งานอดิเรกของผมคือการ สะสมความดี ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือโฆษะกรุ๊ป
สิ่งที่ คุณ ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ให้ความสำคัญไม่แพ้การบริหารงานบริษัทในเครือโฆษะกรุ๊ป คือการเพิ่มเรื่องราว “ความดีที่งดงาม” ลงในสมุดที่เขาเรียกว่า “สมุด สะสมความดี ”
“เรื่องการสะสมความดี ครอบครัวผมทำมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่-เถ้าแก่โค้วซาแล้วครับ เมื่อ 85 ปีที่แล้ว ท่านกับเพื่อน ๆ อีก 2 คน ร่วมกันซื้อที่ดิน 8 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ตรงข้ามโรงแรมโฆษะ และริเริ่มก่อสร้างโรงเรียนฮั่วเคี้ยววิทยาลัยขึ้น เพื่อการศึกษาของลูกหลาน และเปิดการเรียนการสอนมาจนถึงปัจจุบัน โดยเก็บค่าเล่าเรียนไม่แพง บริหารงานแบบ Non-profit Organization โดยสมาคมศิษย์เก่าฯ”
คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือโฆษะกรุ๊ปคนปัจจุบัน ซึ่งได ้รับการปลูกฝังเรื่องการแบ่งปันจากบิดา มีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องนำพาโฆษะกรุ๊ปให้เป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อแผ่นดิน
“ผมถือว่ามรดกที่ผมได้รับจากคุณพ่อเชษฐ์ที่มีค่าที่สุดมากกว่าทรัพย์สินเงินทองคือ ‘กระดาษ Napkin 1 แผ่น’ วันหนึ่งผมนั่งอยู่กับคุณพ่อที่ห้องอาหารโรงแรมโฆษะ ท่านนั่งบนรถเข็นและพูดไม่ได้ เพราะถูกคุณหมอเจาะคอเนื่องจากเป็นมะเร็งกล่องเสียง ท่านหยิบกระดาษ Napkin มาเขียนข้อความให้ผม3 ข้อเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ดังนี้
พวกเราครอบครัวโฆษะ : ต้องมีความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ของในหลวง
พวกเราครอบครัวโฆษะ : พร้อมที่จะแบ่งปันความมั่งมีให้กับสังคมของเรา
พวกเราครอบครัวโฆษะ : ต้องดูแลความผาสุกของพนักงานของเราทุกคน”
คุณชาติชายเริ่มเปิดสมุดทีละหน้า เล่าแต่ละเหตุการณ์ด้วยรอยยิ้ม
“ปี พ.ศ. 2547 เกิดสึนามิที่ภูเก็ต ผมมีโอกาสลงไปช่วยคนที่ประสบภัยตั้งแต่วันเกิดเหตุ 26 ธันวาคมจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม มีนักศึกษาชาวสวีเดนคนหนึ่ง เธอรอดชีวิต แต่ครอบครัวคนไทยที่เธอมาอาศัยอยู่ด้วยหายสาบสูญ เธอช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำอะไรไม่ถูก ผมจึงช่วยโทรศัพท์ติดต่อพ่อแม่ของเธอที่อยู่ประเทศสวีเดน และพาเธอไปที่ศูนย์ช่วยเหลือเพื่อไปพบกับตัวแทนสถานทูต
“นอกจากนี้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิก็มีปัญหาด้านการขนส่ง คือรถบรรทุกสำหรับลำเลียงถุงพระราชทาน เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นรถของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีอยู่ 4 คันนั้นยังไม่พอ เพราะภัยพิบัติกินพื้นที่ถึง 6 จังหวัดที่ติดทะเลอันดามันและระยะทางไกลมาก ผู้จัดการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯโทร.มาปรึกษาผมว่าทำอย่างไรดี เพราะเป็นช่วงปลายปี รถรับจ้างไม่มีใครวิ่ง หยุดปีใหม่กันหมด ผมจึงบอกให้ลูกน้องเอารถหกล้อช่วงยาวของบริษัทเฟอร์โกอุตสาหกรรม จำกัด ของเรา 2 คันวิ่งจากกรุงเทพไปถึงจังหวัดสตูลตลอดช่วงเวลานั้น พอเสร็จงาน คุณโชดก วีรธรรม พูลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯในสมัยนั้นเห็นศักยภาพเรา จึงมีจดหมายเชิญให้เป็นกรรมการฝ่ายบรรเทาทุกข์ ผมดีใจมากที่ได้มีโอกาสถวายงานพระองค์ท่านทางอ้อม ผ่านมูลนิธิฯของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
อุทกภัยใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ยังจำได้ไม่ลืม
