จาก “จิ๊กโก๋” บ้านนาสู่ “ศักดาทุบตึก”
จิ๊กโก๋ คืออดีตเด็กเสเพลเมืองอุบลฯ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อแสวงโชคในเมืองหลวง แล้วประสบความสำเร็จ แต่หนึ่งในนั้นคือ ศักดา พันธุ์น้อย เจ้าของธุรกิจรื้อถอนอาคารที่สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 20 ปี
“ผมเป็นคนอุบลราชธานี พ่อแม่เป็นครูมีพี่น้อง 7 คน แต่มีผมคนเดียวที่เกเรมาก ดื้อไม่ฟังใคร ผมเรียนช่างยนต์ แต่งตัวจิ๊กโก๋ตกเย็นรวมกลุ่มกับเพื่อนกินเหล้า เคยเล่นการพนันจนไม่มีเงิน ต้องขโมยเข็มขัดนาคแม่ไปขาย เงินพ่อแม่อยู่ซอกไหนผมขโมยได้หมด แต่ก็เรียนจนจบ พออายุ 24 ปี คุณพ่อเสียรู้สึกเคว้งมาก ไม่รู้จะขอเงินใครใช้ เลยนั่งรถสิบล้อเข้ากรุงเทพฯเพื่อหางานทำ
“ผมเดินเตร่หางานรับจ้างรายวัน และอาศัยกินนอนอยู่แถวหัวลำโพงหลายสัปดาห์ ถูกกรีดกระเป๋าจนหมดตัว ต้องใช้กางเกงยีนแลกข้าวกิน โชคดีได้งานขับรถตู้ในหมู่บ้านจัดสรร ต่อมาเจ้านายชวนให้เป็นเซลส์ขายบ้านได้เงินเดือน 2,000 บาท ตอนนั้นผมหาเงินเพิ่มโดยขายถ่านไฟฉาย และเปิดร้านขายลาบไปด้วย กระทั่งปี 2535 มีคนรู้จักชวนให้เป็นนายหน้าหางานทุบตึกและรับซื้อบ้านไม้เก่า ผมจึงซื้อพื้นที่กรอบเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์เพื่อลงโฆษณาขายบ้านและรับทุบตึกคู่กัน
“สมัยนั้นงานเยอะมาก เพราะกรุงเทพฯเริ่มสร้างทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ซึ่งต้องเวนคืนที่ดินและทุบอาคารเก่า คู่แข่งก็ไม่มี ตอนนั้นผมรู้ขั้นตอนการทำงานทุกอย่างแล้วจึงออกมารับทำเอง ซึ่งมีงานเข้ามาตลอด เพราะผมลงโฆษณาและติดป้ายข้างทางโดยใช้คำติดตลก เช่น ‘เลือก ส.ส. เข้าสภา อย่าลืมเลือกศักดาไปทุบตึก!!’ ‘เลือกศักดาได้ราคาเปาบุ้นจิ้น’ ป้ายของผมจึงเด่นกว่าเพื่อน ผมคิดคำเอง ติดป้ายเองมาตลอด มีป้ายหนึ่งติดตรงหน้าราชภัฏแถวหลักสี่มา 20 ปี จนนักศึกษาเรียนจบเป็นวิศวกร ก็มาจ้างผมไปทุบตึกเพราะเห็นป้ายมาตั้งแต่เรียนหนังสือ
“ช่วงแรกเจอปัญหาพวกต้มตุ๋นเยอะมาก บางคนหลอกว่าเป็นเจ้าของบ้าน บ้างหลอกให้เดินทางไปไกล แต่พอไปถึงสถานที่จริง ตึกนั้นทุบทิ้งไปแล้วตั้งนาน แต่ผมก็ไม่ท้อ มองว่าเป็นเรื่องสนุก ได้บ้างเสียบ้างไม่เป็นไร บางทีก็โทร.มาเรียกไปดูบ้าน แต่กลับพาผู้หญิงแต่งตัววับ ๆ แวม ๆ มาชวนเราเล่นไพ่ เล่นการพนัน ถ้าเราไปหลงเล่นตอนนั้นก็หมดตัว แต่ผมไม่หลง ผมไม่เล่นเพราะเคยผ่านมาแล้ว
“ปี 2538 ผมจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ศักดา เพื่อรับงานทุบตึกของภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่อาคารขนาดเล็กจนถึงโครงการขนาดใหญ่หลักสิบล้าน สมัยก่อนนอกจากค่าจ้างทุบแล้ว ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของซากอาคารยังขายได้ด้วย ทั้งเหล็กเส้น เศษไม้ อะลูมิเนียม บานประตู หน้าต่าง เศษปูน จากผนัง สายไฟ กระดาษ ข้าวของเครื่องใช้ที่เจ้าของทิ้งแล้วก็ขายได้หมด สมัยนี้มีคนหันมาทำธุรกิจนี้มากขึ้น จึงต้องประมูลซื้อตึกจากเจ้าของเพื่อนำของพวกนี้ไปขาย ได้ราคาตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน
“คนมองอาชีพนี้ว่าเป็นอาชีพกรรมกร กิ๊กก๊อก แต่ที่ไหนได้ เงินทั้งนั้น สำหรับผมทุกวันนี้คือกำไร เพราะผมไม่ได้ลงทุน ไม่ได้ใช้สมบัติของพ่อแม่ ผมมีแต่กำปั้นสร้างทุกอย่างด้วยตนเอง ทุกวันนี้แม้มีคู่แข่งมาก แต่ผมยังมีงานทุกวัน เพราะศักดาทุบจริงทำจริง ซื่อสัตย์ มีหลักแหล่ง จดทะเบียน บริษัทและตรวจสอบได้ เบอร์โทรที่โฆษณาใช้มายี่สิบกว่าปี ไม่เคยเปลี่ยนเพื่อหนีใคร”
“ตอนนี้ผมอายุ 58 ปี มีกิจการโรงไม้และบ้านจัดสรรในจังหวัดอยุธยาด้วย แต่ยังออกไปลุยงานทุบตึกพร้อมลูกน้องทุกวันสำหรับคนเคยเกเรอย่างผม แค่นี้ก็คิดว่าชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อก่อนพ่อแม่เสียใจกับเรามาก วันนี้พ่อไม่เห็น แต่แม่ได้เห็นแล้วว่าเราได้ดี แม่บอกว่าภูมิใจในตัวเรามาก ดื้อกว่าใคร แต่ก็มีวันสำเร็จในชีวิต“
สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมมีทุกวันนี้อาจเป็นเพราะผมรู้สึกอาย พี่น้องผมไม่มีใครเกเรเลยสักคน รับราชการกันหมด ถ้าไม่ได้ดีผมจะยิ่งอาย
“ผมคิดว่าสิ่งไม่ดีที่เคยทำไปเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ มาสำนึกได้ภายหลังดีกว่าปล่อยให้เลยเถิดไปจนถอนตัวไม่ขึ้น ไม่เช่นนั้นผมคงไม่มีวันนี้”
เรื่อง อุราณี ทับทอง
ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์
บทความน่าสนใจ
ความสุข และความศรัทธา นำพาความสำเร็จ แพง ขวัญข้าว เศวตวิมล
Life Plan วางแผนชีวิต อย่างไร ให้ทั้ง สุข และ สำเร็จ (แบบสุดๆ)