมะมาดูแลสุขภาพได้อย่างไรบ้างคะ
คุณแม่รัญจวน : ต้องเข้าใจว่าสุขภาพต้องรวมทั้งกายและใจกายก็บำรุงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารให้แข็งแรง แต่สุขภาพแข็งแรงอย่างเดียว จิตไม่ได้อบรมพัฒนา เท่ากับใจนั้นยังไม่ได้เบิกบานเต็มที่ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเต็มที่ คงเคยได้ยินว่า ธรรมะเป็นโอสถ คือเป็นยารักษาโรคได้ โดยไม่ต้องไปหาหมอ เสียเงิน เสียเวลา ลองสังเกตดู ถ้าใครเอาธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้นั้นย่อมมีความสุข สดชื่น แจ่มใสสุขภาพดี
มีธรรมะข้อไหนบ้างที่คนปกติควรใช้ดูแลสุขภาพ และคนเจ็บป่วยเองก็ต้องใช้เยียวยารักษาโรค
คุณแม่รัญจวน : ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกว้างขวางมาก ก็เลยต้องสรุปรวมลงมาว่าเป็นกฎของธรรมชาติ นั่นคือ
กฎไตรลักษณ์ กล่าวถึงลักษณะอันเป็นธรรมดาสามัญที่จะต้องเป็นอย่างนี้และเป็นอย่างนี้ตลอดไป คือ อนิจจังความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ความไม่มี
ไตรลักษณ์คืออะไร ท่องอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้แล้วน้อมมาพิจารณา เอาใจสัมผัสให้ได้ ซึ่งจิตจะเกิดความสลดสังเวชอย่างเช่น เราเห็นภาพคนตายถูกห่อด้วยผ้าขาวเพราะภัยสึนามิไม่น่าเชื่อว่านี่คือคนที่เคยวิ่ง เคยทำอะไรได้ทุกอย่าง บัดนี้นอนเป็นท่อนไม้ แสดงอนิจจังชัดเจน
ควรพิจารณาต่อไปว่า นี่มันมีตัวตนจริงไหม ถ้ามีจริงทำไมร่างไม่ลุกขึ้นมาพูด พิจารณาแล้วย้อนมาดูตัวเรา ว่านี่มันก็เรา ไม่ใช่แต่เขา สักวันเราก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ให้รู้สึกสลดสังเวช แล้วจดจำ และบอกตัวเองว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นเพราะไม่มีอะไรให้ยึด เกิดมา ตั้งอยู่ แล้วย่อยสลาย
เพราะชีวิตไม่มีอะไรเที่ยง ความดิ้นรนอยากได้โน่นได้นีและมายึดมั่นถือมั่นเป็นของฉันก่อให้เกิดความทุกข์ ทำให้สุขภาพจิตเสียและทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่อยู่ดีๆมันเปลี่ยน เไม่เจ็บไม่ไข้ เพราะใจมีธรรมะ – คุณแม่รัญจวน อินทรกำแหงหมือนคนสุขภาพดี แข็งแรงอยู่ดีๆ แต่ใช้สุขภาพไปสำมะเลเทเมา ไปเที่ยว ก่ออบายมุข ร่างกายก็ต้องทรุดโทรม ต่อให้กินอาหารชีวจิตก็ทนไม่ไหว ซึ่งนั่นเป็นเพราะเขาทำสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัยไม่ถูกต้อง จึงเกิดความเสื่อม
