พฤติกรรมร้าย ทำคุณ สุขภาพพัง
กว่า 2,000 ปี มาแล้วที่ฮิปโปคราตีส บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตกกล่าวข้อความกระตุ้นเตือนมนุษย์ให้หันมาสร้างเสริมสุขภาพด้วยอาหารว่า You are what you eat.
ทว่าเวลาผ่านไป มีมนุษย์เพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถทำตามได้ ส่วนที่เหลือยังคงละเลยความจริงข้อนี้ไปมิหนำซ้ำยังซ้ำเติมร่างกายตัวเองด้วยวิธีต่างๆ นานา อาทิ ความเครียด การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
โรคภัยที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงเป็นดังที่ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เรียกว่า โรคที่ไม่ใช่โรค คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดๆ นั่นเอง
เพื่อป้องกันโรคที่ไม่ใช่โรคเล่นงานในวันข้างหน้า ชีวจิต ขอเปิดบันทึกชีวิตจริงของ คุณนันทนา(สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี หญิงสาวที่มีพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพจนโรครุมเร้า และต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อเรียกคืนความแข็งแรงให้กลับคืนมา ก่อนที่เธอจะสูญเสียมันไปตลอดกาล
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
เดือนที่ 1 – เดือนที่ 3 กิน กิน กิน (อาหารไม่ดี)
บันทึกของเธอเริ่มต้นหลังเรียนจบ คุณนันทนาในวัย 22 ปีก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอก็เหมือนกับหญิงสาวในวัยทำงานทั่วไปที่มุ่งมั่นกับการทำงานจนลืมใส่ใจเรื่องอาหารการกิน ประกอบกับนิสัยส่วนตัวที่มักละเลยอาหารเช้า?ทำให้เธอบ่มเพาะพฤติกรรมทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว
“ปกติเป็นคนไม่กินข้าวเช้า เพราะรู้สึกอึดอัดท้อง หากจะกินก็เป็นอาหารที่หาซื้อง่ายและกินง่าย เช่น แซนด์วิชที่ขายอยู่ตามร้านข้างทางหรือไส้กรอกในร้านสะดวกซื้อ หากซื้อไม่ทันก็ชงกาแฟกิน 1 แก้ว” คุณนันทนากล่าว
เมื่อเลือกที่จะดื่มกาแฟเป็นอาหารเช้า กาแฟของเธอจึงพิเศษกว่าของคนอื่น
“ตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นเจ้าแม่กาแฟเลย อุปกรณ์วัตถุดิบที่เกี่ยวกับกาแฟของเราจะพิเศษกว่าคนอื่น ทั้งกาแฟผงขวดใหญ่ครีมเทียมขวดใหญ่ และน้ำตาลทราย 1 โหล ที่ต้องมีมากกว่าคนอื่นเพราะติดรสชาติหวานมัน เวลาชงกินก็จะชงใส่แก้วน้ำขนาดใหญ่ ใส่กาแฟ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลอย่างน้อย 3 ช้อนโต๊ะและครีมเทียม 2 – 4 ช้อนโต๊ะ กินแค่นี้ก็ทำงานได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเลย”
เมื่อถึงช่วงพักกินข้าวเที่ยง คุณนันทนาเลือกกินอาหารง่ายๆ อย่างข้าวแกงจากร้านอาหารบริเวณใกล้ที่ทำงาน กับข้าวที่เลือกกินมักเป็นแกงใส่กะทิ แกงเผ็ด และของทอด ต่อด้วยกาแฟอีกหนึ่งแก้วหรือน้ำผลไม้ปั่น และไม่ลืมที่จะซื้อเค้กขึ้นไปกินกับกาแฟในช่วงบ่ายด้วย
ส่วนเวลาของอาหารมื้อเย็นหลังเลิกงานนั้นจะเริ่มต้นประมาณ 19.30 น. เธอบอกว่า อาหารมื้อนี้ถือเป็นมื้อที่เธอกินมากที่สุดเพราะเหนื่อยล้าจากการทำงานมาตั้งแต่บ่ายจรดค่ำ
“มื้อเย็นจะรู้สึกโหยมาก จึงไม่ค่อยเลือกกิน หากมีรถเข็นขายอาหารมาก็จะเรียกซื้อทันที ไม่สนใจว่าจะเป็นอาหารที่ทำมานานแล้วหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ไก่ปิ้งที่เต็มไปด้วยเขม่าไหม้จากตะแกรง หรือเมื่อกลับถึงบ้านก็กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้ม แต่ที่กินบ่อยที่สุดคงจะเป็นอาหารกล่องแช่แข็งที่แวะซื้อจากร้านสะดวกซื้อ”
หลังจากนั้นก็อาบน้ำ ทำธุระส่วนตัว และเข้านอนเวลาประมาณสี่ห้าทุ่ม
ติดตามเรื่องของของเธอต่อได้ ในหน้าถัดไป
หากเป็นวันหยุดหรือช่วงเย็นหลังเลิกงานบางวัน เธอจะซื้ออาหารมาปรุงเอง ซึ่งอาหารจานโปรดก็คือแกงเขียวหวานเนื้อซี่โครงหมูทอด รสชาติที่ปรุงคือเผ็ดนำ ตามด้วยเค็มและหวาน
