จัดบ้าน อย่างไร…ให้ได้ฝึกใจไปพร้อมทำบุญ?
หากคุณอยาก ทำบุญ แต่ไม่มีเวลาไปวัด หรืออยากฝึกกายฝนใจ แต่ไม่มีเวลาไปสถานปฏิบัติธรรม Secret ขอแนะนำวิธีทำบุญง่ายๆ เพียงแค่ จัดบ้าน เท่านั้น
การจัดบ้านที่ว่านี้ หมายถึงการนำ “ส่วนเกิน” ออกจากตัวและใจ เรื่องนี้อ่านแค่ทฤษฎีไม่ได้ต้องลงมือปฏิบัติ
1. เริ่มจากความตั้งใจ เราควรเห็นประโยชน์จากการเคลียร์ส่วนเกินออก และเห็นโทษของการเก็บสะสมไว้ เตือนตัวเองว่า การมีสัมภาระที่มากเกินไป มีแต่ทำให้บ้านรก สกปรกและสับสนในการหยิบมาใช้
2. จัดสรรเวลาที่เหมาะสม อย่างน้อยวันหยุด สัปดาห์ละ 1 วันเต็ม หรือหลังเลิกงาน จัดลำดับว่าจะเริ่มทำห้องไหนก่อน-หลัง แต่ละห้องใช้เวลากี่วัน (ถ้าทำทีเดียวทั้งบ้านจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ ยาก อาจจะทำให้ท้อเสียก่อน) จากนั้นเตรียมแยกประเภทสิ่งของ (เตรียมลังหรือภาชนะที่จะใส่ไว้เลย)
3. ถามตัวเองดีๆ ว่าจำเป็นจริงไหม ถามตัวเองว่าข้าวของที่เก็บไว้จำเป็นแค่ไหน จำเป็นจริงหรือไม่ ส่วนใหญ่เรามักจะบอกตัวเองว่า เดี๋ยวก็ได้ใช้ แต่ที่ผ่านมา เราแทบไม่ได้หยิบมันขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ลองถามตัวเองดูดีๆ ว่า ในปีที่ผ่านมาเราได้หยิบสิ่งของชิ้นนั้นๆ ขึ้นมาใช้บ้างหรือเปล่า ถ้าไม่ได้แตะต้องหรือนึกถึงมันเลย…ก็จัดการมันเถอะ
4. บริจาคได้หรือไม่ สิ่งของที่ยังอยู่ในสภาพดี เช่น เสื้อผ้า ตุ๊กตา กระเป๋า ถ้าเรานำไปบริจาคตามสถานสงเคราะห์หรือมูลนิธิช่วยคนยากไร้ เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน บ้านมิตรไมตรี ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นอย่างมาก หรือไม่ก็อาจนำไปให้ญาติหรือเพื่อนฝูงที่เห็นว่าน่าจะเหมาะสมกับเขาก็ได้บุญไม่ต่างกัน
5. นำไปขายได้หรือเปล่า ของที่ไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ เช่น เศษกระดาษ เศษเหล็ก หากยังเก็บไว้อาจเป็นขยะรกบ้านเปล่าๆ แนะนำให้ขายให้ร้านรับซื้อของเก่าจะดีกว่า
6. ทิ้งไปบ้างก็ดี ลองดูว่าเราเก็บขยะเหล่านี้ไว้ในบ้านนานแค่ไหน อะไรที่ไม่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวเราและต่อผู้คนรอบข้าง ก็ควรนำไปทิ้งบ้าง ถ้าจะให้ดีควรแยกประเภทของขยะด้วย เพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่เก็บขยะ ถือเป็นการทำบุญโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
หลังจากทำตาม 6 ข้อนี้แล้ว รับรองว่าคุณจะได้เห็น “กิเลส” ของตัวเองชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะสิ่งต่างๆ ที่เราเก็บสะสมไว้สามารถบอกได้ว่าเรากำลังยึดติดและแบกอะไรอยู่
เท่านี้ก็เท่ากับว่าได้ฝึกใจไปพร้อมๆ “ทำบุญบ้าน” แล้ว
รู้หรือไม่ ในพระไตรปิฎกก็สอนวิธีจัดบ้าน
“ถ้าบริเวณรก พึงกวาดบริเวณ. ถ้าโรงเก็บของรก พึงกวาดโรงเก็บของ. ถ้าโรงประชุมรก พึงกวาดโรงประชุม. ถ้าโรงไฟ (สำหรับต้มน้ำ เป็นต้น) รก พึงกวาดโรงไฟ. ถ้าวัจจกุฎี (ส้วม) รก พึงกวาดวัจจกุฎี. ถ้าน้ำดื่มไม่มี พึงตั้งน้ำดื่มไว้. ถ้าน้ำใช้ไม่มี พึงตั้งน้ำใช้. ถ้าน้ำในหม้อชำระไม่มีพึงตักน้ำใส่หม้อชำระ.”
พระวินัยปิฎก 7/236