หลักอริยสัจ 4 เป็นหลักใหญ่ที่เราต้องศึกษาอย่างแจ่มแจ้งถ่องแท้ แค่ท่องได้ถือว่ายังไม่รู้จัก เคยคิดไหมว่าลักษณะอาการของความทุกข์เป็นอย่างไรมันคือความขัดใจ รำคาญ หมั่นไส้ อึดอัด มองอะไรแล้วขุ่นเคืองไปหมด ซึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่คนทั่วไปอาจไม่นึกว่ามันมีความหมายอะไร แต่ทางธรรมะบอกว่า นี่คือลักษณะอาการของความทุกข์ เริ่มด้วยอาการแบบนี้ ไม่ถูกใจ จากน้อยไปถึงมาก จนฆ่าตัวตาย เพราะตอนที่เป็นน้อย ไม่รู้จักดูแก้ไขมัน ยังสะสมมากขึ้นจนระเบิด เพราะไม่รู้เรื่องอริยสัจ 4ถ้าเรารู้จัก เราจะรู้ว่าโรคที่ร้ายกาจที่สุดคือมะเร็งในใจ ซึ่งร้ายยิ่งกว่ามะเร็ง ต้องหาทางรีบขจัดออกไป
ทุกข์เพราะอะไร คำพูดเขาพูดใช่ไหม ท่าทางเขาใช่ไหมซึ่งให้คิดว่ามันก็เรื่องของเขา เขาจะพูดก็ปากของเขา ถูกใจไม่ถูกใจ ดีไม่ดี ก็ปิดหู ปิดใจ เพราะเจ้าตัวคนนั้นละรับเอาไปถ้าเขาตั้งใจว่าให้เราเจ็บ เราเฉย ใครเจ็บล่ะ เขาเจ็บเอง ถ้าใครทำได้อย่างนี้ ผลที่สุดคนที่ชอบทำให้คนอื่นเจ็บก็หยุดเพราะลูกปืนด้าน ยิงแล้วไม่ถูก
ต่อไปเราต้องรู้จักข้อที่สอง คือ เหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร เพราะความอยาก พอได้ยินคำไม่ถูกใจ ก็อยากจะโต้กลับไป นี่ความอยาก พอทำเขาไป สวยไหม น่าดูไหม
น่าเกลียดทั้งคำพูดทั้งวาจาท่าทาง มันก็เตือนตัวเองได้ว่าอะไรทำให้เราเป็นอย่างนั้น และเราอยากน่าเกลียดหรือ อยากเป็นยักษ์เป็นมารหรือ ฉะนั้นเราต้องมีจิตใจเข้มแข็ง พึ่งตัวเองและเราจะพ้นความไม่น่าดูได้ คือรู้จักปัญหา และไม่ยอมเป็นทาสของมัน
ข้อที่สามคือ การดับทุกข์ ส่วนข้อที่สี่ก็เรื่องของมรรคคือ ทางสายกลาง ไม่ไปซ้ายไปขวา นิ่งๆ ใครเขาทำอะไรก็ยิ้มได้ รับได้ ไม่ต้องไปนอนไม่หลับ
สภาวธรรม คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บความตาย ก็ต้องรู้จัก เพราะไม่มีใครสามารถเลี่ยงได้ ถ้าเราพยายามหนี ไม่อยากแก่ จิตใจก็ไม่เป็นสุข ดิ้นรน เห็นผมหงอกก็ใจสั่น ไปหาคลินิกชะลอความแก่ ต้องศึกษาสิ่งนี้ว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าใครรักษาสุขภาพดี ออกกำลังกายกินอาหารดี รักษาสุขภาพจิตใจไม่ให้เครียด ความแก่ก็มาถึงเราช้า คนฉลาดหันมาแก้ไขตรงนี้
ที่สุดแล้วเมื่อความแก่มาถึง ก็ต้อนรับมันสิ เป็นเพื่อนกับมันความแก่ก็กลายเป็นของธรรมดา เคยเห็นคนแก่อย่างสง่าไหมเขาเป็นคนอบอุ่นที่ลูกหลานอยากอยู่ใกล้ๆ เพราะคนนั้นไม่หมกมุ่นกังวลว่าทำไมถึงแก่ และใช้ชีวิตแก่ให้มีคุณภาพที่สุดเอาประสบการณ์ ความสำเร็จ ความล้มเหลวในชีวิตที่ผ่านมามาเผื่อแผ่แบ่งปัน ซึ่งเป็นสิ่งดีเสียอีก และความตายเองก็เลี่ยงไม่ได้ เป็นกฎอนิจจัง
