เต้าหู้ กุ้งแห้ง เห็ดหอม กับ เครื่องดื่มเห็ดหูหนูขาว เห็ดหูหนูดำ พุทราจีน อาหารสมุนไพรจีน สำหรับโรคเบาหวาน
เบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการเผาผลาญอาหารทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน สาเหตุเกิดจากตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือเซลล์ร่างกายไม่ตอบสนองอย่างเหมาะสมต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ก่อให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย (น้ำตาลตกค้างในกระแสเลือดมาก ไตจึงขับออกมาทางปัสสาวะ) กระหายน้ำ (เสียน้ำไปกับน้ำตาลทางปัสสาวะ) และความหิวเพิ่มขึ้น (ร่างกายรู้สึกว่ายังขาดน้ำตาลและพลังงาน) หากไม่ได้รับการรักษาเบาหวานอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนเฉียบพลันและภาวะแทรกซ้อนระยะยาวที่ร้ายแรงรวมถึงโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย แผลที่เท้า และความเสียหายต่อตา
การป้องกันและรักษาต้องควบคู่กันไป เน้นการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (รวมถึงการงดอาหารที่มีรสหวาน) การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่การควบคุมอารมณ์ จิตใจ และการควบคุมน้ำหนักกายให้ปกติบางรายต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเบาหวานในมุมมองแพทย์แผนจีน
ตั้งแต่โบราณ แพทย์แผนจีนไม่ได้มีการบันทึกชื่อโรคเบาหวานแต่จัดลักษณะอาการของเบาหวานอยู่ในกลุ่มอาการของเซียวเขอซึ่งมีอาการแสดงออกคือแห้งร้อน และมีสาเหตุพื้นฐานจากภาวะไตพร่องเป็นหลักสาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องความแปรปรวนทางอารมณ์ การดื่มเหล้า การกินอาหารแคลอรีสูงปริมาณมาก การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป ทำให้สูญเสียพลังของไต เกิดภาวะหยินของไตพร่อง มีความแห้งร้อนภายในเกิดขึ้น ส่วนคนที่เป็นเบาหวาน
แบบที่ 1 หรือ “เบาหวานวัยแรกรุ่น” มักเกิดจากภาวะพื้นฐานร่างกายเป็นแบบหยินของไตพร่อง เซียวเขอแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนบน (ความร้อนอยู่ที่ปอด) มีอาการกระหายน้ำ ส่วนกลาง (ความร้อนอยู่ที่กระเพาะอาหาร) มีอาการหิวเก่ง ส่วนล่าง (ความผิดปกติอยู่ที่ไต) มีอาการปัสสาวะบ่อยการรักษาและควบคุมเบาหวานแบบแพทย์แผนจีนจึงเน้นที่การขับร้อนเสริมสารหยินตามอาการหรืออวัยวะที่มีความผิดปกติเพื่อให้ร่างกายสร้างสมดุลในการปรับระดับอินซูลินของตับอ่อน
อาหารสมุนไพรสำหรับเบาหวานมักมีคุณสมบัติ
1. ขับร้อนเสริมสารน้ำและลดน้ำตาลในเลือด เช่น ผักขม หัวไช้เท้า ฟักเขียว เห็ดหูหนูขาว มะระ บวบ สาลี่ ถั่วเขียว ฟักทอง หนวดข้าวโพด ชาใบหม่อน ตำลึง
2. เพิ่มพลังบำรุงหยินของไตหรือปอด เช่น ซานเย่า ปลิงทะเล ข้าวฟ่าง เก๋ากี้ (มีเสริมหยางไตด้วย) รังนก เต้าหู้ เห็ดหูหนูขาว
โดยทั่วไปมักปรุงอาหารให้มีทั้งการขับร้อนลดน้ำตาลร่วมกับการบำรุงอวัยวะภายในเพราะถ้ามุ่งเน้นแต่ลดน้ำตาลในเลือด แต่ไม่ปรับการทำงานของอวัยวะภายใน ก็จะได้แต่แก้อาการไม่ได้แก้รากฐานความเสียสมดุลหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดร้อนหรือบำรุงหยางอย่างแรง เช่น ขิง พริก พริกไทย กระเทียม เหล้า
โรคเบาหวานมี 3 ชนิดหลัก ได้แก่
เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ อดีตเคยเรียกว่า “เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน” หรือ “เบาหวานวัยแรกรุ่น” สาเหตุยังไม่ทราบ
เบาหวานชนิดที่ 2 เริ่มขึ้นจากการดื้อต่ออินซูลินคือ ภาวะที่เซลล์ไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินอย่างเหมาะสมหรือ “เบาหวานที่เกิดในผู้ใหญ่” สาเหตุหลักเกิดจากน้ำหนักกายเกินและออกกำลังกายไม่เพียงพอเบาหวานระหว่างมีครรภ์ เกิดเมื่อหญิงมีครรภ์ซึ่งไม่เคยมีประวัติเบาหวานมาก่อนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง
1.เครื่องดื่มเห็ดหูหนูขาวเห็ดหูหนูดำ พุทราจีน
- เห็ดหูหนูขาว 20 กรัม
- เห็ดหูหนูดำ 20 กรัม
- พุทราจีนเอาเมล็ดในออก 6 ผล
- ต้มเอาน้ำรับประทาน
สรรพคุณ เสริมหยินลดน้ำตาลในเลือดสลายการเกาะตัวของเลือด
คลิกหน้าถัดไป…
2.ตำรับอาหารสมุนไพร ซานเย่า ลูกเดือย เมล็ดบัว เก๋ากี้
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 20 นาที ปรุง 30 นาที
- ซานเย่า 15 กรัม
- ลูกเดือย 20 กรัม
- เมล็ดบัว 12 กรัม
- เก๋ากี้ 12 กรัม
วิธีทำ
นำส่วนประกอบทั้งหมดล้างน้ำให้สะอาดแล้วเติมน้ำประมาณ 500 ซีซี ต้มด้วยไฟอ่อน ๆ จนนิ่มละเอียดคล้ายโจ๊กรับประทานเป็นอาหาร
สรรพคุณ เสริมบำรุงหยินของไต
3.ตำรับอาหารสมุนไพรเต้าหู้ กุ้งแห้ง เห็ดหอม
ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่) เตรียม 20 นาที ปรุง 30 นาที
- เต้าหู้ 500 กรัม
- กุ้งแห้ง 25 กรัม
- เห็ดหอม 25 กรัม
- น้ำเปล่าตามควร
วิธีทำ
หั่นเต้าหู้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ลวกในน้ำเดือด คนให้ทั่วแล้วตักขึ้น ลวกกุ้งแห้งในน้ำอุ่นจากนั้นนำส่วนประกอบทั้งหมดใส่ในหม้อพร้อมเห็ดหอมที่ล้างสะอาด แล้วเติมน้ำปริมาณพอเหมาะ ต้มจนเดือด ใส่เกลือและปรุงรสตามต้องการ เติมน้ำมันงาเล็กน้อย รับประทานวันละ 1 – 2 ครั้ง
สรรพคุณ บำรุงหยิน เสริมหยางของไตบำรุงม้าม
โดย : แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูลอุปนายกและเลขาธิการสมาคม แพทย์แผนจีนประเทศไทย
(www.samluangclinic.com)
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก สไตล์ : ปรางรัตน์ ฤกษ์สง่า