กายป่วยด้วยโรคกระทำ ใจป่วยด้วยอุปาทานกระทำ บทความจาก ท่าน ว.วชิรเมธี
บทความนี้มีที่มาจากบทความเรื่อง ““สุขภาพ” คือคำศักดิ์สิทธิ์” เขียนโดย ว.วชิรเมธี
สุขภาพเป็นทรัพย์สมบัติที่สูงค่าที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งหลายต่อหลายคนพากันมองข้าม มุ่งทำงานหามรุ่งหามค่ำ (ตอนที่สุขภาพยังดีอยู่) ครั้นทำงานแทบล้มแทบตายจนเจ็บไข้ได้ป่วย จึงนำเงินที่ได้จากการทำงานหนักนั้นมาซ่อมสุขภาพให้มันดีขึ้น กลายเป็นการเสียสุขภาพเพื่อแสวงหาสุขภาพ การซ่อมสุขภาพไหนเลยจะสู้การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ
พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า “อาโรคฺย ปรมา ลาภา” แปลว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เพราะเมื่อมีสุขภาพดีสุขภาพจิตก็จะดี อวัยวะต่าง ๆ ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อสุขภาพดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานให้การทำความดีทุกชนิดเป็นไปโดยสะดวก การดำเนินชีวิตมีความคล่องตัว การใช้สติปัญญาก็แจ่มจรัส
คนมีสุขภาพดีนั้น แม้ดื่มน้ำจืดธรรมดา ๆ ก็ยังรู้สึกว่ามีรสอร่อยเหลือล้น ส่วนคนที่สุขภาพไม่ดีนั้น ต่อให้จิบไวน์แก้วละแสนก็ยังรู้สึกจืดชืดไร้รสชาติ แม้มีเพชรพลอยอยู่เต็มห้อง มีเงินล้นธนาคาร มีบ้านราคาหลายร้อยล้าน มีรถหรูนับสิบคัน ก็ยังรู้สึกทุกข์กังวลอยู่ในใจไม่หาย เพราะเพชรพลอยก็ดี เงินก็ดี บ้านก็ดี รถก็ดี ถึงแม้จะมีอยู่มันก็มีอยู่ “นอกตัว” ออกไป แต่โรคาพยาธินั้นมันมีอยู่ “ในตัว” ของเราโดยตรง เราเจ็บที่นี่ ปวดที่นี่ ในร่างกายและจิตใจนี้โดยตรง
ทุกข์ที่เกิดจากทุกขภาพนั้น เป็นทุกข์ที่ประจักษ์กับตัวโดยตรง ดังนั้น หากท่านยังสุขภาพดีอยู่ ก็จงอย่าได้ใช้ชีวิตโดยความประมาท อย่าหลงลืมคำว่า “ทางสายกลาง”หรือ “ความสมดุล” ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตเป็นอันขาด
แต่หากท่านเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ต่อการเยียวยารักษา ชั้นที่สุด หากรักษาไม่หายแล้ว ก็จงอย่าเพิ่งหมดกำลังใจขอให้ปลุกปลอบใจตัวเองต่อไปว่า “ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะต้องไม่
ป่วยตามไปด้วย”
หากกล่าวตามมุมมองของพุทธศาสนาแล้ว คนที่สุขภาพไม่ดีก็ใช่จะเป็นคนที่หมดหวังในชีวิตก็หาไม่ ตรงกันข้าม แม้ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ยังเป็นโอกาสทองให้ได้ปฏิบัติธรรม ในพระคัมภีร์มีเรื่องราวปรากฏว่า ผู้ป่วยหลายคนทั้งที่เป็นพระและเป็นคฤหัสถ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลในขณะที่ตนกำลังป่วยหนัก ความป่วยจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายไปเสียทั้งหมด หากวางท่าทีให้ถูกต้องอย่างมีสัมมาปัญญา บางทีความป่วยก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับปรีชาญาณในการเห็นธรรม จงอย่ายอมให้ความป่วยกัดกินเราอยู่ฝ่ายเดียว เราควรจะเป็นฝ่ายกัดกินความป่วยโดยการฉกฉวยโอกาสที่กำลังป่วยมาเป็นโอกาสทองของการปฏิบัติธรรม
ผู้เขียนอ่านประวัติของครูสอนโยคะคนหนึ่ง เขาเล่าว่า ตัวเองมีปัญหาเรื่องโรคกระดูก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย หมดเงินไปมากมาย จนสูญเสียกำลังใจ วันหนึ่งขณะกำลังนอนหมดอาลัยตายอยากอยู่ในบ้าน และนึกโทษโชคชะตาฟ้าดินที่เจาะจงลงทัณฑ์ตัวเองตั้งแต่ยังหนุ่มให้ต้องกลายมาเป็นคนพิการ ไม่อาจใช้สังขารได้อย่างที่ใจต้องการอยู่นั่นเอง จู่ ๆ ก็เปิดโทรทัศน์ไปพบกับรายการสอนสมาธิภาวนาพ่วงกับโยคะศาสตร์
