อานิสงส์ ของการปิดทองพระพุทธรูป – การปิดทองพระพุทธรูปนั้นมีตำนานกล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรานี้ยังสร้างบารมีเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้ามหารถราช เสวยราชสมบัติในสักกราชาวดีนคร มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระองค์มีพระสหายพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าปัญจาลราช เสวยราชสมบัติในปัญจาลนคร ซึ่งเป็นพระสหายที่ไม่ได้เห็นหน้ากัน แต่พระเจ้าปัญจาลราชยังมิได้นับถือพระพุทธศาสนา
ครั้งหนึ่งพระเจ้าปัญจาลราชส่งผ้ารัตนกัมพลเนื้อดีราคาแพงผืนหนึ่งมาถวายพระเจ้ามหารถราช พระเจ้ามหารถราชพิจารณาดูผ้ากัมพลแล้ว ทรงเห็นว่าผ้านี้ราคาแพง เราควรจะส่งแก้วคือพระพุทธรัตนะไปถวาย แล้วพระองค์ให้ช่างเขียนรูปพระพุทธเจ้าลงในแผ่นทองคำด้วยชาดหรคุณ มีขนาด 1 ศอก แล้วให้อำมาตย์เชิญพระพุทธรูปนั้นลงสำเภาไปถวายพระเจ้าปัญจาลราช แต่ก่อนจะส่งราชทูตไป พระองค์ทรงระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานว่า
“พระเจ้าปัญจาลราช สหายของหม่อมฉันนั้นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด มิได้มีความเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ ถ้าพระองค์เสด็จไปพระนครนั้นแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดแสดงปาฏิหาริย์ ชักจูงพระเจ้าปัญจาลราชให้ละเสียซึ่งความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมด้วยเทอญ”
เมื่อทรงอธิษฐานแล้วก็เสด็จลุยไปในน้ำลึกเพียงพระศอ เพื่อส่งเสด็จพระพุทธรูปนั้นจากไป
เมื่อสำเภาไปถึงกรุงปัญจาละแล้ว ราชทูตก็เข้าไปกราบทูลพระเจ้าปัญจาลราชให้ทรงทราบ พระองค์ก็เกิดปิติโสมนัสเสด็จไปรับเครื่องบรรณาการนั้น พร้อมด้วยอำมาตย์ จตุรงคเสนา และประชาชน พระเจ้าปัญจาลราชเสด็จลงไปในน้ำลึกเพียงพระศอเพื่อต้อนรับพระพุทธรูป ด้วยแรงอธิษฐานของพระเจ้ามหารถราช พระพุทธรูปนั้นก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ เช่น ลอยขึ้นไปในนภากาศเป็นอัศจรรย์ พระเจ้าปัญจาลราชทอดพระเนตรดังนั้นจึงเกิดศรัทธาเป็นที่ยิ่ง ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ผู้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะต่อหน้าพระพุทธรูปนั้น พระเจ้าปัญจาลราชกลับกลายเป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นยิ่งนัก ทรงให้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐาน ไว้ ณ พระราชมณเทียร แล้วบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และแสดงตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ต่อมาพระองค์ได้ให้ช่างแกะสลักพระพุทธรูปด้วยแก่นจันทน์เสร็จแล้วให้ประดิษฐานไว้ที่ศาลาบุนนาค ทรงรับสั่งอนุญาตให้ชาวพระนครพากันไปปิดทองพระพุทธรูปนั้น
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นคนเข็ญใจอยู่ในเมืองนั้น แม้จะเป็นผู้ยากจนอนาถาไร้ทรัพย์ แต่เมื่อฟังข่าวเชิญชวนให้ไปปิดทองพระพุทธรูปแก่นจันทน์นั้นแล้วก็เกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้าปรารถนาจะได้นำทองไปปิดพระพุทธรูปนั้นด้วย จึงได้ลาบุตรและภรรยาเพื่อไปขายตัวเป็นทาส จะได้นำเงินมาซื้อทองไปปิดพระพุทธรูป ภรรยาเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เปิดความสลดใจ ภรรยาจึงยอมขายตนและลูกไปเป็นทาสเสียเอง
ฝ่ายพระโพธิสัตว์เมื่อได้เงินจากการขายภรรยาและลูกไปเป็นทาสแล้วจึงได้นำเงินไปซื้อทองปิดพระพุทธรูป เมื่อทองไม่พอแต่ยังมีศรัทธาแก่กล้าพระโพธิสัตว์จึงดำริว่า ใครหนอจักมีวิชาการหรือมนตราที่จะเปลี่ยนเนื้อของเราเป็นทองได้ เราจะสู้ยอมสละเนื้อของตนเองให้เพื่อจะได้ทองนำไปปิดพระพุทธรูปให้ดูสวยงามตามที่ตั้งใจ ด้วยความศรัทธาจึงได้ไปป่าวประกาศถ้อยคำดังว่าอยู่ที่ทางสี่แพร่ง
ครั้นนั้นร้อนถึงท้าวสักกเทวราชจึงจำแลงแปลงกายเป็นพราหมณ์แก่ลงมาถามความเป็นไปกับพระโพธิสัตว์ แล้วก็รับคำว่าตัวเรานี้มีมนตราที่จะเปลี่ยนเนื้อคนเป็นทองคำได้ พระโพธิสัตว์ก็ดีใจนำมีดมาเฉือนเนื้อของตัวเองออกให้พราหมณ์แก่ผู้นั้นเปลี่ยนเป็นทองคำ พระโพธิสัตว์นั้นแม้จะเจ็บปวดปานใดก็ยังไม่ตายด้วยกำลังเทวานุภาพบันดาลรักษาไว้ พราหมณ์จำแลงนั้นก็นำเนื้อเสกเล่นแร่แปรธาตุเปลี่ยนเป็นทองปิดพระพุทธรูปจนเสร็จ ขณะนั้นเองพระโพธิสัตว์ก็ถึงการสลบไปด้วยความเจ็บปวด ส่วนท้าวสักกเทวราชเห็นดังนั้นก็บันดาลแก้ไขพระโพธิสัตว์ให้หายเป็นปกติมีเนื้อเต็มด้วยเทวานุภาพ ฉับพลันนั้นผิวกายของพระโพธิสัตว์ก็สุกปลั่งประดุจทองคำธรรมชาติ ทั้งได้รับคำทำนายว่าจะได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต พระนามว่า พระสมณโคดม
ความนี้ล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าปัญจาลราช ทรงมีความเลื่อมใสเป็นที่ยิ่ง ได้ทรงสักการะพระโพธิสัตว์ด้วยทรัพย์สินและเงินทองมากมาย พระโพธิสัตว์ก็ได้นำเงินไปไถ่ตัวบุตรภรรยามาเสวยสมบัติสิ้นกาลนาน ครั้นวายปราณก็ได้ไปบังเกิดบนสุคติโลกสวรรค์ด้วยอานิสงส์แห่งการทำพุทธบูชาด้วยประการฉะนี้แล
ที่มา : พุทธมงคลอานิสงส์ – พระชุมพล พลปญฺโญ
photo by pixabay
บทความน่าสนใจ