สรุปแล้วคนปกติหรือคนป่วยต้องมีธรรมะชุดเดียวกัน ถ้าอยากให้กว้างขึ้นก็ควรรู้ธรรมะทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 ฆราวาสธรรม 4 ทำให้เรากว้างขวางในทางธรรมมากขึ้น
ทางสายกลางที่คนธรรมดาเข้าใจมีหลายแบบ อยากให้คุณแม่อธิบายสิ่งที่ถูกต้อง
คุณแม่รัญจวน : บางคนชอบเอาตัวฉันมาตัดสินทางสายกลางมักคิดว่าทางสายกลางต้องเป็นไปตามทิฐิของฉันอยู่เรื่อยไปถ้าทางสายกลางของพระพุทธเจ้าคือ ไม่ให้สุดโต่งไปทางซ้ายสุดโต่งไปทางขวา ท่านบอกว่าไม่ให้ติดในสิ่งคู่ ได้ – เสีย สกปรก -สะอาด กำไร – ขาดทุน เพราะคนทุกคนมีความทุกข์เพราะยึดสิ่งคู่
การกระทำที่อยู่ในทางสายกลาง คือ การกระทำที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นประโยชน์เรียบร้อยแก่ทุกฝ่าย แต่ถ้าทำแล้วมีปัญหามาเรื่อย น้อยบ้างมากบ้าง เท่ากับว่าต้องมีอะไรระหว่างการทำสิ่งนั้น ซึ่งไม่เรียกว่าสายกลาง
เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ธรรมะที่ได้รู้มาเกิดประโยชน์ระหว่างวัน
คุณแม่รัญจวน : อันดับแรกต้องทำจิตให้มีสติ ซึ่งต้องอาศัยการฝึก แล้วนำมาใช้ ต่อให้ในชีวิตประจำวันทำงานหนักแค่ไหนก็ยังเชื่อว่าต้องมีเวลาพักบ้าง ครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงก็ได้ เริ่มด้วยหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว เรียกว่าเริ่มนิ่ง เริ่มสงบถ้าอยู่กับลมหายใจอย่างนี้ ให้พิจารณาความไม่เที่ยงซึ่งง่ายที่สุดเพราะเมื่อชีวิตเราผ่านมาถึงตอนนี้ ต้องรู้ว่าชีวิตมันไม่เหมือนเดิมเลย ซึ่งถ้าเราเห็นสิ่งนี้ เท่ากับเราเห็นอนิจจัง ฉะนั้นเราจะมาร้องไห้เสียใจ อยากได้โน่นได้นี่จนน่าเกลียดทำไม เอาแต่พอดีๆ
ถ้าเราปรารภว่าชีวิตไม่เที่ยงหนอบ่อยๆ ให้ชิน ให้ซึมเข้าไปในใจ แล้วเราจะผ่อนคลาย ปล่อยวางได้ นี่แหละเรียกว่าการปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาจะไปวัด แต่ก็ยังปฏิบัติได้ ไม่ต้องแก้ตัว ครูหลายท่านจะถาม บอกว่าไม่มีเวลาน่ะ มีเวลาหายใจไหมเพราะเราหายใจทุกวัน แต่หายใจแบบไม่มีสติ เพราะเราไม่ได้ดูเราไม่รู้ว่านี่หายใจเข้าหรือออก ประเดี๋ยวก็พูดด้วยความโกรธประเดี๋ยวก็พูดด้วยความไม่พอใจ แล้วก็มาเสียใจว่าไม่ควรพูดเลย เพราะพูดแบบไม่มีสติน่ะสิ ไม่เคยจดจ่อกับอะไรปล่อยให้ใจวุ่นวายไปเรื่อย
ฝึกบ่อยๆ นานวันเข้าก็ชิน กินข้าวก็พิจารณาได้ นอน ขึ้นรถก็พิจารณาได้ ซึ่งไม่ยากเลย ที่บอกว่าทำไม่ได้ เพราะไม่สนใจจะทำ เพราะไม่คิดว่าธรรมะมีคุณค่าต่อชีวิต แต่คิดว่าตำแหน่งการงาน เงินทองสำคัญกว่า ก็เลยพะวงกับการกอบโกยหาให้ได้ ลองเอาเวลาให้กิเลสมาอยู่กับธรรมะเสียบ้าง ไม่ต่างกันเลย กำไรหรือขาดทุนในชีวิตอยู่ที่เรา จึงไม่ควรมีคำแก้ตัวปฏิบัติน้อยหรือมากอยู่ที่ตัวเราเอง