เขาดูรายการนั้นไปสักพักหนึ่งก็เกิดแรงบันดาลใจและเห็นแสงแห่งความหวังทอประกายเจิดจรัส จึงตัดสินใจไปหาซื้อตำรับตำราโยคะมาฝึกปฏิบัติด้วยตนเองฝึกอยู่อย่างนั้นเพียงครึ่งปี ปรากฏว่าโรคกระดูกหายเป็นปลิดทิ้ง สุขภาพดีวันดีคืนกลายเป็นคนสงบนิ่ง จิตแจ่มใส มีพลังจากภายในล้นเหลือ ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่จะหายป่วยเท่านั้น แต่เขาก็ยังกลายมาเป็นครูสอนโยคะที่เดินทางไปสอนอยู่ในหลายประเทศทั้งแถบเอเชียและตะวันตกอีกต่างหาก
นี่คือความป่วยกลายเป็นโชค เพราะได้พบกัลยาณมิตรโดยบังเอิญ ไม่เพียงแต่จะหายป่วยเท่านั้น แต่ยังได้ชีวิตใหม่ อาชีพใหม่ และได้เห็นโลกใบใหม่
แต่บางคนก็มีความป่วยเป็นเคราะห์คือป่วยกายอยู่แล้ว ก็พานป่วยใจซ้ำอีก คนป่วยประเภทหลังนี้คือคนที่กายป่วยแล้วก็เอาแต่ทุกข์ระทมขมไหม้ แทนที่จะหาช่องทางเยียวยารักษาให้ถูกวิธีทั้งทางกายและทางใจ แต่กลับมองโลกในแง่ร้าย คอยแต่จะคิดว่าตัวเองเป็นคนมีกรรม โลกนี้ไม่ยุติธรรมสำหรับตัวเอง ทีคนอื่นใช้ชีวิตสุ่มเสี่ยงอันตราย บุหรี่ก็สูบ สุราก็ดื่มทำงานก็หนัก แต่ไม่ยักกะป่วย ส่วนตัวเองนั้นเดินสายกลางมาตลอด ทำอะไรก็ระมัดระวัง แต่แล้วกลับได้ความป่วยเป็นการตอบแทน จึงปักใจลงไปว่า ชีวิตนี้มีเวรกรรมตามมาทวงคืน เมื่อเขาตามทวงคืน ก็ต้องยอมจำนนให้ตนเป็นเครื่องบัตรพลีของกรรม จึงก้มหน้าก้มตายอมรับความป่วยด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ
การณ์จึงกลายเป็นว่า กายก็ป่วยด้วยโรค ใจก็ป่วยด้วยอุปาทานที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อพิพากษาตัวเองซ้ำลงไปอีกทีหนึ่ง
กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กายป่วยด้วยโรคกระทำ แต่ใจป่วยด้วยอุปาทานกระทำ
อุปาทาน ก็คือการไม่รู้ความจริงว่าความป่วยของตนนั้นเกิดมาจากสาเหตุใดกันแน่ หรือบางทีก็รู้แน่ แต่เมื่อแก้ไม่หายจึงไปสร้าง “คำอธิบายเทียม” ที่ตนคิดขึ้นมาเอง อธิบายเอาเอง แล้วก็เชื่อและยึดถือตามคำอธิบายที่ตัวเองใช้อธิบายแก่ตัวเองอีกทีหนึ่ง ผลก็คือโรคทางกายไม่หาย โรคทางใจก็ท่วมทับ
เหมือนคนป่วยคนหนึ่งที่เป็นชาวเขา แกป่วยเป็นวัณโรค แต่ด้วยความไม่รู้ แกคิดว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเอดส์ เพื่อนบ้านก็มาบอกอีกว่า คนเป็นเอดส์ถึงอย่างไรก็ตายทุกคน รักษาไปก็เท่านั้น ผลจากการเชื่อในคำอธิบายอย่างผิด ๆ ทั้งของตัวเองและของเพื่อนบ้าน แกจึงยอมรับสภาพความป่วยนั้นโดยไม่ขวนขวายเยียวยารักษา กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อสุขภาพทรุดหนักมีคนหามส่งโรงพยาบาล หมอวินิจฉัยว่าแกเป็นวัณโรค มีโอกาสหายได้ หากรักษาอย่างถูกวิธีและรักษามาตั้งแต่ต้น แต่ตอนที่แกถูกส่งมาถึงมือหมอนั้น อาการเพียบเต็มทีแล้ว ในที่สุดแกก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาล เรื่องนี้หมอเจ้าของไข้เล่าให้ฟังว่า คนป่วยไม่ได้ตายเพราะวัณโรคหรอก แต่ตายเพราะโรคอุปาทาน จึงทำให้ไม่ขวนขวายเยียวรักษาตัวเอง ปล่อยเอาไว้จนกลายเป็นโรคแทรกซ้อนและเสียชีวิตอย่างน่าเศร้าด้วยโรคซึ่งมีโอกาสรักษาให้หาย แต่เขากลับพลาดโอกาสนั้นไปตลอดชีวิต
โรคอุปาทานอันเกิดแต่การคิดเอาเองกังวลไปเอง นับเป็นโรคอันตรายอย่างหนึ่งที่แพทย์แผนปัจจุบันยังจนปัญญารักษา มีก็แต่ผู้ป่วยที่จะต้องหาวิธีเยียวยารักษาด้วยตัวเอง หรืออาจต้องอาศัยกัลยาณมิตรคอยให้คำปรึกษาหรือชี้ทางสว่าง หากได้กัลยาณมิตรมาช่วยทันก็โชคดีไป แต่หากไม่ได้กัลยาณมิตรมาชี้ทางก็อาจจะซวยไป
เมื่อเราป่วย เราจึงควรถามตัวเองว่าเราป่วยกายหรือป่วยใจกันแน่ หากวินิจฉัยได้ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อการเยียวยารักษาอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา นิตยสาร Secret