มรณานุสติภาวนา (การระลึกถึงความตาย) – ท่าน ว.วชิรเมธี
ในคอร์สภาวนาที่ไร่เชิญตะวันทุกครั้ง มีกิจกรรมหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้ก็คือ การฝึกเจริญมรณานุสติหรือ “การระลึกถึงความตาย” มรณานุสติอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า“มรณัสสติ” ก็ได้ แปลว่า “การระลึกถึงความตาย” เหมือนกัน
ทำไมต้องระลึกถึงความตาย เพราะความตายเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา เมื่อระลึกว่าตนจะต้องตายในวันใดวันหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความไม่ประมาทหันกลับมาดำรงชีวิตอย่างมีสติ คนที่มักมากชอบสะสมสมบัติพัสถานกองเป็นภูเขาเลากาก็จะได้ตื่นขึ้นมาฉุกคิดว่า “เมื่อตายไปทรัพย์สักนิดก็หาติดตามไปได้ไม่” คนที่คิดได้อย่างนี้ก็จะปล่อยลงปลงได้ สะสมแต่เฉพาะสิ่งที่เป็นแก่นสารต่อการดำรงชีวิตจริง ๆ
คนส่วนใหญ่ไม่อยากระลึกถึงความตายเพราะถือกันว่าความตายเป็นเรื่องอัปมงคล ใครพูดเรื่องความตายขึ้นมา ก็มักจะถูกมองด้วยหางตาว่า ไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้อะไรควรไม่ควร ผลของการพยายามหลบเลี่ยงความตายดังกล่าวมานี้ จึงเมื่อวันหนึ่ง ตัวเองหรือคนใกล้ตัวกำลังเผชิญความตายขึ้นมาจริง ๆ จึงไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันได้อย่างไร พอมีใครตายขึ้นมา จึงตกอยู่ในความเสียใจ โศกเศร้า วางตน วางใจไม่ถูก อ่อนระโทยโหยไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ ครั้นไปงานศพก็ยังไม่ได้ปัญญา หากแต่ได้มาแค่การทำพิธีศพให้จบไป วัน ๆ มองไม่เห็นว่าศพสอนธรรมะอะไรบ้าง
การที่พระพุทธองค์ทรงถือว่าการเจริญมรณัสสติเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสติอีกรูปแบบหนึ่งนั้น ก็เพราะทรงมีพุทธประสงค์ให้คนส่วนใหญ่ “หายมัวเมาในชีวิต” เพราะในโลกนี้มีคนจำนวนมากใช้ชีวิตดังหนึ่งตัวเองจะไม่แก่ ไม่ตาย กิน ดื่ม เสพเที่ยว หลับ นอน อหังการ บ้ายศ ทรัพย์ อำนาจ ลืมตัว ลืมตน จนหลงลืมกุศลผลบุญ หลงลืมสัจธรรมของชีวิต ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างดังหนึ่งว่า สิ่งเหล่านั้นจะเป็นสมบัติอันเที่ยงแท้ของตน หรือดังหนึ่งตนจะสามารถขนเอาไปใช้ในสัมปรายภพได้ทั้งหมดทั้งสิ้น หารู้ไม่ว่า แท้ที่จริงทุกสิ่งที่ครอบครอง คือ ของขอยืมมาทั้งนั้น
พอสิ้นชีพวายชนม์ สรรพสิ่งบรรดามีต้องส่งคืนโลกนี้ทั้งหมดทั้งสิ้น สรรพสิ่งคือของใช้ ไม่มีอะไรเป็นของฉัน ความจริงเป็นดังนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ มักมาก โลภโมโทสัน อยากครอบครองทุกอย่างดังหนึ่งตัวเองจะมีอายุสัก 84,000 ปี ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงอยู่กันไม่ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านี้ก็น้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ทั้ง ๆ ที่ชีวิตแสนสั้น เวลาก็มีจำกัดความตายก็กำลังไล่กวดเข้ามาอยู่ทุกขณะจิต แต่จะมีกี่คนที่สำเหนียกรู้ถึงสัจธรรมเหล่านี้ มัวแต่ดำรงชีวิตด้วยความประมาท ครั้นความตายมาถึงเข้าจริง ๆ จึงร้องห่มร้องไห้แทบล้มประดาตาย ไม่อาจเตรียมใจ
ไม่อาจเตรียมตัว ไม่อาจเตรียมเสบียงสำหรับภพหน้า
คนทุกวันนี้มัวแต่ทำกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่ไม่สนใจการทำกรมธรรม์ประกันภพหน้า คือ สะสมกุศลผลบุญ พอความตายวูบผ่านมา จึงกลัวจนลนลาน แต่สำหรับท่านผู้เจริญมรณัสสติอยู่เสมอ เมื่อแว่วเสียงความตาย หรือเพียงได้มองเห็นสัญญาณแห่งความตาย เช่น ความเจ็บป่วยครั้งใหญ่ของตน ของคนใกล้ตัว หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็จะสามารถสำเหนียกรู้ถึงมัจจุมารที่ย่างกรายเข้ามาใกล้ตัวเองอยู่ทุกขณะ สามารถที่จะลุกขึ้นมาเป็นครูของตนเตือนตนให้ดำรงอยู่ในครรลองของความไม่ประมาทได้อย่างทันท่วงที
