วันพระ

ที่มาของ วันโกน วันพระ ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ – ว.วชิรเมธี

ANSWER KEYS – 5 วันเลี้ยงท้อง 2 วันเลี้ยงใจ โดย ว.วชิรเมธี

1. วันพระ เป็นวันอะไร มีความสำคัญและประวัติความเป็นมาอย่างไรคะ

2 .ศีล 8 โดยเฉพาะข้อที่ 7 ในส่วน “เว้นการทัดทรง ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา” “เครื่องทา” ที่ว่านี้หมายถึงอะไรบ้างคะ เวลาไปปฏิบัติธรรมในหน้าร้อน ภายในวัดอากาศอบอ้าวมาก ก่อนนอน จึงทาแป้งเย็นเพื่อให้คลายร้อน จะได้นอนหลับได้ จะผิดศีลไหมคะ

 

วันพระคือวันที่ตรงกับขึ้นหรือแรม 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ตามหลักการนับวันทางจันทรคติ วันก่อนที่จะถึงวันพระเราเรียกว่าวันโกน (เดือนหนึ่งพระจะโกนผมหนึ่งครั้งในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ แต่วันขึ้นหรือแรม 7 ค่ำก็อนุโลมเรียกว่าวันโกนได้เหมือนกัน)

สำหรับความเป็นมานั้น คัมภีร์เล่าไว้ว่า แต่เดิมพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดวันโกน – วันพระเอาไว้ว่าต้องเป็นวันนั้นวันนี้ แต่ต่อมาชาวพุทธในสมัยนั้นเห็นว่า ศาสนาอื่นที่ร่วมสมัยยังกำหนดวันนั้นวันนี้เป็นวันฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษเป็นครั้งคราว ทำไมพุทธศาสนาไม่มีวันเช่นนั้นบ้าง พระพุทธองค์ทรงอนุโลมตามความต้องการของชาวพุทธ จึงทรงกำหนดให้มีวันฟังธรรมพิเศษขึ้นมาสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เรียกวันดังกล่าวว่าเป็น วันธัมมัสสวนะ (วันฟังธรรม) ก่อนหน้าวันนั้นหนึ่งวันเรียกว่าวันโกน สำหรับผู้ถือเคร่งครัด วันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำก็จะเป็นวันสมาทานศีลพิเศษที่เรียกว่า “อุโบสถศีล” หรือ “ศีล 8” ด้วย ชุมชนไทยในต่างจังหวัดหรือวัดในกรุงเทพฯ บางแห่งก็ยังมีธรรมเนียมเช่นนี้อยู่

0
ที่บ้านเกิดของผู้เขียน (เชียงราย) ในสมัยก่อนนั้น ถ้าถึงวันโกนทุกครั้ง เวลาหัวค่ำพระจะตีกลอง เรียกว่ากลอง“บูชา” (กลองปู่จาตามสำเนียงล้านนา) ทำให้รู้ว่าวันพรุ่งนี้เป็นวันพระ เวลาถามกันว่าวันไหนใครทำอะไร (เช่น บวชพระขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน เกี่ยวข้าว) ก็จะไม่เน้นการถามวันที่ แต่จะถามว่าทำอะไรในวันขึ้นหรือแรมกี่ค่ำแทน แสดงว่าสมัยก่อนวันโกน – วันพระมีความสำคัญมาก แทบไม่ต่างกับวันที่ในปฏิทินในสมัยนี้เลยทีเดียว

สังคมไทยสมัยก่อนถือกันว่าวันโกน – วันพระเป็นวันหยุดราชการด้วย ต่อมาเมื่อรัฐบาลไทยใช้นโยบายตามแบบอย่างสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอย่างสหรัฐอเมริกา ก็จึงยกเลิกวันหยุดจากวันโกน – วันพระมาเป็นวันเสาร์วันอาทิตย์ตามแบบอย่างนานาอารยประเทศแทน

