เดินทางสู่ก้นบึ้งของหัวใจไปกับ ท่านโกเอ็นก้า – มีเหตุผลมากมายทำให้หลายๆ คนเปรียบชีวิตกับการเดินทาง คนจำนวนมากใช้วันเกิด วันเรียนจบ วันเข้างานวันแรก หรือวันครบรอบแต่งงานเป็นเครื่องช่วยจำว่า ชีวิตได้ผ่านอะไรมาบ้าง คนส่วนใหญ่ท่องไปในหลายที่หลายสถาน ทว่ามีใครบ้างที่เคยทดลองเดินทางเข้ามาสู่โลกภายในใจของตนเอง
เดินทางไกล (แต่ไม่อยากหลง) จำเป็นต้องมีไกด์ฉันใด การเดินทางกลับสู่ภายในซึ่งเป็นทางที่ไม่คุ้นเคยก็ควรมีผู้นำทางฉันนั้น และผู้นำทางที่ดีที่สุดของโลกคนหนึ่งก็คือท่านโกเอ็นก้า ผู้ซึ่งสามารถนำทางให้คนจำนวนนับแสนนับล้านเดินทางกลับสู่ใจของตนเองได้
ท่านโกเอ็นก้า มีชื่อเดิมว่า สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (Satya Narayan Goenka) ท่านเป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เมื่อปี ค.ศ. 1924 ครอบครัวของท่านมีฐานะมั่งคั่งจากการทำธุรกิจหลายประเภท
มิสเตอร์โกเอ็นก้าได้รับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัวและประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานหอการค้าของเมืองย่างกุ้ง (ชื่อเมืองหลวงเดิมของพม่า) ขณะอายุเพียง 30 ปี และเป็นผู้นำทางสังคมที่ได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง
จะว่าไปแล้วนักธุรกิจหนุ่มผู้นี้น่าจะเข้าเส้นชัยของชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น ทว่าในใจของเขากลับเต็มไปด้วยความทุกข์และไกลห่างจากความสันติสุขมาก เพราะเขาป่วยเป็นโรคเครียดและไมเกรนชนิดรุนแรงที่สุด คือมีอาการปวดศีรษะจนถึงขั้นขยับตัวไม่ได้ แม้แต่แพทย์ที่เก่งกาจระดับโลกก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ มิสเตอร์โกเอ็นก้าจำต้องกลายเป็นคนติดยาแก้ปวด มีสุขภาพทรุดโทรม อารมณ์แปรปรวน และมักสร้างความทุกข์ทรมานให้คนใกล้ชิดเสมอ
ในช่วงเวลานี้เองเขาได้พบกับอาจารย์ อูบาขิ่น (Sayagyi U Ba Khin) อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลางและวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงของพม่า ครั้งแรกที่พบกัน มิสเตอร์โกเอ็นก้ายังไม่ได้ตกลงใจว่าจะเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนากับอาจารย์ท่านนี้หรือไม่ ทว่าหลังจากคุยกันเพียงไม่กี่นาที เขาก็รู้สึกประทับใจมาก เพราะอาจารย์อูบาขิ่นไม่ได้สอนเรื่องที่ซับซ้อนหรือมหัศจรรย์แต่อย่างใด แต่ท่านสอนเรื่อง “ศีล” ซึ่งตรงกับหลักศีลธรรมของชาวโลกอยู่แล้ว กับเรื่อง “สมาธิ” ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
นอกจากสองเรื่องนี้แล้ว อาจารย์อูบาขิ่นยังกล่าวถึงหัวใจของสิ่งที่ท่านจะสอนด้วยว่า
“การเรียนสมาธิเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้จิตใจใสสะอาดขึ้นได้ เพราะมันเป็นแค่การชำระความสกปรกที่ผิวหน้าเท่านั้น ลึกๆ แล้วใจเรามีความซับซ้อน มีรูปแบบ และไม่อาจหยั่งถึงได้ด้วยสมาธิเท่านั้น ผมจะสอนให้คุณเดินทางไปสู่ก้นบึ้งของใจ ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการชำระล้างจิตใจที่แท้จริง เพราะใจนั่นเองคือที่เก็บกักความทุกข์ เราต้องไปให้ถึงตรงนั้นจึงจะสามารถทำให้ใจเราใสสะอาดได้…ผมจะสอนคุณเพียงสามสิ่ง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่มีอะไรอื่นนอกจากนี้”
ด้วยความประทับใจในคำตอบของอาจารย์อูบาขิ่น มิสเตอร์โกเอ็นก้าจึงเข้าร่วมการปฏิบัติธรรมหลักสูตรเบื้องต้น 10 วันกับท่านทันที แม้วิปัสสนาจะไม่มีจุดประสงค์เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แต่เขาก็หายขาดจากโรคเครียดและไมเกรนได้ หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมอบรมอย่างต่อเนื่องมาถึง 14 ปี และได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์เป็นอย่างสูง ถึงตอนนี้ผู้คนไม่ได้รู้จักเขาในฐานะนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จมากเท่ากับการเป็นวิปัสสนาจารย์ผู้ควรค่าแก่การเคารพนับถือ และเรียกท่านว่าอาจารย์โกเอ็นก้าหรือท่านโกเอ็นก้าตั้งแต่นั้นมา