สำหรับของหวาน เธอชอบขนมที่ทำจากนมเนยต่างๆ ซึ่งเธอบอกว่าสามารถกินเป็นของกินเล่นได้เลยทั้งวัน และด้วยความที่เป็นคนชอบรสชาติของนมเนย เวลาว่างเธอจึงชอบดื่มนม หรือไม่ก็จะตัดแบ่งเนยเป็นชิ้นเล็กแล้วอมให้ละลายในปากเป็นของว่าง
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวงจรทำร้ายสุขภาพเท่านั้น เพราะหลังจากนี้คุณนันทนายังคงมีพฤติกรรมการกินเช่นนี้ต่อไปพร้อมๆ กับเพิ่มปัจจัยก่อโรคให้ตัวเองอีกมากมาย
กินผิด ใช้ชีวิตผิด ตัวการทำป่วย
นายแพทย์สุวินัย บุษราคัมวงศ์ แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท อธิบายถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่ออาการป่วยของคุณนันทนาว่า
“คุณนันทนามีพฤติกรรมการกินที่ทำร้ายสุขภาพ เพราะไม่กินข้าวเช้าเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายขาดพลังงานในช่วงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายต้องการสารอาหารมาก และกินมื้อเย็นหนัก ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายต้องการพักผ่อน ร่างกายจึงต้องใช้พลังงานในการย่อยและดูดซึมมาก ทำให้นอนหลับไม่สนิท และการกินอาหารที่มีไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย ชอบกินของหวาน ทำให้เกิดไขมันสะสมและน้ำหนักเพิ่มขึ้น
“ส่วนความเครียดนั้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง เพราะทุกครั้งที่เครียด ร่างกายจะหลั่งสารเคมีไม่ดีออกมา เมื่อมีความเครียดสะสมมากจึงทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยในที่สุด”
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
เดือนที่ 4 – เดือนที่ 8 ความเครียดพุ่ง สุขภาพทรุด
หลังทำงานได้สักพัก ภาระหน้าที่ในการงานมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว
“งานที่เราทำต้องมีความรับผิดชอบสูงและต้องติดต่อกับคนหลายคน วันไหนงานเร่งต้องอยู่ดึกประมาณตีหนึ่งตีสอง ทำให้เครียดมาก นานเข้าก็เริ่มชินกับกิจวัตรดังกล่าว และมีความเครียดสะสม”
ขณะที่ดัชนีความเครียดพุ่งทะยาน ดัชนีสุขภาพก็ดิ่งลง
“เริ่มรู้สึกว่าความเครียดส่งผลต่อร่างกายก็เมื่อนอนหลับไม่สนิท ฝันตลอดคืน บ่อยครั้งฝันเป็นเรื่องงาน ตื่นมาจึงรู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม”
เธอเริ่มมีอาการไฮโปไกลซีเมีย (อาการน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำและขึ้นสูงสลับกันตลอดวัน ซึ่งเกิดจากการกินผิด) คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อยากกินของหวานปากแห้ง คอแห้ง และแน่นอนว่าเมื่อร่างกายอ่อนแอ โรคร้ายก็ฉวยโอกาสเล่นงานทันที
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
เดือนที่ 9 – เดือนที่ 15 จุดจบคือโรครุมเร้า
หลังสุขภาพทรุดลงเรื่อยๆ เธอจึงเผชิญหน้ากับโรคที่รุมเล่นงาน คุณนันทนาเล่าว่า เธอทุกข์ทรมานจากโรคต่างๆ โดยเริ่มจากการเจ็บป่วยกระเสาะกระแสะจนถึงโรคร้าย
“สุขภาพย่ำแย่มาก แค่โดนละอองฝนนิดหน่อยก็เป็นหวัดแล้วถ้าเดือนไหนเครียดมากก็จะมีอาการปวดหัวตัวร้อนจนต้องนอนพักที่บ้าน บางเดือนก็ท้องเสียหรือปวดท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ พอปล่อยทิ้งไว้นานก็ปวดหนักขึ้นและถึงกับเคยถ่ายมีเลือดปนออกมาจนต้องไปหาหมอ คุณหมอบอกว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบ
“นอกจากนี้ระบบฮอร์โมนก็แปรปรวน เพราะประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 4 เดือน ตอนที่ไปหาหมอพบว่าน้ำหนักตัวเองเพิ่มขึ้น 10 กิโลกรัมภายใน 3 เดือน คุณหมอวินิจฉัยว่า ปัญหาประจำเดือนมาจากระดับฮอร์โมนผิดปกติ เพราะน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสั่งให้ลดน้ำหนักด่วน”
ตอนนี้เองที่คุณนันทนาเริ่มเข้าใจแล้วว่า เธอคือต้นเหตุที่ทำให้ร่างกายตนเองเจ็บป่วย แม้ท้ายที่สุดเธอจะผ่านพ้นวิกฤติสุขภาพครั้งนี้มาได้ แต่บทเรียนครั้งนี้ก็ทำให้เธอปฏิญาณกับตัวเองว่า
“ไม่ขอทำลายสุขภาพด้วยการเสพติดรสชาติและการใช้ชีวิตผิดๆอีกต่อไป”
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 291