ไก่ตุ๋นมะระสองสหาย ถ้วยเด็ดสยบโกรธ อารมณ์เสีย
อากาศร้อนปรอทแตก ใครมาทำให้ฉุนอาจปรี๊ดได้ ถ้าคุณกำลังมีอาการแบบนี้ล่ะก็รีบโหลดสูตร “ไก่ตุ๋นมะระสองสหาย” นี้ไปกินด่วน เพราะนอกจากจะอร่อยแล้ว มะระยังมีสรรพคุณแก้โกรธหงุดหงิดได้ดี ส่วนจะดีแค่ไหน ไปฟังข้อมูลจากคุณหมออ้อม (พ.ญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป์) คอลัมน์นิสต์คนสวยประจำคอลัมน์ Nutrition Therapy นิตยสาร Health&Cuisine กัน
” มะระ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่เด่นชัดว่าช่วยลดอาการอักเสบได้ ทั้งนี้เพราะมะระเป็นพืชที่พิการในสายตาของ “Doctrine of Signature” กล่าวคือตามปกติต้นไม้ธรรมดาๆ เมื่องอกรากมั่นคง จะยืนต้นแผ่กิ่งก้านขึ้นไปหาแสงอาทิตย์ จากธาตุเย็นของดินที่มีความชื้นของน้ำเบื้องล่าง ค่อยๆ ถูกลำเลียงขึ้นสู่ใบและยอด ก่อนที่จะกระทบเข้ากับความร้อนและแสงแดดเกิดการสังเคราะห์แสงสะสมน้ำตาล จนได้ผลไม้รสหอมหวานที่สุกงอม
แต่พืชตระกูล Cucurbitales นั้น ไม่ว่าจะพยายามปีนหนีจากพื้นดินสักเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่สามารถยืดตัวเองให้ตั้งตรงได้ พืชประเภทแตงไม่ว่าจะเป็น แตงกวา ฟักทอง ไปจนถึงมะระ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้วิธีการเกาะก่ายตัวเองไปบนรั้วไม้หรืออิงอาศัยไม้ยืนต้นอื่นเพื่อจะยืดขึ้นไปรับความร้อนและแสงสว่างกับเขา
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อออกดอกออกผลแทนที่ผลจะได้รับความร้อนเข้ามาทำให้สุกและหวานหอม… มะระกลับต้องดึงเอาแสงและความร้อนลงมาที่ผลที่ห้อยเรี่ยๆ ดินแทน ผลของพืชกลุ่มนี้จึงมีลักษณะบวมเป่งฉ่ำน้ำ อีกทั้งยังมีรสขม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่ากระบวนการของความร้อนถูกเก็บกดเอาไว้แทนการนำไปสังเคราะห์เป็นน้ำตาล
จึงไม่แปลกใจที่สรรพคุณของมะระสอดคล้องกับการทดลองแกล้งหนูให้เกิดไข้ด้วยการฉีดสาร lipopolysaccharide (LPS) จากเยื่อหุ้มเซลล์แบคทีเรียแกรมลบเข้าไปที่ช่องท้องของหนูทดลองแล้วแบ่งหนูทดลองเป็นกลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ไม่ได้กินสารสกัดมะระ กลุ่มที่กินสารสกัดมะระ
พบว่าหนูที่กินสารสกัดมะระมีสารชีวเคมีที่เกี่ยวกับการอักเสบอย่างSGOT, SGPT, C-reactive protein, Nitric Oxide ที่ต่ำกว่า รวมไปจนถึงมีการหลั่งของ Proinflamatory cytokines (ไซโตไคน์ / สารสื่อการอักเสบ) อย่าง IL-1, IL-6, และ TNF-α ที่น้อยกว่าด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าระดับของไขมันในเลือด และระดับน้ำตาลของหนูทดลองที่ได้รับสารสกัด
มะระ ก็ดีขึ้นอีกด้วย
สาร TNF-α ที่ถูกหลั่งออกมาจากม้ามซึ่งเป็นอวัยวะรวมเซลล์น้ำเหลือง นอกจากจะกระตุ้นการอักเสบแล้วยังพบว่าถ้ามีปริมาณมากกว่าปกติ จะเป็นเหตุให้เกิดการพัฒนาของโรคภูมิแพ้ตนเองอย่างอย่าง SLE, รวมไปจนถึงภาวะอักเสบของน้ำดีได้ง่ายอีกด้วย
แล้วผลต่อจิตใจเล่า? เราอาจเคยได้ยินว่าผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบอย่างไข้สูงจะเพ้อคลั่ง ซึ่งนักวิจัยค้นพบความสัมพันธ์ว่า ใครที่มีระดับ TNF-α ในเลือดสูงจะมีโอกาสเกิดอาการจิตเภท (break psychosis) ได้ง่ายมากขึ้น
แพทย์องค์รวมคงพิจารณาเห็นความเชื่อมโยงดังกล่าวว่า ถ้าตับอักเสบ ตับร้อน ดีเดือด ก็จะมีนิสัยหงุดหงิด โกรธง่ายเป็นพื้น การกินสมุนไพรรสขมอย่าง “มะระ” ที่สามารถลดสารก่อการอักเสบอย่าง TNF-α ได้ ก็มีส่วนช่วยให้ผู้กินมีอารมณ์เย็นขึ้นได้ไม่มากก็น้อย”
ไก่ตุ๋นมะระสองสหาย
ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่ )
เตรียม นาที ปรุง นาที
โคนปีกไก่หรือเนื้อไก่ติดกระดูก 500 กรัม
มะระจีน 200 กรัม
มะระขี้นก 100 กรัม
เห็ดหอมแห้งแช่น้ำ 5 ดอก
รากผักชี 2 ราก
กระเทียม 3 กลีบ
พริกไทยดำเม็ด 5 เม็ด
ซีอิ๊วขาว ¼ ถ้วย
เกลือ 1-2 ช้อนชา
น้ำเปล่า 2-3 ลิตร
วิธีทำ
1.ล้างไก่ให้สะอาด ใส่ลงในหม้อเติมน้ำ ตั้งไฟแรงปานกลาง ต้มจนเดือดช้อนฟองออก ลดไฟลง ใส่รากผักชี กระเทียม พริกไทยทุบ
2.ผ่าครึ่งผลมะระควักใส้ในและเมล็ดออกหั่นชิ้นพอคำ แช่น้ำผสมเกลือ 30 นาที ล้างด้วยน้ำสะอาด พักให้สะเด็ดน้ำ
3.ใส่เนื้อมะระที่เตรียมไว้ลงในข้อ 1 ต้มจนเดือด หมั่นช้อนฟองออกห้ามคน พอเนื้อมะระเริ่มสุก ใส่เห็ดหอม ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว เกลือ (ปรุงรสตามชอบ) ต้มต่อจนไก่และมะระเปื่อยนุ่ม ยกลงจากเตา ตักใส่ถ้วยโรยหน้าด้วยผักชี พร้อมเสิร์ฟ
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 1,285.20 กิโลแคลอรี
โปรตีน 94.17 กรัม
ไขมัน 83.26 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 39.74 กรัม
ไฟเบอร์ 10.88 กรัม