วิตามิน

วิตามิน ไม่ใช่จําเลย “คนผิดคือฉันเอง”

วิตามิน ไม่ใช่จําเลย “คนผิดคือฉันเอง”

เมื่อร่างกายผิดปกติจากการกิน วิตามิน ที่มากเกินพอดี คนส่วนใหญ่มักโยนความผิดให้วิตามินไปเต็มๆ แต่คุณเนย-โชติกา วงศ์วิลาศ กลับมองต่างมุมและเล่าประสบการณ์สุขภาพของเธอว่า

“เนื่องจากตอนเด็กๆ เนยผอมมากและไม่ชอบกินผักทุกชนิด คุณแม่กลัวว่าลูกจะขาดสารอาหารจึงให้เรากินวิตามิน กินเป็นกํามือๆ มีทั้งวิตามินซี วิตามินอี น้ํามันตับปลา มีทั้งชนิด ละลายน้ำาและละลายในไขมัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่ากินเกินความต้องการของเด็ก แต่เพราะกินแล้วไม่มีผลกระทบจึงกินมาเรื่อยๆ ซึ่งมันเกิดจากความเข้าใจผิดของเราเอง”

นอกจากเรื่องการกินวิตามินไม่ถูกต้องตามขนาด  ไม่เหมาะสมกับความต้องการตามวัย  น้ำหนัก  และส่วนสูงแล้ว  คุณเนยยังมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ “สุดโต่ง” คือ ชอบกินเนื้อสัตว์มาก  โดยเฉพาะไก่  จะชอบกินหนังไก่ทอดมากเป็นพิเศษ ด้วยพฤติกรรมการกินผิดๆ และกินวิตามินปริมาณมาก แทนอาหาร  เมื่ออายุ 18 ปี  เธอจึงพบซีสต์ (Cyst) ที่หน้าอกถึง 2 ก้อน  และยังลุกลามไปที่มดลูก

“ตอนนั้นคลําเจอก้อนที่หน้าอกขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลิ้งไปมาได้ พอไปตรวจที่โรงพยาบาลจึงพบว่าเป็นซีสต์ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้อร้าย  แต่เมื่อผ่าตัดแล้ว และนําชิ้นเนื้อไปตรวจพบว่า เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่พบเซลล์ มะเร็ง   แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ไปพบซีสต์ที่มดลูกขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรอีก แต่เป็นเนื้องอกธรรมดา

“เนยได้แต่คิดว่า ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะเนื้องอกไม่ได้เป็นเนื้อร้าย และทําให้เนยรู้จักดูแลสุขภาพ ตัวเองมากขึ้น”

ขณะนี้คุณเนยเข้ารับการผ่าตัดซีสต์ในร่างกายมาแล้วถึง 3 ครั้ง และต้องหมั่นเช็กสุขภาพว่า  ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่

เนย โชติกา
คุณเนย โชติกา

ปรับพฤติกรรมช่วยสุขภาพเลิศ

นอกจากนี้ คุณเนยยังปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตัวเองขนานใหญ่  เธอเล่าว่า

“เนยลดการกินเนื้อสัตว์ใหญ่ ไม่กินของทอด ของมัน โดยเฉพาะเลิกกินหนังไก่ทอดอย่างเด็ดขาด  กินผักเพิ่มขึ้น มีเมนูสุดโปรดเป็นสลัดผักค่ะ ต้องกินข้าวเช้าทุกวัน และพยายามกินอาหารให้ตรงเวลา”

สำหรับการกินวิตามินนั้น  คุณเนยย้ำว่า  วิตามินมีประโยชน์มาก  แต่ควรรู้จักกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย  นั่นคือ  กินเท่าที่จําเป็น  ถูกสัดส่วน  ที่สําคัญ  ก่อนกินควรขอคําแนะนําจากแพทย์  ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 4 ของ อาจารย์สาทิส อินทรกําแหง สํานักพิมพ์คลินิกสุขภาพ  ว่า

“การใช้วิตามินในแบบชีวจิต เราใช้เมื่อเกิดภาวะขาดเท่านั้น เพราะวิตามินไม่ใช่อาหารและไม่ใช่ยาจึงต้องรู้จักว่าจะใช้ในปริมาณเท่าไร  ต้องรู้ว่าตัวไหนกับตัวไหนส่งเสริมกัน และตัวไหนเป็นศัตรูกัน ซึ่งต้องใช้ความรู้ด้านชีวเคมีเกี่ยวกับวิตามิน  ตามหลักวิชา Orthomolecular มาพิจารณาด้วย”

ดังนั้น  ก่อนที่เราจะเลือกซื้อวิตามินมากิน  ก็ควรพิจารณาความจําเป็นหรือตรวจก่อนว่าร่างกายขาดวิตามินชนิดใด ขณะเดียวกันก็ต้องอ่านฉลากข้างขวดผลิตภัณฑ์ด้วยว่า ควรกินปริมาณเท่าใด  เพื่อให้วิตามินทําหน้าที่เป็น “ฮีโร่”  คอยดูแลสุขภาพเราทุกคน

จากคอลัมน์ ประสบการณ์สุขภาพ นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.