ชีวิตที่สงบเย็นจากข้างในของ ปวีณา ชารีฟสกุล (2)
บางครั้งชีวิตของเราก็เหมือนชะตาฟ้าลิขิตไว้แล้วว่าต้องเกิดในครอบครัวนี้มีพ่อแม่พี่น้องแบบนี้ แต่บางอย่างก็มาจากสองมือของเราเอง…
ด้วยความที่เจี๊ยบ ปวีณา ชารีฟสกุล เข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 15 ปี และทำหน้าที่หาเลี้ยงทุกคนในครอบครัว ทั้งคุณแม่และน้อง ๆ ต่างพ่ออีก 3 คน ทำให้เจี๊ยบมีนิสัยเป็นคนแข็ง ๆ เพราะต้องตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัวด้วยตัวเอง ไป ๆ มา ๆ ก็เหมือนสลับหน้าที่กับคุณแม่ เพราะคุณแม่มีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินของคนในบ้าน ส่วนเจี๊ยบก็เหมือนหัวหน้าครอบครัว ออกไปทำงานนอกบ้าน กลับมาก็อยากได้ความรู้สึกสบายผ่อนคลายจากคนในบ้าน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เรียกว่ามาถึงสำรับกับข้าวต้องพร้อม
ความจริงสมัยเด็ก ๆ คุณแม่ชอบสอนด้วยการตี แต่พอโตขึ้นทำงานทำการแล้วก็จะบอกคุณแม่ว่า “โตแล้ว ห้ามตี แต่ดุได้”เวลาคุณแม่ดุตอนเด็ก ๆ เจี๊ยบก็หนีขึ้นต้นไม้แต่พอโตขึ้นก็ขับรถหนี ให้อารมณ์เราเย็นก่อนแล้วค่อยกลับมาคุยกัน
สำหรับเจี๊ยบคุณแม่เป็นผู้หญิงแกร่งและเด็ดเดี่ยว ท่านจะสอนลูกในเรื่องความรักว่า เวลารักใคร ให้เลือกคนที่ “เขารักเรา”อย่าไปเลือกคนที่ “เรารักเขา” เป็นคำสอนง่าย ๆ แต่ลึกซึ้ง เพราะถ้าเรารักเขามากก็จะเสียเปรียบ (หัวเราะ) แต่ถ้าเขารักเรา อย่างน้อย ๆ เราก็จะได้เปรียบนิดหน่อย นี่คือวิธีคิดของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เจี๊ยบเชื่อว่า คนที่มีครอบครัวจะสัมผัสได้และทุกวันนี้คำสอนของคุณแม่ก็เป็นความจริงเพราะหลายปีใช้ชีวิตคู่ด้วยกันมา เราก็อยู่กันอย่างมีความสุข
นักแสดงคนอื่นอาจอยากให้มีข่าวของตัวเองปรากฏในสื่อ แต่เจี๊ยบกลับคิดว่าอยากให้ผู้ชมเห็นฝีมือการแสดงของเรามากกว่า เพราะช่วงเข้าวงการใหม่ ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ออกเทป เจี๊ยบเจอสื่อเยอะมาก เมื่อหลายวันก่อนเจี๊ยบไปค้นเจอตลับเทปของตัวเอง เห็นแล้วถึงกับต้องอุทานในใจว่า“อุ๊ยตาย! ของโบราณขนาดนี้จะหาเครื่องเล่นได้ที่ไหนล่ะเนี่ย”
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่เคยเห็นเจี๊ยบแสดงแต่บทแม่ในจอทีวี อาจคิดไม่ถึงว่าครั้งหนึ่งเจี๊ยบเคยเป็นนักร้องมาก่อน แต่การเป็นนักร้องของเจี๊ยบก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด…
ชีวิตนักร้อง…ทำได้แต่ไม่ใช่แนวถนัด
