การฝึกสติละความโกรธ

โกรธอย่างไรให้เกิดปัญญา 10 เทคนิคดีๆ ใน ” การฝึกสติละความโกรธ “

โกรธอย่างไรให้เกิดปัญญา 10 เทคนิคดีๆ ใน ” การฝึกสติละความโกรธ “

เป็นความจริงที่ว่า คนเราสามารถรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจได้ตลอดเวลา แต่ความโกรธจะไม่แปรเปลี่ยนเป็นความผิดบาป ตราบใดที่คุณหยุดยั้งความโกรธไว้ให้เป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและดับไป และ การฝึกสติละความโกรธ หรือพิจารณาเพื่อละความโกรธนั้นก็ไม่ได้ยากเกินคุณจะทำความเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน…มาดูกันดีกว่าว่าทำได้อย่างไร

1.พิจารณาโทษของการเป็นคนโกรธ ผู้ที่เริ่มโกรธก่อนนับว่าเป็นคนเลวอยู่แล้ว แต่คนที่โกรธตอบนั้นนับว่าเลวหนักกว่าหลายเท่าเพราะเท่ากับเป็นผู้สานต่อความเลวให้ยืดยาวต่อไป พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า เราอย่าเป็นทั้งคนเลวและคนที่เลวกว่านั้นเลย

2.พิจารณาโทษของความโกรธ คนเราเมื่อโกรธจะเปิดปากกว้าง แต่ตาสองข้างจะหรี่ปิด ทำให้มองไม่เห็นโทษร้ายแรงของความโกรธ ยามโกรธจึงมักไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวตาย ไม่กลัวบาป ฉะนั้นยิ่งโกรธมากเท่าใด ยิ่งต้องตั้งสติให้มั่นและระลึกไว้ว่า ความโกรธนั้นเป็นภัยร้ายแรง การสะสมความโกรธไว้ในใจก็ไม่ต่างอะไรกับการสะสมวัตถุระเบิด วันหนึ่งย่อมระเบิดตูมตามทำลายตัวเอง

3.พิจารณาถึงความดีของคนที่เราโกรธ ธรรมชาติของมนุษย์เดินดินนั้นย่อมมีทั้งดีเลวปะปนกัน การโกรธคือการเห็นข้อเสียของอีกฝ่าย การเพ่งไปที่ข้อเสียนั้นจึงยิ่งทำให้ความโกรธขยายใหญ่ขึ้น แทนที่จะจ้องจับผิด ให้คุณลองหันมามองหาความดีไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่งซึ่งทุกคนย่อมมี เช่น ถ้าเขาเป็นสามีที่ไม่ดี เขาอาจจะเป็นพ่อที่ดีก็ได้ขณะที่คุณชั่งตวงวัดข้อดีข้อเสียอยู่นั้น ความโกรธก็จะค่อยๆ สลายตัวไปเอง

4.พิจารณาว่าความโกรธคือการลงโทษตัวเองให้สมใจศัตรู ถ้าการโกรธแค้นกันคือการแข่งขัน การโกรธตอบก็ไม่ต่างอะไรกับการยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ตัวเอง ทางที่ดีคุณควรบอกตัวเองว่า“คนอื่นเขาอยากให้เราโกรธ จึงแกล้งทำสิ่งไม่ถูกใจเรา แล้วไฉนเราจึงช่วยให้เขาสมปรารถนา ด้วยการปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นมาได้เล่า”ว่าแล้วก็เลิกโกรธเสียเถอะ!

5.พิจารณาว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตน ความโกรธถือเป็นอกุศลกรรม ผู้ใดโกรธ ผู้นั้นย่อมได้รับผลกรรม และกรรมที่ว่านี้ก็มีลักษณะ “ของใครของมัน” กล่าวให้ง่ายก็คือ ถ้าเปรียบความโกรธเป็นไฟถ้าคุณเอามือไปแตะไฟ คุณย่อมร้อนอย่างแน่นอน แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นผู้ก่อกองไฟขึ้นมาก็ตาม ฉะนั้น ถ้ามี ใครทำให้โกรธ อย่าไปโกรธตอบ เพราะผลกรรมจากการโกรธตอบนั้นจะตกเป็นของคุณอย่างไม่อาจปฏิเสธ