0
มีสิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษประกอบเรื่องวันโกน – วันพระอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ คุณค่าที่แท้จริงของวันโกน – วันพระมีอยู่อย่างไร ตามปกติเราทำงานกันทุกวันเพื่อทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่พอถึงวันโกน – วันพระทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นวันหยุด เพื่อให้พุทธศาสนิกชนหันมาให้เวลากับการถือศีล ปฏิบัติธรรม การถือหลักดังกล่าวนี้นับว่าเป็นวิธีสร้าง “สมดุลงานสมดุลชีวิต” ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ในหนึ่งสัปดาห์นั้นเราใช้เวลา 5 วันสำหรับการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อีก 2 วันสำหรับการเลี้ยงจิตวิญญาณให้งอกงาม ผลิบาน รู้จักหยุด รู้จักยอม รู้จักเย็น รู้จักยก (ใจให้สูง) เป็นต้น

0
การทำงาน 5 วัน มองในอีกมุมหนึ่งก็คือการใช้ชีวิตวิ่งตามกิเลส คือ โลภ โกรธ หลง การหยุดงาน 2 วันในวันโกน – วันพระก็คือการหันกลับมาฟื้นฟูจิตใจให้อยู่ในครรลองคลองธรรม เพื่อที่ว่าชีวิตจะได้ไม่วิ่งวุ่นไปข้างหน้าโดยขาดสติทุกคืนทุกวัน การมีวันโกน – วันพระขึ้นมาในพุทธศาสนาจึงนับว่าเป็นวิธีสร้างสมดุลให้กับชีวิตและจิตใจโดยแท้ แต่มาถึงทุกวันนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเราไม่ได้หยุดวันโกน – วันพระอีกต่อไปแล้ว เราทำงานกันทุกวัน โดยแทบหลงลืมไปด้วยซ้ำว่า วันไหนเป็นวันโกน วันไหนเป็นวันพระ ทุก ๆ วันของเรา คือวันทำงาน ทุก ๆ วันของเราคือวันของการทำมาหากิน เราแทบไม่มีวันสำหรับการ “ฟอก” และ “ฟู” จิตใจของเราเหลืออยู่อีกแล้ว การที่เราหันหลังให้มิติทางจิตวิญญาณเช่นนี้เองเป็นเหตุให้ชีวิตจิตใจของเราเสียสมดุล กายของเราได้รับการปรนเปรออย่างดีด้วยเครื่องอำนวยกิเลสสารพัด แต่จิตใจของเรากลับแห้งโหย ห่อเหี่ยว ขาดแคลนความสุข ต่ำทราม บางทีก็เลยไปถึงขั้นคับแคบเคียดแค้น มืดบอด ทำแต่งาน งาน งาน จนชีวิตผุพังบักโกรก งานสัมฤทธิ์ แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์อีกต่อไป

0
วันโกน – วันพระจึงมีความหมายมากกว่าวันหยุดประจำสัปดาห์ แท้ที่จริงแล้วคือวันยกระดับจิตวิญญาณหรือคือวันสร้างสมดุลงาน สมดุลชีวิตต่างหาก ส่วนศีลข้อที่ 7 ที่ว่า “เว้นการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ประดับร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา (ประทินผิว) และเครื่องย้อม”นั้น ถ้าว่าโดยเจตนารมณ์ของศีลข้อนี้ก็คือต้องการให้งดเว้นจากการประดับตกแต่งอันเป็นการยั่วยวนกวนกิเลส (ทั้งกิเลสของตัวเองและกิเลสที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น) ให้ฟูขึ้นมานั่นเอง การทาแป้งหอมโดยมีเจตนาเพื่อให้เย็นสบายในเวลานอนก็นับว่าเป็นการ “พะนอกิเลส” รูปแบบหนึ่ง จึงนับว่าไม่ควร แต่ถ้าทาเพราะบำบัดแก้ไขผดผื่น คัน ซึ่งมุ่งความสบายหายโรค ไม่ใช่เกิดจากการตามใจกิเลสก็สามารถทำได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าใช้เครื่องประทินผิวเพื่อสนองกิเลสทำไม่ได้ แต่ถ้าใช้เพื่อเป็นยาสามารถทำได้

0

Image by Sasin Tipchai from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

เหนือกว่าศีล 5 คือ กุศลกรรมบถ 10 โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.