เจี๊ยบเชื่อว่า โชคชะตาฟ้าลิขิตมีจริงเหมือนที่ครั้งหนึ่งบันดาลให้เจี๊ยบได้มีโอกาสเจอกับ คุณอิทธิ พลางกูร นักร้องชื่อดังในยุคนั้น ตอนนั้นเจี๊ยบเล่นละครแล้วและพักอยู่บ้านคุณป้า ด้วยความที่เล่นกีต้าร์เป็นตั้งแต่อยู่ ม.1 ว่าง ๆ ก็จะชวนสมัครพรรคพวกตั้งวงเล่นกีต้าร์ร้องเพลงด้วยกันที่หน้าบ้านแล้วบังเอิญที่คุณอิทธิก็มีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กันวันหนึ่งอยู่ดี ๆ พี่เขาก็เดินเข้ามาชวนว่า “ร้องเพลงเป็นหรือเปล่า…ออกเทปไหม”
หลังจากนั้นชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งก็พลิกผันครั้งใหญ่ ได้ไปเรียนร้องเพลงและเรียนอ่านโน้ตกับครูชาวฟิลิปปินส์ ได้ออกเทปกับค่าย “ครีเอเทีย” เทปชุดแรกออกแนวโป๊ง ๆ ชึ่ง สนุกสนาน การแต่งตัวก็ออกแนวหวานแหววแต๋วจ๋า ซึ่งไม่ใช่ตัวเราเลย จนชุดที่สอง โปรดิวเซอร์ถึงได้ค้นพบว่าตัวจริงของเจี๊ยบเป็นคนห้าว ๆ เลยให้ใส่กางเกงยีนเสื้อเชิ้ตอย่างที่เราถนัด พอออกเทปชุดสามก็ได้ไปเรียนร้องเพลงกับ ครูอ้วน -มณีนุช เสมรสุต โดยมี โจ – มณฑานี ตันติสุข แต่งเพลงให้ ซึ่งกลายเป็นเพลงรักที่ดังมาจนถึงทุกวันนี้ เช่นเพลง ไม่ขอเป็นรอง
ถามว่าร้องเพลงเป็นสิ่งที่เจี๊ยบถนัดไหมตอบเลยว่าไม่ค่ะ ถนัดเป็นนักแสดงมากกว่าเพราะรู้สึกเครียดกับการร้องเพลง เครียด
เวลาไปแสดงคอนเสิร์ตแล้วมีคนชมอยู่ข้างหน้าเป็นหมื่น ๆ เจี๊ยบเป็นนักร้องที่เครียดมากด้วยเหตุนี้หลังออกเทปชุดสามแล้ว เจี๊ยบก็บอกลาวงการนี้ เพราะคิดว่า ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้คนอื่นได้เห็นแล้วว่า “หนูทำได้”แต่ “หนูสู้ไม่ไหว หนูเหนื่อย” สุขภาพก็ไม่ดีเจอดรายไอซ์ นอนพักผ่อนไม่เป็นเวลาต้องเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ ไหนจะต้องตีตั๋วเครื่องบินกลับมาถ่ายละครอีกเลยขอโบกมือบ๊ายบายอาชีพนี้เลยดีกว่า
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
วันที่เหนื่อยที่สุด
ช่วงที่เป็นนักร้องใหม่ ๆ เจี๊ยบทัวร์คอนเสิร์ตไปด้วยแสดงละครไปด้วย บางครั้งรู้สึกเหนื่อยท้อแท้ขึ้นมาตามประสาเด็ก แต่โชคดีที่มี “พี่กิต” รุ่นพี่ที่คบกันมาตั้งแต่เด็กและอยู่หมู่บ้านเดียวกันพูดเตือนสติ
เมื่อเริ่มเข้าวงการพี่กิตจะทำหน้าที่คล้ายผู้จัดการส่วนตัว ไปไหนไปด้วย เพราะคุณแม่ของเจี๊ยบไว้วางใจ พี่กิตมีบุคลิกเหมือนผู้หญิงและมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเจี๊ยบเวลาที่เหนื่อย ฟาดงวงฟาดงา เขาก็จะมีเหตุผลดี ๆ มาพูดให้เจี๊ยบมีพลังใจได้ทุกครั้ง
วันนั้นเจี๊ยบเหนื่อยกับการทำงานมากไม่อยากร้องเพลง ไม่อยากแต่งตัว ไม่อยากแต่งหน้า ชักดิ้นชักงออยู่ในห้องแต่งตัวกับพี่กิตสองคน พี่กิตมองดูเจี๊ยบแต่ไม่ปลอบปล่อยให้ปลดปล่อยอารมณ์จนพอใจ พอหยุดแล้วพี่กิตก็พูดว่า
“เหนื่อยแล้วใช่ไหม เหนื่อยแล้วฟัง!”