คนที่เจริญมรณานุสติภาวนาอยู่เสมอนั้น จะได้รับผลทันตา คือ ไม่ประหวั่นพรั่นพรึงต่อความตาย จะหันกลับมาใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า ไม่มีแม้สักวินาทีเดียวที่เขาจะพร่าผลาญเวลาไปอย่างไร้ประโยชน์ เขาจะถือว่าการฆ่าเวลาไปกับกิจกรรมอันไร้แก่นสารเป็นบาปชนิดหนึ่งซึ่งไม่พึงกระทำ ดังคำของพระบรมครูที่ว่า “ขโณ โว มาอุปจฺจคา” (อย่าปล่อยเวลาผ่านไปอย่างไร้ค่าแม้เพียงขณะจิตเดียว) เขาจะกลับมาดูแลตัวเองและบุคคลอันเป็นที่รักอย่างดีที่สุด โดยไม่ต้องรอให้เขาเหล่านั้นเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเสียก่อน พวกเขาจะรู้จักแสวงหาเวลาที่มีคุณค่าระหว่างกันและกันอย่างคุ้มค่าที่สุด ผิว์ความตายด่วนมาพรากคนอันเป็นที่รักจากไป ก็ไม่มีอะไรให้ต้องเสียใจ ในแง่พฤติกรรมระหว่างวัน คนที่หมั่นเจริญมรณัสสติ ก็จะเลือกสรรทำแต่พฤติกรรมเชิงคุณภาพล้วน ๆ
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราหมั่นระลึกถึงความตาย ไม่ใช่เพื่อจะให้กลัวตาย แต่เพื่อที่จะให้เรารู้จักที่จะดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างดีที่สุด หัวใจของการดำรงชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด ก็คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ไม่ประมาทในอะไรเล่า…
1. ไม่ประมาทในชีวิต ว่าจะยืนยาว
2. ไม่ประมาทในวัย ว่ายังหนุ่มสาว
3. ไม่ประมาทในสุขภาพ ว่ายังแข็งแรง
4. ไม่ประมาทเวลา ว่ายังมีอีกมาก
5. ไม่ประมาทในธรรม ว่าเอาไว้ก่อนวันหลังค่อยสนใจ
ใครก็ตามประมาทในเหตุทั้ง 5 ประการนี้ มักต้องมานั่งเสียใจทุกครั้ง เมื่อบุคคลอันเป็นที่รักต้องมาพลัดพรากจากไป หรือหากตัวเองจะต้องตายขึ้นมาบ้าง ก็มักจะบ่นเพ้อด้วยความเสียดายว่า “รู้อย่างนี้ทำดีไปตั้งนานแล้ว” ดังนั้น หากเราไม่อยากเสียใจ ไม่อยากพลาดวันเวลาสำคัญของชีวิตก็ควรหมั่นเจริญมรณัสสติอยู่เสมอ เพราะเมื่อเราใช้ชีวิตดังหนึ่งความตายกำลังกวักมือเรียกอยู่ข้างหน้าทุกขณะจิต เราจะตระหนักรู้ว่าชีวิตมีค่าแค่ไหน มารดร บิดา สามี ภรรยา ลูกแก้ว เมียขวัญสำคัญเพียงไร สุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นเพียงไร และทรัพย์สินศฤงคารอำนาจราชศักดิ์เป็นเพียงสิ่งสมมุติ มายาเพียงชั่วคราวอย่างไร ความตายจะเป็นดั่งระฆังแห่งสติที่เตือนให้เรากลับมาดำรงอยู่กับความจริงและอยู่กับสิ่งที่เป็นแก่นสาร ทิ้งสิ่งที่เป็นเปลือกหรือหัวโขนของชีวิตอย่างรู้เท่าทัน
เมื่ออยู่เบื้องหน้าของความตาย อะไร ๆในโลกก็กระจิริดไปเสียทั้งหมด เราระลึกถึงความตายเพื่อเข้าใกล้ชีวิตที่มีแก่นสารที่สุด ดำรงอยู่อย่างคนที่ตื่นตัวและตื่นรู้ที่สุด ฉะนั้น การระลึกถึงความตายแล้วเศร้าหมอง หดหู่ จึงไม่ใช่มรณานุสติที่ถูกต้อง ที่ถูกคือ พอระลึกถึงว่าตนจะต้องตายในวันหนึ่ง จิตจะตื่นขึ้นมาตระหนักรู้ถึงสัจธรรม แล้วเร่งรีบกระทำแต่กรรมดี ใช้ชีวิตนี้อย่างคุ้มค่าที่สุด นี่ต่างหากคือสัมมา-ทิฏฐิ (ความเข้าใจที่ถูกต้อง) และสัมมาปฏิบัติ (พฤติกรรมที่ถูกต้อง) อันเป็นผลโดยตรงจากการเจริญมรณานุสติ
อวสฺสํ มยา มริตพฺพํ
– วันหนึ่งเราจะต้องตาย
ชีวิตํ อนิจฺจํ
– ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง
มรณํ เม ชีวิตํ
– ความตายของเราเป็นของเที่ยง
ตระหนักรู้สัจธรรมอย่างนี้แล้ว พึงดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ความชั่วต้องรีบหนี ความดีต้องรีบทำ เพราะหากทำความดีช้าไป ผิว์ความตายมาพราก ก็จะมีแต่ความเศร้าและความเสียใจติดค้างไปตราบนานเท่านาน
แต่สำหรับบุคคลผู้ตื่นอยู่ หมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เนือง ๆ ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ครั้นความตายมาถึงเข้า ย่อมไม่วิโยคตกใจ พร้อมเผชิญต่อความตายดังหนึ่งคนงานยืนรอเวลาเลิกงานด้วยใจยินดีปรีดา มาถึงเมื่อไรก็พร้อมไปเมื่อนั้น
ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต
ภาพ : Foundry on pixabay
Q: มรณานุสติมีความหมายว่าอย่างไรคะพระอาจารย์