ความเป็นจริง

ถ้าโลกมันโหดร้าย เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ใน ” ความเป็นจริง “

ถ้าโลกมันโหดร้าย เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ใน ” ความเป็นจริง “

บทความเรื่อง ” อยู่กับ ความเป็นจริง ” โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอยู่กับความเป็นจริง แต่ชอบอยู่กับความปรารถนาหรือความต้องการของตนเอง พฤติกรรมดังกล่าวจึงนำความทุกข์มาให้โดยไม่รู้ตัว

การอยู่กับความปรารถนาหรือความต้องการคืออะไร

แต่ละวันเรามักจะคิดอยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ มากมายต่างๆ นานา จนเป็นความเคยชินหรือเป็นพฤติกรรมของจิต เช่น เมื่อขับรถหรือนั่งรถไปบนท้องถนนก็ไม่อยากให้รถติด ไม่อยากเจอสัญญาณไฟแดง ไม่อยากให้รถคันอื่นมาตัดหน้า อยากให้ถึงที่หมายเร็วๆ เหล่านี้ล้วนแต่อยู่กับความต้องการของตนเองทั้งสิ้น

ครั้นเมื่อเจอรถติด เจอสัญญาณไฟแดง เจอรถคันอื่นปาดหน้า ไปถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด ก็เกิดความรู้สึกหงุดหงิด เครียด หรือโกรธ อาการเหล่านี้คือความทุกข์

หากอยู่กับความเป็นจริงจะอยู่อย่างไร

อยู่อย่างรู้เห็นตามความเป็นจริง นั่นคือเมื่อเจอรถติดก็รู้และยอมรับว่ารถติด ต่อให้คิดอย่างไรรถก็ยังติดตามเหตุของมัน เมื่อเจอสัญญาณไฟแดง หากยังไม่เปลี่ยนเป็นไฟเขียว ต่อให้คิดจนตายก็ยังติดไฟแดงอยู่นั่นเอง เมื่อมีรถคันอื่นปาดหน้า ก็รู้ว่าเหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ต่อให้โกรธหรือด่าแช่งชักหักกระดูกผู้ขับรถปาดหน้าอย่างไร ก็แก้ไขเหตุการณ์นั้นไม่ได้ เมื่อรถติดไปไม่ทันเวลา ก็ยอมรับความเป็นจริงว่าไปไม่ทันเวลา จะคิดขุ่นเคืองโทษสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ไปไม่ทันเวลาอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้

การอยู่กับความเป็นจริงและยอมรับความเป็นจริง จึงไม่ทำให้เครียดไม่ต้องทุกข์

แต่มิใช่ว่าจะต้องยอมจำนนต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากรู้ว่าเส้นทางที่จะไปรถติด ก็เผื่อเวลาเดินทางให้มากขึ้นหรือไปเส้นทางอื่นที่รถไม่ติด แต่ถ้ารถยังติดก็ยอมรับความเป็นจริงและหาวิธีปรับเปลี่ยนแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ

มีความต้องการมากมายหลายอย่างที่คนปรารถนา แต่เป็นไปไม่ได้ เช่นการอยู่ร่วมกันในครอบครัวหรือที่ทำงาน ซึ่งมักจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่เสมอ ทำให้คู่กรณีรู้สึกขัดใจ บางครั้งก็ขยายเป็นความขัดแย้งหรือโต้แย้งปะทะคารมกัน กลายเป็นความเครียด ความทุกข์

ในที่ทำงานยังดีหน่อยที่มีสถานะเป็นองค์กร มีสายการบังคับบัญชา และมีระเบียบวินัยเป็นตัวกำหนด แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน ผู้ใต้บังคับบัญชาจะยอมผู้บังคับบัญชา หรือหากอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกัน ก็จะมีความเกรงใจกัน ยอมรับความเห็นที่แตกต่างโดยไม่แตกแยก

ส่วนในครอบครัวนั้นหาได้เป็นดังเช่นในองค์กรไม่ ความใกล้ชิดและชินชาในพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวทำให้ขาดความเกรงใจกัน จึงเกิดการโต้แย้ง ขัดคอ หรือถกเถียงกันเป็นประจำ เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกัน หรือฝ่ายหนึ่งไม่ได้ดังใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสามีกับภรรยา พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง เป็นต้น ซึ่งมักจะมีปากเสียงกันอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องน่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย และบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ความขัดใจกันดังกล่าวมักจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าว จนกลายเป็นนิสัยของคนในครอบครัว

สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งคือ แต่ละคนอยากให้คนอื่นคิดเหมือนตน อยากให้ได้ดังใจตน ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อต่างคนต่างใจ ต่างความต้องการ แม้ตนก็ยังบังคับใจตนเองไม่ได้ แล้วจะบังคับผู้อื่นให้ได้ดังใจได้อย่างไร

ความต้องการของคนทั่วไปคือ อยากให้สิ่งต่างๆ ที่ตนปรารถนาได้ดังใจและอยากให้สิ่งที่ตนพึงพอใจ สิ่งที่ได้ มี เป็น อยู่ในสถานะเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ตนไม่ปรารถนา ซึ่งเป็นความต้องการที่ฝืนธรรมชาติ

หากทุกคนได้สิ่งต่างๆ ตามที่ตนปรารถนาแล้ว จะมีแต่คนรวย คนสวยคนดี คนมีความสำเร็จ มีอายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ชีวิตมีแต่ความสุข ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย…เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ คือ สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (อนิจจัง) ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เพราะมีความขัดแย้งกดดัน (ทุกขัง)ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนาได้ เพราะไม่ใช่เป็นตัวตนและเป็นของใครจริง (อนัตตา) ความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นของของคนนั้น เป็นตามที่ชาวโลกบัญญัติกันขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ

เมื่อกฎธรรมชาติเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงมีชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน และไม่สามารถบังคับสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังใจ

อาจมีผู้แย้งว่า มีตั้งหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่ตนได้ดังปรารถนา และบังคับบางสิ่งบางอย่างได้ดังใจ

ความเห็นเช่นนี้มีส่วนถูกและผิด ทั้งนี้เพราะทุกชีวิตมิได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง หากแต่มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และทุกสรรพสิ่งต่างก็มีความเกิดดับไม่คงที่เป็นพลวัต (dynamic)

หากการกระทำและความต้องการใดๆ ของคน สัตว์ไปสอดคล้องกับเหตุปัจจัยภายนอกที่มีส่วนสัมพันธ์ด้วย การกระทำนั้นก็เป็นไปตามที่ผู้กระทำสมหวังหรือเกินความคาดหวัง แต่หากการกระทำหรือความต้องการนั้นขัดแย้งหรือไม่เป็นไปในแนวทางของเหตุปัจจัยภายนอกการกระทำนั้นก็มีอุปสรรค ยากที่จะสมหวัง

เช่น การกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น ก็จะมีผู้สนับสนุน ช่วยให้การกระทำนั้นได้รับความสำเร็จด้วยดี หรือได้ผลเกินกว่าที่คาดหวัง แต่ถ้าเป็นโทษเป็นภัยต่อผู้อื่น ก็จะมีผู้ต่อต้าน ทำให้มีอุปสรรค ยากที่จะได้รับความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะสมหวัง (สุข) หรือผิดหวัง(ทุกข์) แต่สิ่งดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยไม่คงที่ ด้วยเหตุนี้สุข – ทุกข์จึงเป็นของชั่วคราว ยามมีสุขก็อย่าประมาท ครั้นมีทุกข์ก็อย่าท้อถอย เพราะสิ่งที่ได้มี เป็น ล้วนเป็นของชั่วคราว

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ และแปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

เมื่อเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้ จงอยู่กับความเป็นจริงและพยายามสร้างเหตุปัจจัยภายในตัวเราในทางที่ดี ให้กำลังความดีของเรามีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญกับตัวแปรต่างๆ ที่เป็นพลังภายนอก ซึ่งเราไม่สามารถบังคับได้โดยไม่หวั่นไหว ขณะเดียวกันก็ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่ยอมจำนนที่จะแก้ไขและพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น

มีแต่พลังของความดีเท่านั้น ที่จะเกื้อกูลหนุนส่งให้ผู้กระทำมีความสุข ความสำเร็จที่ยั่งยืน

 

ขอเจริญพร

พระชาญชัย อธิปญฺโญ ร่มอารามธรรมสถาน

ที่มา : นิตยสารซีเคร็ต

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ 

ขอบคุณการพลัดพราก ที่ทำให้เห็นความจริงของชีวิตได้เร็วกว่าใคร

อุดมการณ์กับความจริงเป็นสิ่งสวนทาง…จริงหรือ?

ซีเคร็ตชวนอ่าน : ทำไมพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความจริง

จริงตามความเป็นจริง  ฝึกยอมรับความจริงตามวิถีชาวพุทธ

ความจริงเกี่ยวกับ บทสวดโพชฌังคปริตร คาถาที่ไม่เหมาะกับการสวด !

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.