6.พิจารณาพระจริยวัตรในปางก่อนของพระพุทธเจ้า เตือนใจตัวเองไว้ว่า กว่าที่พระศาสดาจะสั่งสมบารมีจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงถูกเบียดเบียนทำร้าย กระทั่งถูกหมายเอาชีวิต แต่กระนั้นก็ไม่ทรงแค้นเคือง กลับอดทนระงับความโกรธและมีเมตตาตอบ พุทธวิถีของพระองค์นับเป็นแบบอย่างที่ทำให้มนุษย์คิดได้ว่า สิ่งกระทบกระทั่งที่คุณเผชิญอยู่นั้นเล็กน้อยนักเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงประสบมา

7.พิจารณาว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายเคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏทั้งสิ้นพุทธศาสนาเชื่อว่า บรรดาสรรพสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏล้วนเคยผูกพันเป็นบิดามารดา เป็นญาติพี่น้องกันมาในชาติก่อน ฉะนั้นในยามโกรธแค้นหรืออยากทำร้ายใคร ให้คิดว่าคนที่คุณกำลังจะตะบันกำปั้นใส่หน้าเขา อาจจะเคยเป็นพ่อเป็นแม่เป็นคนที่เคยรักใคร่ผูกพันกันมาในชาติก่อน แล้วชาตินี้คุณจะทำร้ายเขาไปเพื่ออะไร

8.พิจารณาอานิสงส์ของเมตตา ความเมตตาเป็นหลักธรรมที่ลบล้าง  ความโกรธได้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณเหมือนยาวิเศษ ทำให้คุณหลับฝันดี เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ตลอดจนอมนุษย์ทั้งหลาย ภัยและอาวุธไม่กล้ำกราย จิตเป็นสมาธิได้ง่าย – ข้อดีมีมากมายขนาดนี้แล้ว เราจงมีเมตตาต่อกันและกันเถิด

9.พิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ สลายตัวตน มองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริงขั้นปรมัตถ์ว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งสมมุติที่เกิดจากธาตุ(รูปธรรม) และขันธ์ (นามธรรม) มาประกอบกัน เมื่อคุณโกรธใครให้ถามตัวเองว่า “เราโกรธอะไรเขา โกรธผม โกรธขน  โกรธเล็บ โกรธเลือด ฯลฯ หรือโกรธธาตุดิน โกรธธาตุน้ำ โกรธธาตุไฟ หรือโกรธธาตุลม” เมื่อเห็นว่าเขาคนนั้นมีแต่ธาตุและขันธ์ แล้วคุณจะโกรธเขาไปทำไม ในเมื่อเขาไม่มีอยู่จริง

10.ให้ทาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเสียสละ ไม่ว่าจะเสียสละด้วยการให้สิ่งของ ให้มิตรไมตรี หรือให้อภัย รับรองว่าไม้เด็ดสุดท้ายนี้จะช่วย “เปลี่ยนคมหอกเป็นดอกไม้” ได้ชะงัดทีเดียว

การใช้สติยับยั้งอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจดัง 10 ข้อข้างต้นนั้น นอกจากจะช่วยลดละความโกรธได้แล้ว ยังทำให้คนเรามีปัญญาเห็นการเกิด – ดับของสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อยุคสมัยที่ผู้คนกำลังขับเคลื่อนชีวิตด้วยความโกรธและความไม่พอใจดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้

หวังว่า บทความนี้จะทำให้ความโกรธที่เคยคุกรุ่นอยู่ในใจของใครก็ตาม ดับสิ้นไปในวันนี้นะคะ


บทความน่าสนใจ

7 วิธี ขจัดความโกรธ

5 เคล็ดลับ “หยุดความโกรธ” ให้ทัน ก่อนที่มันจะลุกลาม

โกรธแล้วได้อะไร บทความชวนคิด จาก พระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ) 

5 วิธีระงับ “ความโกรธ” แบบผิดๆ ที่ไม่ควรทำตอนหัวร้อน

ชัยชนะที่น่าชื่นชมคือการ ชนะความโกรธ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.