“ผมลงพื้นที่กับสภากาชาดไปที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งน้ำท่วมสูงมาก มองไปสุดสายตาก็เห็นแต่น้ำ ปัญหาที่เจอคือต้องขนน้ำไปให้ชาวบ้าน แต่เรือท้องแบนขนได้แค่ 20 แกลลอน เท่านั้น กว่าจะเดินทางถึงหมู่บ้านใช้เวลานานมากเกือบ 2 ชั่วโมง ผมจึงออกแบบแพชื่อว่า‘แพน้ำใจ’ เรามีโรงงานทำโฟม ผมจึงออกแบบให้ใช้โฟม 2 ก้อนใหญ่ แต่ใส่รถบรรทุกได้เจาะรูใส่ท่อแป๊บ ประกอบเป็นแพใหญ่สามารถขนน้ำได้กว่า 200 แกลลอน พอขนน้ำไปถึงชาวบ้านบอกว่าไม่ได้เห็นพื้นดินมา 1 เดือนแล้ว จึงขอให้ทิ้งแพไว้ให้ใช้ด้วย เพื่อขนถุงยังชีพและใช้มานั่งพูดคุยกันคลายเครียด
“พอน้ำมาถึงกรุงเทพฯและปริมณฑลน้ำท่วมขังนานเช่นกัน มีรายงานมาทางสภากาชาดว่ามีชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่งเครียดมาก จึงอยากให้ไปช่วย ผมจึงเชิญแม่ชีศันสนีย์ลงเรือไปช่วยรักษาใจให้กับผู้ประสบภัย ช่วยให้ชาวบ้านมีกำลังใจขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด”
กิจกรรมเพื่อสังคมอีกประเภทที่คุณชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ทำเป็นประจำคือ การจัดโครงการที่ชื่อว่า ธรรมะเยียวยาสังคม
“ทางโรงแรมโฆษะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำโครงการธรรมะเยียวยาสังคม โดยเปิดโอกาสให้คนเข้ามาฟังธรรมะฟรีทุกเดือน ผมเชื่อว่าธรรมะช่วยให้บ้านเมืองสงบสุขได้”
เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องที่เขาภาคภูมิใจมากอีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดทำโครงการคืนแผ่นดินสู่พระเจ้าแผ่นดิน
“เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ผมจึงจัดทำโครงการคืนแผ่นดินสู่พระเจ้าแผ่นดิน ด้วยการบริจาคที่ดิน 42 ไร่ ณ บ้านเหมือดแอ่อำเภอเมืองฯ จังหวัดขอนแก่น ให้มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำล้อมรอบ เพื่อทำเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร ผมดีใจมากที่มูลนิธิชัยพัฒนาได้พัฒนาที่ดิน
ผืนนี้ตามความตั้งใจให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร และผู้มาเยี่ยมชมงานจะได้เรียนรู้องค์ความรู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วนำไปพัฒนาอาชีพของตนเอง เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม”
ท้ายที่สุด เขาอยากเชิญชวนทุกคนให้หันมาสะสมความดีเป็นงานอดิเรกของครอบครัว เพื่อช่วยกันสร้างสังคมที่น่าอยู่แก่ลูกหลานในอนาคตต่อไป
เรื่อง:อุรัชษฎา ขุนขำ ภาพ:สรยุทธ พุ่มภักดี ผู้ช่วยช่างภาพ:ธนทัช หิรัญวรกุล
สไตลิสต์:ณัฏฐิตา เกษตระชนม์ ผู้ช่วยสไตลิสต์:จุฑามาศ ประดุงศิลป์
บทความน่าสนใจ
อเล็กซานเดอร์ เรนเดลล์ ทำความดีต้อง “ใช้ใจนำ” และ “ใช้ใจทำ”
ทำความดีต้องชื่นชม พนักงานเก็บขยะ น้ำใจงาม เก็บเงินส่งคืนเจ้าของ
พลังของการทำความดี…สุวรรณฉัตร พรหมชาติ เจ้าของฉายา แท็กซี่อุ้มบุญ
“อานุภาพแห่งความดี” นึกถึงเรื่องดีในยามใกล้ตาย บทความธรรมะ จาก พระไพศาล วิสาโล
ทำอย่างไรให้สมหวังดั่งขอพร…. บทความดีๆ จาก ท่านว.วชิรเมธี
ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี ของ ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด (ตอนที่ 1)
ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี ของ ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด (ตอนที่ 2)
ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด กับ ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี (ตอนจบ)
บุ๋ม ปนัดดา ทำความดีด้วยหัวใจ กับ ความสุขในการเป็นจิตอาสา
ทำงานเป็นหน้าที่ ความดีให้คนชม…นิตยสาร Secret