ซุปเห็ดฟักเขียว อาหารสมุนไพรจีนกับภาวะไขมันเลือดสูง ภาวะไขมันเลือดสูงคือภาวะที่ตรวจเลือดพบว่ามีระดับไขมันในเลือดสูงผิดปกติ
ไขมันในร่างกายแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ 2 ประเภท
- ไขมันชนิดอันตราย ได้แก่
• คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ชนิดที่เป็นไขมันเลวคือ แอลดีแอล (Low Density Lipoprotein-LDL) ถ้ามีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูงก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอด-เลือดพอกหนาขึ้นจนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไปหลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวกเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก (ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม / เดซิ-ลิตร)
• ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาลและแป้งหรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการแต่การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มีคอเลส-เตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)
2. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) ไขมันชนิดดีคือเอชดีแอล (High Density Lipoprotein-HDL)ยิ่งมีระดับสูงเท่าไรจะยิ่งเป็นผลดี เพราะไขมันชนิดนี้จะทำหน้าที่ตรงข้ามกับไขมันชนิดเลวคือ จะไปลดและป้องกันการพอกตัวของไขมันในหลอดเลือดและจะนำพาคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยลง(ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม / เดซิลิตรผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม /เดซิลิตร)
คนที่มีไขมันในเลือดสูงมีความหนืดของเลือดสูงกว่าปกติและมีการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดต่าง ๆ ได้ง่าย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหลอดเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ จึงไม่สะดวกนานไปหลอดเลือดก็จะตีบลงและอุดตัน โดยเฉพาะถ้าเกิดกับหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือเสียชีวิตเฉียบพลันและถ้าเกิดกับหลอดเลือดที่สมองจะทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้จึงต้องควบคุมระดับไขมันในเลือดให้พอเหมาะเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะตามมา
ภาวะไขมันเลือดสูงจึงจัดเป็น “ฆาตกรเงียบ” (Silent killer) มีวิธีการหลายอย่างในการลดภาวะไขมันเลือดสูงนอกเหนือจากการใช้ยา เช่น การควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน เพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้กากใย การออกกำลังกายฯลฯ
ในทัศนะแพทย์แผนจีนภาวะไขมันเลือดสูงมีความสัมพันธ์กับความอ้วน คนที่ชอบรับประทานอาหารปริมาณมาก ๆโดยเฉพาะมื้อดึก ชอบอาหารมันของหวาน และใช้พลังงานน้อยนั่งทำงานกับที่ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย อีกทั้งการทำงานอวัยวะภายในเสียสมดุล ที่สำคัญได้แก่ อวัยวะม้าม ไต ตับ หัวใจ ผลที่ตามมาคือความชื้น เสมหะ เลือดติดขัด เกิดความร้อนสะสมและตามมาด้วยการเกิดลมภายใน
(เกิดอาการหมดสติจากภาวะหลอดเลือดหัวใจสมองตีบตัน)
ตำรับอาหารสมุนไพรสำหรับภาวะไขมันเลือดสูง
1. มื้อเช้ารับประทานข้าวโอ๊ตวันละชาม ต้มข้าวโอ๊ตจนเดือดแล้วต้มต่อด้วยไฟอ่อน 10 นาที อาจใส่เนื้อหมูสับทำเป็นข้าวโอ๊ตต้มหมูสับผู้สูงอายุอาจใส่นมพร่องไขมันรับประทาน
2. มื้อค่ำรับประทานกระเทียม 3 กลีบ
3. รับประทานหอมหัวใหญ่วันละครึ่งลูก
4. รับประทานสาลี่หรือแอ๊ปเปิ้ลวันละลูก
คลิกดูสูตรหน้าถัดไป…
ซุปเห็ดฟักเขียว
ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 15 นาที ปรุง 15 นาที
- เห็ดหอมตัดส่วนโคนเห็ดออกล้างให้สะอาด 2 ถ้วย
- ฟักเขียวขนาดกลางปอกเปลือก เฉือนไส้ออก 1 ลูก
- หอมหัวใหญ่หั่นฝอย 1 หัว
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- ขิงซอยเป็นฝอยเล็กน้อย
วิธีทำ
ต้มฟักเขียวกับน้ำจนเดือดใส่หอมหัวใหญ่ฝอยและขิงฝอยจากนั้นจึงใส่เห็ด ต้มจนเดือดปรุงรสตามต้องการ
- เห็ดหอมหรือเห็ดต่างๆ มีโปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน ที่สำคัญคือ “กากใยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล”เข้าสู่ร่างกาย
- ฟักเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมาก ไม่เพิ่มพลังแคลอรีแก่ร่างกาย ลดความร้อนในกระเพาะอาหารทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง นอกจากนี้ยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่แนะนำส่วนมากมักมีส่วนของกากใยเช่น แครอต ฟักทอง ข้าวโพด เต้าหู้ เห็ดหูหนูดำ หัวไช้เท้า รวมถึงชาเขียว
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 82.00 กิโลแคลอรี
โปรตีน 3.82 กรัม ไขมัน 0.46 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 15.70 กรัม ไฟเบอร์ 3.20 กรัม
โดย : แพทย์จีน นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล อุปนายกและเลขาธิการสมาคม แพทย์แผนจีนประเทศไทย
(www.samluangclinic.com)
เรียบเรียง : สิทธิโชค ศรีโช ภาพ : พีระพัฒน์ พุ่มลำเจียก ผู้ช่วยช่างภาพ : บี อุดม
สไตล์ : พิมฝัน ใจสงเคราะห์ ผู้ช่วยสไตลิสท์ : อรุณมณี ปาคาพิทักษ์