พาชมนิทรรศการ “จากมือที่เปื้อนบาป สู่มือที่ปั้นบุญ ” ครั้งที่ 2
นิทรรศการ “จากมือที่เปื้อนบาป สู่มือที่ปั้นบุญ ” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่งานพุทธศิลป์จากฝีมือผู้ต้องขังในโครงการ “ปั้นดินให้เป็นบุญ” รุ่นที่ 2 และโครงการ “ปั้นภาพพุทธประวัติ” ที่ดำเนินโครงการในระหว่างเดือนกันยายน 2558 – มิถุนายน 2559
“ถือเป็นกุศลสูงสุดในชีวิต เกินนึกฝันว่าพวกเราที่อยู่ในบางขวางในสถานะของผู้ต้องขังจะได้มีโอกาสดี ๆ เช่นนี้” นี่คำพูดของ “นุกูล” นักเรียนคนหนึ่งในโครงการปั้นพระ เรือนจำบางขวาง
โครงการ “ปั้นดินให้เป็นบุญ” เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่างานพุทธศิลป์ คือการปั้นพระพุทธรูปจะช่วยเยียวยาจิตใจผู้ต้องขังโทษสูงของเรือนจำบางขวางให้มีสมาธิ ความสงบใจ เพื่อสามารถใช้ชีวิตในเรือนจำได้อย่างผู้ที่มีอิสระทางใจ และยังเป็นการน้อมบูชาคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ รุ่น 2 และโครงการปั้นภาพพุทธประวัติ เปิดดำเนินการขึ้นที่แดนการศึกษา เรือนจำบางขวาง เมื่อเดือนกันยายน 2558 – มิถุนายน 2559 โดยนำนักเรียนจาก “โครงการเรื่องเล่าแดนประหาร” รุ่น 3 และนักเรียนส่วนหนึ่งจากโครงการศิลปะของเรือนจำมาเข้าอบรม ส่วนโครงการปั้นภาพพระพุทธประวัติ มีการนำนักเรียนปั้นดินให้เป็นบุญ รุ่น 1 มาเรียนเพิ่มเป็นการต่อยอด โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยมีคณะครูผู้สอนหลักคือ คณาจารย์จากคณะมันฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธัมมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้เมตตาตั้งนามพระพุทธรูป 2 องค์จากผลงานนักเรียนในโครงการปั้นดินให้เป็นบุญ รุ่น 2 องค์แรกเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ชื่อว่า “พระพุทธธรรมิศรมงคล” มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นอิสระโดยธรรมเป็นมงคล และพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชื่อว่า “พระพุทธธรรมวิชัยมงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีชัยโดยธรรมเป็นมงคล”
“พลังความมุ่งมั่นของนักเรียนในโครงการนี้มีสูงมาก พวกเขามีศักยภาพที่อยู่ข้างใน การที่ได้ทำงานพุทธศิลป์ ยังทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้ไถ่โทษ ได้รับการอภัย นักเรียนของเราไม่ได้ปั้นพระด้วยมือ แต่ปั้นด้วยใจ ด้วยศรัทธาอันสูงส่ง” อาจารย์ยี่หร่า – ภูษิต รัตนภานพ (ครูใหญ่) กล่าวถึงนักเรียนในโครงการ
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ชุมพล (นักเรียน) เจ้าของผลงานปั้น “พระพุทธธรรมวิชัยมงคล” กล่าวถึงความรู้สึกว่า “ทันทีที่ได้รู้ข่าวว่าจะมีอาจารย์จากศิลปากรมาสอนปั้นพระ พวกเราดีใจกันมาก ตัวผมเองก็ดีใจที่แม้เราอยู่ข้างในก็ได้มีโอกาสเจออาจารย์ดี ๆ ถ้าอยู่ข้างนอกก็คงไม่ได้ทำอะไรดี ๆ เช่นนี้
“การเรียนปั้นพระทำให้จิตใจที่เคยฟุ้งซ่านสงบขึ้นมาก เพราะจิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ อารมณ์เย็นขึ้น และได้ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรมาบ้าง สิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี นอกจากนี้ยังทำให้ผมได้ค้นพบตัวเองว่าเราก็มีฝีมือในการปั้นเหมือนกัน แม้ตอนแรกกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำได้ เพราะเกิดความเชื่อและศรัทธาในตัวเอง”
วิมล (นักเรียน) ผู้ร่างแบบ “พระพุทธธรรมวิชัยมงคล” แม้จะมีแขนซ้ายเพียงข้างเดียว แต่ก็วาดแบบพระพุทธรูปได้อย่างงดงาม เขาเล่าถึงความรู้สึกเมื่อครั้งที่ได้เรียนการปั้นพระไว้ว่า
“ตอนแรกที่มาทำงานปั้นพระพุทธรูป ผมไม่คิดว่าทำได้ เพราะมีแขนซ้ายเพียงแขนเดียว แต่พอค่อย ๆ ทำไปก็ทำได้ เมื่อมีความตั้งใจก็เอาชนะอุปสรรคทางกายของตัวเองได้ ผมอยากทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด เพราะส่วนตัวยังไม่ได้บวชทดแทนบุญคุณพ่อแม่ อย่างน้อยก็ขอมอบบุญตรงนี้ให้แก่ท่าน”
นิทรรศการ “จากมือที่เปื้อนบาป สู่มือที่ปั้นบุญ” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 11 – 19 มีนาคม 2560 ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส สวนโมกข์กรุงเทพฯ ซึ่งคณะทำงานจะหล่อพระพุทธรูป 2 องค์นี้น้อมเกล้าฯ ถวายพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชกิติยาภา และถวายวัดปฏิบัติสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครพนมต่อไป
ท่านที่สนใจสามารถสมทบทุน “กองทุนปั้นดินให้เป็นบุญ” ได้ โดยติดต่อขอรายละเอียดที่ คุณอรสม 081-4550660 คุณพรทิพย์ 085-9177212