รวม 3 เรื่องเล่าในหลวง ภาพจำที่องคมนตรีมีต่อ ” ในหลวง “
เรื่องเล่าในหลวง พระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมพระวิริยอุตสาหะ
ในหลวงเคยตรัสกับคนที่มาถวายงานกับท่านว่า ‘ทำงานกับฉันฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น’ ซึ่งหมายความว่า ทุกคนต้องทำเพื่อคนอื่นตามในหลวงไปด้วย
มีคนอีกมากที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งและไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เลย ในหลวงจึงทรงพยายามแก้ปัญหาด้วยการริเริ่มโครงการเรื่องน้ำตามที่แห้งแล้งต่าง ๆ เช่น โครงการฝนหลวง เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูก การรักษาต้นน้ำด้วยการปลูกป่า และโครงการชลประทานต่าง ๆ
พระองค์ต้องทรงตรากตรำงานหนักตลอดเวลา พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ ซึ่งเป็นองคมนตรีท่านหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลังจากเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรที่จังหวัดสกลนคร ทรงทราบว่า แม้จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่แล้ว แต่ราษฎรก็ยังมีปัญหาน้ำไม่พอใช้จึงมีพระราชดำริว่า อ่างนั้นถ้ายกประตูน้ำขึ้นอีกเล็กน้อยก็จะเก็บน้ำเพิ่มได้อีก แต่ก็มีปัญหาว่าอาจทำให้น้ำท่วมเข้าไปในพื้นที่ที่ราษฎรรุกเข้าไปปลูกพืชทำไร่อยู่โดยพลการ ซึ่งตามกฎแล้วกรณีอย่างนี้ เจ้าหน้าที่สามารถไล่ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ได้ทันที
ในหลวงประทับที่พื้น แล้วทรงอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นาน ตอนแรกชาวบ้านไม่เข้าใจ พระองค์ก็ยังไม่เสด็จฯ กลับ จนเย็นย่ำพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว มองอะไรแทบไม่เห็น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องนำเทียนไขมาจุดพระองค์ทรงเจรจากับชาวบ้านต่อไปอีกนานจนหมดเทียนเป็นเล่ม ๆ เมื่อเข้าใจกันได้ดีแล้ว จึงได้เสด็จฯกลับ
ด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระขันติธรรมของพระองค์นี่เอง ที่ทำให้พระราชดำริครั้งนั้นลุล่วงไปด้วยดี เช่นเดียวกับพระราชกรณียกิจอื่น ๆ
เรื่องเล่าในหลวง พระมหากษัตริย์ผู้มีแต่ “ให้”
พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ คนที่ยืนข้าง ๆ ในหลวงในรูป เป็นองคมนตรีอีกคนหนึ่ง ท่านบอกว่า ในหลวงทรงเป็นยอดกษัตริย์จอมทัพไทย
พลเอก พิจิตร เล่าว่า เมื่อ 50 ปีก่อนเมืองไทยมีเหตุต้องสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แถบบริเวณภาคเหนือกับภาคอีสาน
องคมนตรีเล่าว่า แม้สถานการณ์จะเต็มไปด้วยอันตราย แต่ในหลวงกับพระราชินีก็ยังทรงห่วงใยราษฎร ทรงอุทิศพระวรกายโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทรงตรากตรำเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พวกเขา และพระราชทานโครงการตามแนวพระราชดำริมากมายเพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี และมีพระราชดำรัสว่า ‘หากปากท้องของเขาอิ่ม เขาก็จะไม่เป็นคอมมิวนิสต์’
นี่เองคือวิธีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ของพระองค์ท่าน พระองค์ทรงรู้ดีว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ใช่แค่การสู้รบให้ชนะจนข้าศึกตายหมด เพราะสุดท้ายแล้วพระเดชก็ไม่อาจแก้ไขไปถึงจิตใจคนได้ ดังนั้นจึงต้องทรงใช้พระคุณ ใช้การให้จากใจ ถึงจะชนะใจคนได้ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเข็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เหตุการณ์ต่อจากนั้นเป็นจริงดังที่ในหลวงตรัสไว้ทุกอย่าง คือผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ซึ่งปักหลักอยู่ที่เขาค้อยอมแพ้ ทีมงานของในหลวงจึงเข้าไปพัฒนาที่นั่น จนเขาค้อซึ่งสมัยก่อนเป็นสนามรบ ตอนนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามไปแล้ว
เรื่องเล่าในหลวง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รัก
ภาพที่คนไทยเห็นกันจนชินตาคือ ภาพที่ในหลวงประทับบนพื้นดินเพื่อมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนทั่วไปโดยไม่ถือพระองค์ อย่างเรื่อง “วาเด็ง” ที่ คุณสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรีเล่าว่า หลังจากที่ท่านรับตำแหน่ง ในหลวงกับพระราชินีก็เสด็จฯ ไปเปิดโครงการชลประทานนราธิวาส ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2535 พอทรงรู้ว่าราษฎรที่ทำมาหากินอยู่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่พรุแฆแฆ จังหวัดปัตตานี มีปัญหาเรื่องขาดนํ้าในหน้าแล้ง พระองค์จึงทรงอยากเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรปากคลองนํ้าจืดเพื่อสร้างอาคารเก็บนํ้าจืดไว้ให้ราษฎรในหน้าแล้ง แต่ทางที่ไปนั้นขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อเพราะเป็นหน้าฝน และจุดที่จะเสด็จฯ ไปนั้นรถยนต์เข้าไม่ถึง แถมตอนนั้นก็มืดแล้วด้วย
ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับผู้ตามเสด็จสั้น ๆ ว่า ‘ฉันไปได้’ เท่านั้น และพอถึงจุดที่รถเข้าไม่ได้ พระองค์ก็ทรงพระดำเนินโดยมีเจ้าหน้าที่ใช้ไฟฉายส่องทางให้จนพักหนึ่งก็ไปถึงบ้านใต้ถุนสูงหลังหนึ่ง เจ้าของเป็นชาวไทยมุสลิมอายุประมาณ 70 ปีเศษ นุ่งกางเกงสีน้ำเงินไม่สวมเสื้อ…ซึ่งนั่นก็คือ วาเด็ง
วาเด็งดีใจมากที่เห็นในหลวงทรงพระดำเนินผ่านที่ของเขา จากนั้นวาเด็งก็อาสานำทางไปยังจุดที่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตร คือปากคลองนํ้าจืด หลังจากประทับอยู่ร่วมชั่วโมงจึงเสด็จ ฯ กลับ โดยทรงแวะที่บ้านวาเด็ง ซึ่งเขาได้กราบบังคมทูลเป็นภาษายาวีว่า เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวของเขาอย่างยิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จ ฯ มาถึงบ้าน แต่น่าเสียใจที่ไม่มีผลไม้ถวายเลย เงินที่เพิ่งขายผลไม้ได้มาก็เอาไปซื้อเครื่องสูบนํ้าใหม่ซะแล้ว
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ตรงนั้นจึงกล่าวเย้าเล่นว่า ‘ไม่มีอะไรถวายก็ปั๊มนํ้านั่นไงล่ะ’
วาเด็งได้ยินดังนั้น จึงรีบบอกอย่างดีใจว่า ‘ถวายเลย ยกไปเลย ๆ’ แต่ในหลวงทรงมีพระเมตตา ไม่ทรงรับปั๊มนํ้าของเขา
ในเวลาต่อมาเมื่อใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา…วาเด็งก็นำผลไม้เข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวายเป็นประจำทุกปี หลังจากนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าว่า ในหลวงทรงเรียก วาเด็งว่า ‘พระสหาย’ ของพระองค์
เรียบเรียง : บทความ “เรื่องเล่าจากองคมนตรี…ความทรงจำประทับใจ ที่ไม่มีวันลบเลือน” นิทาน สรรพสิริ
ภาพ : หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” และ นิตยสารซีเคร็ต ฉบับที่ 210
ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล หนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554
บทความน่าสนใจ
บทสวดพร้อมคำแปล คาถาถวายพระราชกุศล ในหลวงรัชกาลที่ 9
ในหลวงรัชกาลที่ 9 – พระราชาผู้เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพด้าน ดนตรี
เซ็ง แซ่ลี ตามรอยในหลวง ด้วยเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้กว่าเจ็ดหลัก
10 พระบรมราโชวาทเพื่อการทำงาน ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คำพ่อสอน
การฝึกสติ “พละ ๕ คือกำลังหนุนจิต” – พระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ ๙