นักกีฬา มีเคล็ดลับอย่างไรไปดูกัน
ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเป้าหมายของ นักกีฬา และคนทั่วไปในเรื่องเกี่ยวกับความแข็งแรงและสุขภาพของตนเองนั้นต่างกัน
นักกีฬาต้องการให้ร่างกายแข็งแรงเป็นพิเศษทั้งนี้เพื่อให้เขามีความเก่ง เอาชนะคู่ต่อสู้หรือชนะในการแข่งขันได้เท่านั้น ฉะนั้นในการฟิตตัวเองให้มีความเก่งนั้น บางครั้งเขายอมเจ็บตัวเพื่อฝึกร่างกายให้มีความเก่งหรือเชี่ยวชาญไปในแนวทางที่เขาต้องการ หรือบางครั้งเขายอมทำผิดกฎกติกา แม้แต่การกระทำนี้จะเป็นตัวทำลายสุขภาพหรือทำให้เขาเจ็บป่วยก็ตาม อย่างเช่น การใช้ยาโด๊ป เป็นต้น
แต่สำหรับคนทั่วๆ ไป เราจะฝึกอะไรก็ตาม ปฎิบัติตัวอย่างไรก็ตาม เราเพียงแต่ต้องการสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความสุขทั้งกายและใจ อายุยืนและแจ่มใสสดชื่นตลอดเวลาตราบเท่าชั่วอายุของเรา
การฝึกปฎิบัติของนักกีฬา และการฝึกปฎิบัติของผู้รักสุขภาพจึงต่างกันแต่มีสูตรหนึ่งซึ่งสามารถจะให้ประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือไม่ก็ตาม นั่นก็คือสูตรอาหารซึ่งว่ากันที่จริง สูตรชีวจิตก็เป็นสูตรอาหารที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราต้องการเพิ่มสมรรถภาพบางอย่างเป็นพิเศษสำหรับนักกีฬา เราก็เพิ่มเปลี่ยนอาหารบางกลุ่มให้มากขึ้น หรือลดกลุ่มบางอย่างให้น้อยลงได้ เช่นนักยกน้ำหนักต้องการความแข็งแรงของเขน ขา ลำตัว เราก็เพิ่มอาหาร โปรตีน และแอมมิโน แอซิค บางตัวให้มากขึ้น
นักกีฬาบางคนต้องการความว่องไว และความแจ่มใสของสมอง เพื่อการตัดสินใจที่ว่องไว เราก็เพิ่มคาร์โบไฮเดรท และแร่ธาตุให้มากขึ้นเหล่านี้เป็นต้น
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
โปรแกรมสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาก็คือ ต้องวางแผนเรื่องระยะเวลาการปฎิบัติตัวให้ถูกต้อง กฎทั่วไปมีอยู่ว่าต้องใช้เวลาล่วงหน้าประมาณ 1 ½ ปี ถึง 2 ปี ในการฟิตตัวเรื่องอาหาร สูตรอาหารบวกกับระยะเวลาในการปรับอาหารแบบนี้ สูตรนี้โด่งดังที่สุดคือ คาร์โบ-ไดเอท (CARBO-DIET) ของ ดร.โรเบิร์ต ฮาส และสูตรยา INOSINE ซึ่งเป็นแอมมิโน แอซิค ล้วนๆ ของ ดร.เฟรดเดอริค แฮทฟิลด์
มาร์ติน่า แนฟริททิโลวา แชมป์โลกเทนนิสหญิง กล่าวถึงการกินอาหารผิดของเธอ จนทำให้พ่ายแพ้การแข่งขันจนเกือบจะเลิกเล่นเทนนิสว่า เนื่องมาจากการกินอาหารผิดๆ ของเธอ
เธอเล่าว่าเมื่อมาอยู่อเมริกาใหม่ๆ เธอติดใจอาหารจานด่วนอย่างมากมาย เธอเลิกกินอาหารแบบเก่าๆ หันมาตั้งหน้าตั้งตากินอาหารจานด่วนอย่างเดียว (JUNK FOOD และ FAST FOOD) เนื้อ นม ไข่ เค้ก ไอศกรีม ช้อคโกเลต แฮมเบอร์เกอร์ ฮ๊อตด้อก ฯลฯ
ในชั่วระยะเวลาเพียงเดือนเดียว น้ำหนักเธอขึ้นถึง 20 ปอนด์ และการแข่งขันเทนนิสของเธอก็มีแต่แพ้ๆ อยู่ตลอดเวลา
เธอกินอาหารประเภทเนื้อซึ่งติดเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่งจนป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (TOXOPLASMOSIS) ต้องรักษาตัวเป็นเวลานาน และหมดเงินทองแทบสิ้นเนื้อประดาตัว และนั่นเป็นสมัยที่เธอ การแข่งขันเทนนิสของเธอตกต่ำอย่างที่สุด และนั่นเป็นจุดสำคัญที่เธอได้คิดว่า การใช้ความเกลียดเป็นพลัง (KILLING INSTINCT) นั้นไม่ได้ผลเสียแล้ว
เธอจึงเริ่มต้นเปรียบสูตรอาหารใหม่โดยอาศัยความช่วยเหลือจาก ดร.โรเบิร์ต ฮาส นักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร ดร.ฮาส ทำรายการสูตรอาหารเพื่อเพิ่มพูลความแข็งขันทางร่างกาย หรือที่เรียกภาษาชาวบ้านอย่างเราก็คือ “อึด” พลังไม่ถดถอย ความรวดเร็วว่องไว ความแข็งแรง และเพิ่มสมรรถภาพทางสมอง และกล้ามเนื้อ (STAMINA, ENDURANCE, ENERGY LEVEL, SPEED, STRENGTH และ NEUROMUSCULAR CO-ORDINATION)
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างสูตรอาหารของมาร์ติน่า
อาหารเช้า : แพนเค้ก หรือขนมรังผึ้ง หรือ ข้าวโอ๊ต ไม่ใช้เนย หรือน้ำเชื่อม ผลไม้
อาหารกลางวัน : สลัดจานใหญ่ ไม่มีน้ำสลัดที่ใช้น้ำมันผสม กุ้งตัวเล็กค้อกเทล มันฝรั่งย่าง ถ้าหิวก่อนถึงอาหารเย็น ให้ขนมปังหนึ่งชิ้นหรือผลไม้
อาหารเย็น : ปลาทอดโดยไม่ใช้น้ำมัน หรือนึ่งก็ได้ มันเทศย่าง ผักสลัดจานใหญ่ ผลไม้
เครื่องดื่ม ระหว่างฝึกซ้อม จะดื่มน้ำเปล่าปริมาณมากๆ สลับด้วยน้ำผลไม้หรือน้ำผัก น้ำแครอทคือเครื่องดื่มซึ่งชอบมากๆ และในบางครั้งนานๆ ที ดื่มเบียร์สดได้
ส่วนสูตรของ ดร.เฟรดเดอริค แฮทฟิลด์นั้น จะหนักไปในด้าน อาหารสำหรับผู้ที่ต้องใช้แรงหนักๆ เช่น นักกล้าม นักยกน้ำหนัก เป็นต้น
จุดสำคัญที่สุดของ ดร.แฮทฟิลด์ คือ ระยะเวลาการฟิตตัว เขาบอกว่าต้องใช้เวลาล่วงหน้าอย่างน้อย 12 ถึง 18 เดือน โดยระยะ 5 เดือนแรก ให้กินอาหารเต็มที่หนักไปในทางโปรตีน 7 เดือนต่อมา สูตรอาหารเป็น 1-2-3 คือ ไขมัน1 ส่วน โปรตีน 2 ส่วน และคาร์โบไฮเดรท 3 ส่วน 6 เดือนหลังสุด สูตรอาหาร 1-2-4 คือ ไขมัน 1 ส่วน โปรตีน 2 ส่วน และคาร์โบไฮเดรท 4 ส่วน ส่วนประกอบอื่นๆ คือ วิตามิน แอมมิโน แอซิค แร่ธาตุ และโอเอ็นไซม์ Q10
ตัวสำคัญที่สุด ซึ่งจะขาดไม่ได้คือ แอมมิโน แอซิค รวม ซึ่งทางรัสเซียและญี่ปุ่นใช้กันมากและมาแพร่หลายที่อเมริกาภายหลัง คือ INOSINE
นักกีฬาของเราจะเอาสูตรต่างๆ นี้ไปใช้ เชิญเต็มที่ครับ หรือมีอะไรที่สงสัยอยากจะปรึกษาก็จดหมายมาถามได้เลย
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต
เขียนโดย: สาทิส อินทรกำแหง