โรคกลัวสังคม

7 เคล็ดไม่ลับสำหรับจัดการกับ ” โรคกลัวสังคม “

เคล็ดไม่ลับสำหรับจัดการกับ ” โรคกลัวสังคม “

ถ้าต้องออกไปนำเสนองานหน้าห้อง เข้าร่วมประชุม  หรือขึ้นเวที แล้วมีอาการประหม่า  ตื่นเต้น  เหงื่อแตก พูดตะกุกตะกัก  ท้องไส้ปั่นป่วน ไม่กล้ามองหน้าคนอื่น คุณอาจกำลังเป็น “ โรคกลัวสังคม ”

โรคกลัวสังคม (Social Phobia) เป็นความกลัวชนิดรุนแรงที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเอง  ทำให้มีปัญหาการใช้ชีวิต  ความกลัวที่จัดอยู่ในโรคนี้มีหลายรูปแบบ  บางคนไม่กล้ามองหน้าหรือพูดคุยกับคนอื่น  กลัวการพูดในที่ชุมชน  กลัวการขึ้นเวที  กลัวคนมอง  กลัวการพูดคุยจริงจัง  หรือไม่กล้าอยู่ในที่ที่มีคนมาก ๆเมื่อรู้สึกกลัวจะแสดงอาการต่าง ๆ  เช่น  ประหม่า  ตื่นเต้น  หน้าซีดตัวเย็น  ใจสั่น ปากสั่น  ควบคุมสติไม่ได้  ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้  เป็นต้น  โดยอาการที่แสดงออกนี้เกิดจากจิตใต้สำนึกไปกระตุ้นให้ระบบภายในร่างกายแปรปรวน

ดร.ภาคิน  ธราธรศิริ  นักสะกดจิตบำบัด  ผู้ก่อตั้งชมรมนักสะกดจิตแห่งประเทศไทย  แนะนำวิธีจัดการกับโรคกลัวสังคมดังนี้

 

1. อย่าตอกย้ำตัวเอง

เมื่อรู้ว่าป่วย ก็ไม่ควรตอกย้ำตัวเองด้วยการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมากจนเกินไป  เพราะส่วนใหญ่พบว่าคนที่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นอะไรมักเกิดความวิตกกังวลและทำให้อาการหนักขึ้น  ดังนั้นการได้รู้ว่า “ฉันเป็นอะไร”ไม่ได้ช่วยทำให้อาการดีขึ้น  แต่ยิ่งทำให้แย่ลง  ไม่รู้เสียเลยจะดีกว่า

 

2. เมื่อรู้ว่าเป็นโรคนี้ให้รีบรักษา

โรคกลัวสังคมสามารถรักษาด้วยการใช้ยา  หรือการรักษาทางเลือกที่เรียกว่า “จิตบำบัด” หรือ “การกล่อมเกลาจิตใต้สำนึก”  ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hypnotherapy  เป็นการกระทำกับจิตใต้สำนึกเพื่อเปลี่ยนนิสัย  โดยบอกตัวเองว่า “ฉันกล้าคุยกับคนอื่นมากขึ้นทุกวัน ๆ”  “ฉันเข้มแข็งมากขึ้น”  “ฉันช่วยเหลือตัวเองได้”  แต่การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอาจใช้เวลานานเป็นแรมปี  จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้  ไม่มีกำลังใจรักษาต่อจนหายขาด  จึงควรรักษาหลายวิธีไปพร้อม ๆ กัน

 

3. บอกให้ทุกคนเข้าใจ

คนที่ไม่เข้าใจอาจปฏิบัติต่อผู้ป่วยมากหรือน้อยเกินไป  เช่น ประคบประหงมตลอดเวลา  ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกเรื่อง  หรือกดดันมากเกินไป  ใช้คำพูดเสียดสีทำให้เกิดความรู้สึกผิด  เช่น  “ไปซื้อของแค่นี้ทำไม่ได้ก็ตายไปซะเลย”  ทั้งสองแบบล้วนแต่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย  วิธีที่ถูกต้องคือคุณควรบอกกับคนรอบข้าง หรือย่างน้อยคนในครอบครัวให้รับรู้และเข้าใจว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคกลัวสังคม

 

4. ให้คนรอบข้างช่วยเหลือด้วยวิธีที่ถูกต้อง

เมื่ออธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจแล้ว  ควรให้พวกเขาช่วยเหลือคุณอย่างถูกวิธี คือให้เขาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คุณได้ออกไปเผชิญโลกภายนอกเอง  โดยที่คุณยังมั่นใจว่ามีพี่เลี้ยงคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ  เมื่อคุณทำสิ่งใดไม่ได้จริง ๆ ก็แค่ถอยออกมา  แล้วพี่เลี้ยงเข้าไปจัดการให้

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

5. ลดทางเลือกของชีวิต

คนที่มีทางเลือกเยอะ  เช่น  บ้านมีฐานะ  ไม่ต้องเรียนหนังสือ  ไม่ต้องทำงานอยู่บ้านเฉย ๆ  มีคนทำธุระให้ทุกอย่าง จะมีโอกาสหายช้ากว่าคนที่ทางเลือกน้อยหรือไม่มีทางเลือกเลย

ดังนั้นลองลดทางเลือกของชีวิตลงบ้าง ผลักตัวเองออกจากกรอบที่เคยอยู่ เช่น ลองไปไหนมาได้ด้วยตัวเอง จัดการงานต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยคิดเสียว่า ไม่มีใครว่างช่วยเรา หรืออาจจะลองออกไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือเมืองนอกคนเดียวสักระยะ (ในกรณีที่คุณมั่นใจว่าดูแลตัวเองได้จริงๆ) วิธีนี้รับรองว่า คุณจะมีความกล้ามากเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองทีละน้อย ทำทีละเรื่อง  เริ่มทำเรื่องเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยแก้ไขเรื่องใหญ่ ๆทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  เพราะในมุมมองของนักจิตวิทยา  การเปลี่ยนแปลงในทันทีหรือการหักดิบให้ผลสำเร็จเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

6. สร้างกำลังใจให้ตัวเอง

อย่าคิดว่าตัวเองเจอกับเรื่องที่แย่ที่สุดแล้ว  เพราะคนป่วยเป็นโรคกลัวสังคมยังโชคดีกว่าคนจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยโรคกลัวสังคมที่มีใจสู้  มุ่งมั่น  ผลักดันตัวเองสูง  อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อออกไปใช้ชีวิตกับสังคมภายนอกสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาไม่นาน

นอกจากนี้คุณต้องฝึกไม่ให้ตัวเองมองโลกในแง่ลบ เลิกคิดว่า ใครจะหัวเราะเยาะหรือดูถูกคุณ ลองย้ำเตือนกับตัวเองเสมอว่า “ฉันต้องทำได้ ไม่มีอะไรน่ากลัวเลยสักนิด”

 

7. กำหนดลมหายใจ

เคล็ดลับข้อนี้ เป็นเคล็ดลับที่ Secret อยากนำเสนอ

คุณขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร แนะนำว่า ทุกครั้งที่รู้สึกว่าจิตกำลังเริ่มตก คือเริ่มกลัว โกรธ กังวล เหนื่อย เครียด เบื่อ เซ็ง ท้อ ทุกข์ ให้ลองฝึกการหายใจอย่างละเอียด คือ หายใจให้ช้า ลึก และเบา โดยสูดลมหายใจเข้าจนสุดปอดให้หน้าท้องและหน้าอกพองตัวจนไม่สามารถพองต่อไปได้อีก แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกยาว ๆ อย่างไม่รีบร้อนจนหมดทั้งปอด ทำเท่านี้เพียง 3-4 ครั้ง แล้วคุณจะรู้สึกว่าร่างกายเริ่มเบา ใจเริ่มเย็น จิตเริ่มโล่ง และสมองเริ่มปลอดโปร่งขึ้นแล้ว…และความประหม่าก็จะหายไป

ลองทำตามคำแนะนำนี้ Secret เชื่อว่า ไม่นานคุณก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง  

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.