ทำที่บ้านหรือที่วัดต่างกันอย่างไรคะ
คุณแม่รัญจวน : พยายามทำที่บ้านให้ได้ตามที่พูดมาแล้วก็ดีแต่การไปวัดบ้างก็ดี เพราะได้ไปอาศัยสิ่งแวดล้อมดีๆ สงบทำให้เบาสบายขึ้น มีโอกาสพิจารณาธรรมที่ใจได้ง่ายขึ้น ลึกซึ้งขึ้น มันก็ดีกว่า
ถ้าไปวัดไม่ได้ ก็หาเวลาตรึกตรองธรรม วันละ 5 – 10 นาทีตรงมุมสงบที่บ้าน โดยไม่เอาเรื่องข้างนอกเลย อยู่กับจิตของตัวเอง พิจารณาแต่ธรรมะที่ก่อให้เกิดความปีติ ถ้าไม่มีเวลาไปวัดก็ไม่ต้องเสียใจ บางคนไปพักที่วัดเฉยๆ ก็มี บางคนไม่เคยไปวัด แต่มีธรรมะมากกว่าคนไปวัดก็มี ขึ้นอยู่กับว่าจะจริงจังแค่ไหน ถ้าใครฝึกใจได้ในที่ทำงาน เท่ากับคนนั้นเก่งมากเพราะอะไร เพราะอยู่ท่ามกลางความร้อน แต่สามารถฝึกใจให้เกิดความเย็นขึ้นมาได้
แต่ละวันเรามีอารมณ์หลายแบบ เราจะฝึกอย่างไรให้ตัวเองมีอารมณ์กลางๆ มั่นคง
คุณแม่รัญจวน : ตอนเช้าตื่นขึ้นมา อย่าเพิ่งลุกจากเตียงหายใจยาวสบายๆ เสียก่อน จนกระทั่งรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือไม่งัวเงีย เบิกบาน จิตมีสติ คิดว่าวันนี้เราจะทำอะไรเพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นทุกข์ เครียด เพราะเครียดคือทุกข์ และคิดว่าอะไรคือเหตุแห่งเครียด ความอยากน่ะสิ อยากโน่นอยากนี่ ให้เป็นเหมือนใจเรา อารมณ์ก็เลยขึ้นลง ขึ้นฟ้า หรือว่าลงดิน ก็ต้องรู้จักว่าอารมณ์คือมโนภาพของจิต เพราะจิตคิดปรุงแต่งไปเราเองที่สร้างสวรรค์หรือนรกขึ้นมาในใจ เพราะฉะนั้นหยุดเสียสิ่งเหล่านี้เป็นมายา ไม่ใช่สิ่งจริง ทุกอย่างเป็นสิ่งไม่เที่ยง เราต้องหมั่นดุตัวเอง คนที่ไม่ควบคุมอารมณ์ตัวเองถือว่าไม่ฉลาดเลย ถ้าว่าให้เจ็บๆ ก็โง่จริงๆ ต่อให้เก่งแค่ไหน ทำงานดีแค่ไหน ก็ถือว่าโง่มาก
เล่าประสบการณ์สมัยทำงานกับการฝึกธรรมะได้ไหมคะ
คุณแม่รัญจวน : สมัยที่ยังเป็นคนโลกย์ ก็พูดได้ว่าเป็นคนที่ไม่รู้ธรรมะ ไม่สนใจธรรมะก็ได้ ธรรมะในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติธรรม เคยเรียนหนังสือมา รู้ไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 แต่ทฤษฎี รู้ด้วยสมอง แต่ไม่เคยน้อมมาที่ใจ ก็เป็นลักษณะคนดีมีศีลธรรม แต่ยังร้องไห้ คร่ำครวญ โกรธแค้น ซึ่งไม่พอต้องมีธรรมะควบคุมจิต และสามารถใช้ธรรมะเอื้อประโยชน์ต่อผู้อื่น การงาน ครอบครัว และมีความสุขไปพร้อมกัน
ถ้าเป็นคนดีมีศีลธรรมก็จะมีแค่เมตตา สงสาร ช่วยเหลือคนตามกำลัง อาจช่วยไปบ่นไป แล้วคิดต่อว่าตัวเอง ว่าทำไมเราต้องเหนื่อยสายตัวแทบขาด ไม่ใช่เรื่องของเราสักหน่อย ทำอย่างนี้เพราะไม่ได้มีธรรมะจริงๆ จึงต้องฝึกฝนด้วยการน้อมนำธรรมะที่รู้มาที่ใจ จนกระทั่งสามารถมองเห็น สัมผัสอนิจจังได้
