จริงตามความเป็นจริง

“จริงตามความเป็นจริง” ฝึกยอมรับความจริงตามวิถีชาวพุทธ

” จริงตามความเป็นจริง ” ฝึกยอมรับความจริงตามวิถีชาวพุทธ

บทความเรื่อง จริงตามความเป็นจริง เขียนโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

มีความจริงสองประเภทในโลกมนุษย์นี้

ความจริงประเภทแรกคือ ความจริงที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาหรือบัญญัติขึ้นมา เรียกว่า จริงตามสมมุติ ความจริงประเภทนี้บัญญัติโดยคนในสังคมหนึ่งหรือประชาคมหนึ่ง ซึ่งเห็นพ้องต้องกัน บัญญัติสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเราอาจจะพิจารณาความเป็นจริงดังกล่าวได้ดังนี้

ด้านสังคม ได้แก่ การกำหนดภาษาขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารกัน การนิยามความหมายหรือตั้งชื่อสิ่งทั้งหลาย การให้คุณค่าสิ่งต่าง ๆ เช่น ดี – เลว ถูก – แพง การกำหนดเป็นค่านิยม ประเพณีวัฒนธรรม เพื่อให้สังคมยึดถือปฏิบัติ

ด้านเศรษฐกิจ กำหนดเงินตรา ราคาสิ่งของและบริการ ระบบเศรษฐกิจ สถานะทางเศรษฐกิจของคนในสังคม

ด้านการเมือง การบริหาร กำหนดเป็นระบอบการปกครอง กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กฎ กติกา

ด้านปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิต กำหนดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ฯลฯ

ด้านปัจจัยเพื่อความบันเทิงสุนทรีย์ สร้างสรรค์ดนตรี กีฬา การละเล่น วรรณกรรม ศิลปกรรม จิตรกรรม

สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้นมาดังกล่าว มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในประเทศชาติ หรือแม้แต่ในประชาคมโลก เป็นผลให้ผู้คนในสังคมต้องปฏิบัติตามสมมุติบัญญัติของสิ่งที่กำหนดขึ้นมาใช้ในสังคมนั้น ๆ เช่น ต้องใช้ภาษาพูดตามท้องถิ่น ต้องใช้เงินตราตามที่ประเทศชาติกำหนด ต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณี ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่ตนเข้าไปอยู่ร่วมในองค์กร สังคม หรือประเทศชาตินั้น ๆ

สมมุติบัญญัติของชาวโลกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ตามประเทศชาติ หาได้เป็นของสากลที่ใช้ได้กับทุกคนไม่ นอกจากนี้หลายอย่างนำมาซึ่งความขัดแย้งกัน เช่น ความดี – ความเลว ความถูก – ความผิด อุดมการณ์ที่ต่างกันในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา ความขัดแย้งดังกล่าวอาจเกิดขึ้นทั้งในระหว่างบุคคลและในระดับประเทศชาติ เช่น สงครามลัทธิเศรษฐกิจ (เสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์) สงครามศาสนา (คริสต์กับอิสลาม)

สมมุติของชาวโลกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย เป็นไปตามกระแสนิยม หรือเป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมา จึงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ตายตัว

สมมุติของชาวโลกมีอิทธิพลทำให้คนลุ่มหลง อยากได้ อยากมี อยากเป็น ตามค่านิยมของชาวโลก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทำให้เกิดการแก่งแย่ง แข่งขัน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ เมื่อได้มาแล้วก็ยึดติด พยายามปกป้องด้วยความหวงแหน ครั้นเสียไปก็ทุกข์ เพราะไม่เข้าใจความเป็นจริงตาม กฎธรรมชาติ หรือ กระแสธรรม

ยังมีความเป็นจริงอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าความเป็นจริงตามสมมุติบัญญัติของชาวโลกมากนัก ความเป็นจริงดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาตินับแต่บรรพกาล เป็นความจริงที่ครอบงำทุกสรรพสิ่งเอาไว้ตลอดเวลา ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิตล้วนตกอยู่ใต้กฎความเป็นจริงนี้ ซึ่งมีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน คือ