“เราน่ะ ชื่ออะไร” พี่กิตถามเจี๊ยบ
ด้วยคำถามธรรมดา ๆ แต่ชวนให้ฉงน
“ชื่อปวีณา ทำไมคะ”
“แล้วตอนนี้มีหน้าที่อะไร” พี่กิตถามต่อ
“ดูแลที่บ้าน” เจี๊ยบตอบแบบงง ๆไม่เข้าใจว่าพี่กิตถามทำไม
“เออ…แล้วถ้าไม่ทำแบบนี้ ที่บ้านจะเอาอะไรกิน น้องยังเรียนหนังสืออยู่หรือเปล่า ส่วนแม่ก็หวังพึ่งเธอคนเดียวใช่ไหม เอาสิเลิกก็เลิกไปสิ ไปขายลูกชิ้นปิ้งก็ได้ ได้วันละ200 บาท จะพอเลี้ยงทั้งครอบครัวไหม”
ฟังพี่กิตพูดแล้วเจี๊ยบก็ได้คิด เมื่อคิดได้ ก็ยอมรับกับความเป็นจริง ไม่รู้สึกทุรนทุรายและมีแรงฮึดทำงานต่อไป น่าเสียดายที่พี่และเพื่อนที่แสนดีคนนี้จากไปแล้วด้วยโรคมะเร็ง วันที่พี่กิตจากไปเป็นวันที่เจี๊ยบรู้สึกเสียใจมาก และคิดอยู่เสมอว่า ที่เดินมาถึงวันนี้ได้ก็เพราะมีพี่กิตอยู่เคียงข้าง
ช่วงที่เป็นวัยรุ่นบางช่วงที่รู้สึกว่าตัวเองหลงระเริง เตลิดเปิดเปิง เพราะเพื่อนมากลากไป เจี๊ยบจะมีคำถามขึ้นมาในใจว่า “เรามาจากไหนเหรอ” พยายามคิดเสมอว่า อย่าหลงตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของสมมุติมาแล้วก็ไป ขึ้นสู่จุดสูงสุดได้ก็ลงมาได้
นอกจากนั้นโชคดีที่เจี๊ยบมีแนวคิดในการใช้ชีวิตว่า “อย่าไปรับรู้อะไรมากแล้วชีวิตจะมีความสุข” ทำให้เวลามีใครชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบเราก็ไม่ค่อยไปรับรู้บางครั้งเพื่อนโทร.มาเล่าให้ฟัง เจี๊ยบก็จะตัดบทว่า “จบแล้วใช่ไหม จบแล้วแค่นี้นะขี้เกียจฟัง”
เจี๊ยบเป็นคนมีหลักการในการใช้ชีวิตหลักในการทำงาน และหลักในการดูแลครอบครัว อย่างที่เล่าในตอนแรกว่า คุณพ่อกับคุณแม่แยกทางกันตอนเจี๊ยบยังเล็กมาเจอคุณพ่ออีกครั้งตอนอายุ 20 กว่า ๆครั้งแรกที่เจอกัน เจี๊ยบยังจำได้ไม่ลืม…
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(เรื่อง ปวีณา ชารีฟสกุล เรียบเรียง เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร)