พองหนอ ยุบหนอ

สติปัฏฐาน 4 “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ “

สติปัฏฐาน 4 “กำหนดรู้ด้วยการบริกรรม พองหนอ ยุบหนอ “

สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีพัฒนาจิตตามหลักที่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ถือเป็นหนทางเอกที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง บรรลุซึ่งนิพพานอันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา มีหลักในการพิจารณา 4 ฐานใหญ่ คือ การฝึกสติในการกำหนดตามรู้กาย เวทนา จิต ธรรม พองหนอ ยุบหนอ

หากดูตามความหมายแล้ว สติปัฏฐานประกอบด้วยคำหลัก 2 คำ คือ สติ ที่แปลว่าความระลึกหรือกำหนดรู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ส่วน ปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งหรือที่กำหนด ดังนั้นสติปัฏฐานจึงมีความหมายว่า การมีสติกำกับอยู่เสมอ โดยหลักการปฏิบัติเพื่อให้สติเพิ่มพูนมากที่สุดคือ การใช้สติกำหนดที่ฐานทั้ง 4 คือ กาย เวทนา จิตธรรม นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 นี้อาจใช้การบริกรรมร่วมด้วย การบริกรรมที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ การบริกรรม “พองหนอ ยุบหนอ”

ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 โดยมีการใช้อุบายการกำหนดสติด้วยการบริกรรม “พองหนอยุบหนอ” แนวการปฏิบัตินี้สืบทอดมาจากพระธรรมธีรราชมหามุนี (ท่านเจ้าคุณโชดก) ซึ่งได้ประยุกต์แนวทางตามพระไตรปิฎกกับแนวพระวิปัสสนาจารย์แห่งพม่าที่ท่านเคยได้ไปศึกษาเล่าเรียน มาประกอบกัน

 

พระภาวนาวิริยคุณ วิ. (ไสว ธีรโสภโณ)ผู้อำนวยการศูนย์วิปัสสนากรรมฐานนานาชาติวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ยกตัวอย่างการกำหนดสติด้วยการบริกรรมในแต่ละฐานไว้ดังนี้

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูกาย) คือการพิจารณากาย แบ่งออกเป็น 6 หมวด คือ การกำหนดดูลมหายใจ การกำหนดอิริยาบถใหญ่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) การกำหนดอิริยาบถย่อย (ก้ม เงย หยิบ จับ เหยียดแขน คู้แขน) การกำหนดพิจารณากายโดยความเป็นธาตุทั้ง 4 การพิจารณากายโดยความเป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด และการพิจารณากายโดยความเป็นป่าช้าทั้ง 9 คือซากศพในลักษณะต่าง ๆ

ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาที่หน้าท้องในเวลานั่ง เมื่อมีอาการพองเวลาหายใจเข้าจึงกำหนดว่า “พองหนอ” เมื่อท้องมีอาการยุบจึงกำหนดว่า “ยุบหนอ” เพื่อให้สติตามอาการทางกายที่แตกต่างกัน หรือหากเป็นอิริยาบถเดินก็สามารถกำหนดได้ว่า “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ” เพื่อให้มีสติรู้ว่ากำลังก้าวเท้าไหน เป็นต้น

2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูเวทนา) คือการพิจารณาอารมณ์ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข

ผู้ปฏิบัติต้องใช้สติกำหนดที่เวทนาที่เกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน เป็นต้น พร้อมกับกำหนดว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” หรือ “เจ็บหนอ เจ็บหนอ” แล้วแต่ว่าจะเกิดเวทนาอย่างใด เมื่อเรากำหนดไปเรื่อย ๆ จะเห็นความไม่เที่ยงของอาการเหล่านี้ ซึ่งจะดับลงไปเองได้

3. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน (ตามดูจิต) คือการพิจารณาดูจิตว่า จิตมีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เป็นต้น และรู้ชัดตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น

เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติสามารถใช้สติกำหนดรู้อารมณ์นั้นได้ เช่น เมื่อโกรธ ให้บริกรรมว่า “โกรธหนอ โกรธหนอ” เวลาดีใจก็กำหนดว่า “ดีใจหนอดีใจหนอ” เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ปัจจุบันและเห็นว่าอารมณ์นั้นจางหายไปได้

4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ตามดูธรรม) คือการพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ความฟุ้งซ่าน ความง่วง หรือขันธ์ 5 ซึ่งเป็นกองแห่งทุกข์ เป็นต้น

ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น นำนิวรณ์มาเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดความสงสัยก็กำหนดว่า “สงสัยหนอ สงสัยหนอ” จนเห็นความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ จนเกิดความเบื่อหน่ายและคลายไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อฝึกปฏิบัติจนชำนาญแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดด้วยการบริกรรม แต่ให้ดูและพิจารณาไปตามการเปลี่ยนแปลงของกาย เวทนา จิต และธรรม ซึ่งเป็นการเฝ้ามองตลอดเวลาเพื่อไม่ให้จิตหรือสติส่งไปที่อื่น ซึ่งพระภาวนาวิริยคุณกล่าวว่า

“กรณีคนฝึกใหม่ควรใช้คำบริกรรมเหมือนกับคนที่ยังว่ายน้ำไม่เป็น จำเป็นต้องพึ่งขอนไม้หรือห่วงยางเพื่อพยุงไม่ให้ตัวจม แต่ต่อไปถ้าอินทรีย์เริ่มแก่กล้า ว่ายน้ำเริ่มแข็ง อุปกรณ์ตัวช่วยเหล่านี้ก็จะไม่มีประโยชน์กับเราเลย หรืออาจเป็นภาระด้วยซ้ำ”

นอกจากนี้ การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 สามารถฝึกปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่ต้องเจอการกระทบกระทั่งของอารมณ์เสมอ และฝึกได้ง่ายเพราะใช้อิริยาบถที่เราคุ้นเคยและเคยชินเป็นอย่างดี เช่น การเดิน นั่ง ยืน นอน โดยเน้นการพัฒนาสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบเพื่อให้สามารถควบคุมอารมณ์และการกระทำของตนเองได้ เมื่อฝึกบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ จนกระทั่งมีสติมากพอดีพอ ทั้งนี้ “คนที่มีสติก็จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ”

ด้านอานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานนั้น พระภาวนาวิริยคุณกล่าวไว้ว่า “อานิสงส์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ทำให้กายสำรวมและจิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบ มีสติ ความคิดก็เป็นระเบียบ สามารถเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริงและดับทุกข์ทั้งทางกายและทางใจได้ ที่สำคัญคือ เมื่อมีสติอยู่กับปัจจุบันเสมอไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ผิดพลาด”

 

“นักปฏิบัติต้องตัดอดีต ปิดอนาคตแล้วกำหนดอยู่ที่ปัจจุบัน เพราะอดีตผ่านมาแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงหรือไม่เกิด แต่สิ่งที่กำลังเกิดและเห็นอยู่ชัด ๆ คือปัจจุบันเท่านั้น”

– พระภาวนาวิริยคุณ วิ. (ไสว ธีรโสภโณ)

 

วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมที่สอนการปฏิบัติแนวสติปัฏฐาน 4 ด้วยการบริกรรมพองหนอ ยุบหนอ

1. ศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2223-6878

2. วัดอัมพวัน หมู่ที่ 4 ถนนเอเชีย กม. 130 ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร.  0-3651-0598

3. สำนักงานพุทธมณฑล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โทร. 0-2441-9012

4. วัดป่าเจริญราช ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2995-2112

 

Image by fzofklenz on Pixabay

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.