การเดินทางจะรื่นรมย์และราบรื่นเมื่อมีเพื่อนคู่ใจฉันใด การปฏิบัติวิปัสสนาจะสำเร็จและงอกงามก็ต่อเมื่อมีกัลยาณมิตรร่วมทางด้วยฉันนั้น ท่านโกเอ็นก้าจึงไม่ได้หันหน้าเข้าทางธรรมเพียงคนเดียว แต่ท่านได้ชวนภรรยาและสมาชิกในครอบครัวให้มาร่วมปฏิบัติวิปัสสนาด้วย ภรรยาของท่านโกเอ็นก้าเป็นศิษย์เอกที่อาจารย์อูบาขิ่นไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยสอนและเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของท่านโกเอ็นก้า คนทั่วไปเรียกภรรยาของท่านว่า มาตาจิ (Mataji) แปลว่า คุณแม่ผู้น่าเคารพนับถือ
ครั้นถึงปี ค.ศ. 1969 อาจารย์อูบาขิ่นก็ได้มอบหมายให้ท่านโกเอ็นก้าเดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย เพื่อก่อตั้งศูนย์วิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่นั่น ท่านโกเอ็นก้าจึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อินเดียและวางมือจากการทำธุรกิจ ท่านปล่อยให้ลูกชายทั้งหกคนรับช่วงต่อเพื่อทำงานทางธรรมอย่างเต็มตัว
ท่านได้ก่อตั้ง สถาบันวิปัสสนานานาชาติธรรมคีรี ขึ้นเป็นแห่งแรกในปี ค.ศ. 1974 จนถึงวันนี้มีศูนย์วิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านโกเอ็นก้ามากกว่า 80 แห่งกระจายอยู่ทุกทวีปทั่วโลก วิธีการสอนใช้การเปิดวิดีโอและมีอาจารย์ผู้ช่วยสอนคอยให้คำแนะนำ (ประเทศไทยมีศูนย์ที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง ติดตามรายละเอียดได้จาก www.thai.dhamma.org)
คอร์สวิปัสสนากรรมฐานตามแนวของท่านโกเอ็นก้ามีจุดเด่นคือ “การดูเวทนา” เป็นหลัก เริ่มแรกท่านจะให้ดูลมหายใจและเน้นการนั่งสมาธิ พอถึงวันที่ 4 การฝึกจะเข้มข้นขึ้น เพราะหลักสูตรระบุให้ผู้ปฏิบัตินั่งสมาธิโดยไม่เปลี่ยนท่าเลยตลอดหนึ่งชั่วโมง และให้พิจารณาความเจ็บปวดหรือเวทนาที่เกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยละเอียด เช่น เริ่มดูจากศีรษะ ไหล่ แขนท่อนบน ข้อศอก แขนท่อนล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ ปลายนิ้ว… ทำอย่างนี้ไปจนครบทุกส่วน พิจารณารอบแล้วรอบเล่าเพื่อกระตุ้นให้ความรู้สึกตัวว่องไวขึ้น
การนั่งสมาธินานๆ ย่อมทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ซึ่งท่านโกเอ็นก้าอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“ขณะที่เราปฏิบัติวิปัสสนาและเฝ้าดูลมหายใจ ใจก็จะเริ่มท่องเที่ยวไปในอดีตบ้าง ในอนาคตบ้าง เราจะสังเกตเห็นลมหายใจที่ไม่เป็นธรรมชาติ เช่น ลมอาจแรงขึ้นหรือเร็วขึ้นเล็กน้อย ครั้นเมื่อความบีบคั้นหรือความหมองมัวในใจสลายไป ลมหายใจก็จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง นั่นหมายความว่าลมหายใจมีความเชื่อมโยงกับความคิดและจิตใจของเราอย่างใกล้ชิด”
หากฝึกดูลมหายใจแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ก็จะทำให้ได้เรียนรู้ว่าอารมณ์ทุกชนิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถสลายหายไปเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไร และสิ่งที่ตามมาก็คือ เราจะมองเห็นความไม่แน่นอนของสรรพสิ่ง รู้ว่าความทุกข์และความสุขของคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือมีฐานะเช่นไรก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อนั้นความรู้สึกแบ่งแยกจะลดลงและจิตใจจะค่อยๆ บริสุทธิ์ขึ้นตามลำดับ
เส้นทางสู่จิตใจที่ใสสะอาดนี้มีชื่อว่า “วิปัสสนา” ซึ่งเป็นทางที่ท่านโกเอ็นก้าได้เดินผ่านมาแล้ว และแน่นอนว่าเส้นทางสายนี้อาจไม่สามารถทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จได้เท่ากัน ทว่าก็เหมือนกับทุกๆ เรื่องที่ผลลัพธ์ของการลงมือไม่ได้อยู่ที่ผู้นำทาง แต่ขึ้นอยู่กับผู้เดินทางต่างหาก
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ tricycle.org