  1. สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนไปไม่คงที่ ล้วนเป็นของชั่วคราว สภาวะดังกล่าวเรียกว่า อนิจจัง
  2. สิ่งทั้งหลายมีความขัดแย้ง กดดันกัน จึงมีสภาพที่กร่อนโทรม ยากที่จะคงทนอยู่ในสภาพเดิมได้ สภาวะเช่นนี้เรียกว่า ทุกขัง
  3. สิ่งทั้งหลายไม่สามารถบังคับได้ดังปรารถนา ว่าทั้งนี้เพราะสิ่งทั้งหลายมิได้เป็นของใครจริง มิใช่ ตัวตน และ ของตน ที่เห็นว่าเป็น ตัวกู และ ของของกู นั้น เห็นตามสมมุติของชาวโลก สภาวะเช่นนี้เรียกว่า อนัตตา

ขอให้พิจารณาดูว่า ความทุกข์ของคนในโลกนี้ทุกข์เพราะอะไร

คำตอบก็คือ ทุกข์เพราะไม่ได้อย่างใจ หรือเพราะสิ่งทั้งหลายเป็น อนัตตา หากทุกคนสามารถบังคับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างใจแล้ว ชีวิตนี้คงมีแต่ความสุขหรือบรมสุข จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะจะมีแต่คนรูปร่างสวยงาม แข็งแรง ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีทรัพย์สินมั่งคั่ง มีชีวิตที่สุขสบาย อยากได้สิ่งใดก็สำเร็จในสิ่งนั้น

แต่โดยความเป็นจริงแล้วสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา เราจึงไม่สามารถบังคับทุกสิ่งได้ตามปรารถนา อย่างไรก็ตาม แม้สรรพสิ่งจะเป็นอนัตตา ก็มิได้หมายความว่าชีวิตของเราจะไม่ได้สิ่งที่สมหวังตลอดไป บางครั้งเราก็สมหวัง บางคราวเราก็ผิดหวัง เหตุที่เราสมหวังเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอก เช่น มีบุคคลหรือสิ่งอื่นให้การสนับสนุนเรา ส่วนที่เราผิดหวังเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกมาเป็นปฏิปักษ์กับการกระทำของเรา เราไม่สามารถบังคับเหตุปัจจัยภายนอกได้ จึงควรทำแต่สิ่งดีๆ ให้เป็นคุณประโยชน์ทั้งต่อตัวเรา และเกื้อกูลต่อผู้อื่นหรือสิ่งที่เราสัมพันธ์ด้วย การกระทำเช่นนี้อาจจะสร้างเหตุปัจจัยให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นตอบสนองเราในทางที่ดีบ้าง ไม่มากก็น้อย

เมื่อความเป็นจริงทางธรรมส่งกระแสครอบงำสรรพสิ่งทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องเรียนรู้ความเป็นจริงทางธรรม เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมของเราให้สอดรับกับความเป็นจริงทางธรรม การยอมรับความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติดังกล่าว เท่ากับเป็นการฝึกใจให้อยู่กับความเป็นจริง และพร้อมที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยไม่หวั่นไหว เมื่อได้มาก็ไม่ประมาท เมื่อเสียไปก็ไม่ทุกข์ท้อ เพราะเข้าใจว่า ธรรมชาติของมันเป็นเช่นนั้นเอง

ส่วนความเป็นจริงทางโลกที่เขาสมมุติบัญญัติกันขึ้นมา เราก็ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตาม ให้เหมาะสมกับหน้าที่และสถานะที่เป็นอยู่ในสังคม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องปรับแต่งการแสดงออกทางกาย วาจา ให้สอดคล้องกับสมมุติของโลก ส่วนทางใจนั้น เราสงวนไว้ให้กับความเป็นจริงทางธรรม เพื่อรักษาใจไม่หวั่นไหวไปตามกระแสโลกและไม่ให้มีทุกข์ เพื่อเผชิญกับสิ่งต่างๆ ทั้งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี

ทางโลกก็รู้และอยู่กับโลกให้ได้ โดยมีความสำเร็จตามสมมุติของโลก

ทางธรรมก็ต้องรู้ นำมาปฏิบัติ เพื่อฝึกใจของเราให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่หวั่นไหวหลงระเริงไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไม่ทุกข์ระทมเมื่อต้องเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา มีทุกข์ เพราะเข้าใจว่า โลกธรรมทั้ง 8 นี้ ทุก ๆ ชีวิตต้องพบ ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

อยู่ให้เหมือนลิ้นงูในปากงู โดยไม่โดนเขี้ยวพิษงู

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.