การเป็นคนดีมีอุดมการณ์ อยากทำดีเพื่อผู้อื่น ถือเป็นความเห็นแก่ตัวได้อย่างไรคะ
คุณแม่รัญจวน : ถ้าเราอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่เรามีกฎเกณฑ์ตายตัว จะต้องทำอย่างนี้ถึงถูกต้อง ทำอย่างอื่นไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นคนถือว่ายึดมั่นถือมั่นในมาตรฐานอุดมคติของตัว เพราะคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่นรู้มากกว่าคนอื่น
ใครคิดอย่างนี้ แม้เป็นคนดีมีเมตตาก็ตาม ก็บอกได้ว่าคนอย่างนี้อาจประสบความสำเร็จในชีวิตเยอะ แต่ก็ทุกข์มากตรงกันข้าม ถ้าทำโดยไม่ยึดก็จะเป็นสุขได้ เพราะอะไร เพราะมีปรมัตถธรรมในใจ ซึ่งคือธรรมะสูงสุด สอนให้เรารู้กฎของความจริง ซึ่งต้องน้อมมาฝึกปฏิบัติ
ถ้ามีคนสนใจเรื่องโพชฌงค์ คิดว่าการสวดแล้วจะช่วยให้หายป่วย ตรงนี้อยากให้อธิบายน่ะค่ะ
คุณแม่รัญจวน : เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทั้งผู้สวดและผู้ฟัง คือคนสวดมีความเข้าใจเรื่องโพชฌงค์ดีแค่ไหน เข้าใจความหมายของแต่ละข้อละเอียดลออแค่ไหน เพราะโพชฌงค์เป็นธรรมะขั้นสูงที่นำไปสู่การตรัสรู้
ส่วนผู้ฟังนั้นเข้าใจหรือเปล่า ถ้าไม่ เขาสวดให้ฟังก็ฟัง มันก็ทะลุหูผ่านไป โพชฌงค์ที่เกิดผลต่อผู้ฟัง ผู้ฟังต้องรู้จักศึกษาเรียนรู้มาบ้าง ฟังแล้วช่วยให้ใจเกิดความชุ่มฉ่ำ รู้สึกลึกซึ้งสัมผัสกับโพชฌงค์ได้ทีละข้อ ทำให้เกิดสติ เกิดความพากเพียรปีติ พอใจ อยากนำธรรมะมาใคร่ครวญ แยกแยะ และอยากปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นๆ
ไม่ใช่จู่ๆ ก็มาโพชฌงค์ คือต้องปฏิบัติธรรมมาแล้ว และมีพื้นฐานธรรมะที่กล่าวมาตั้งแต่แรก ไตรลักษณ์ อิทัปปัจจยตาสภาวธรรมต่างๆ เมื่อฟังสวดจะซึมซาบ เกิดความเข้าใจ รู้ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง และใจที่กำลังเจ็บป่วยจะผ่อนคลายลง รู้ว่าไม่มีอะไรดำรงอยู่ตลอดไป วันนี้เจ็บ พรุ่งนี้ก็หายได้ อาทิตย์หน้าก็หายได้ จิตเกิดความสงบเย็น เกิดปัญญาต่างๆ ตามมาที่สุดก็วางเฉยได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
ถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าสิ่งที่คุณแม่รัญจวนบอกสอน จะช่วยให้หลายคนเริ่มต้นฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมากกว่าการท่องจำทฤษฎีนะคะ
เพราะที่สุดแล้วความทุกข์ใดที่รุมทำลายสุขภาพจิตใจคุณอยู่ขณะนี้ สามารถแก้ไขคลี่คลายได้ด้วยตัวคุณเอง