ไอที

ไอธรรมนำ ไอที ตอน วรรณกรรมของคนมือบอน – ว.วชิรเมธี

ไอธรรมนำ ไอที ตอน วรรณกรรมของคนมือบอน – ว.วชิรเมธี

 โลกธรรม 8 คือ ธรรมที่เป็นกฎกติกาสามัญประจำโลก เราทุกคนที่เกิดมาในโลกต้องพบกับโลกธรรม ถ้าพบแล้วสามารถรับมือได้ โลกธรรมก็ยังคงเป็นธรรมดาของโลกแต่ถ้าเรารับมือไม่ได้ เจ้าโลกธรรมนี้จะกลายเป็น “โลกกระทำ” คือมันจะกระทำให้เราทุกข์แทบล้มประดาตาย

ถ้าโลกมันกระทำเราแทบล้มประดาตายแล้ว เรายังไม่ตื่น ยังไม่โต ยังไม่เต็ม… (ไม่ตื่น คือไม่รู้เท่าทันว่ามันเป็นธรรมดาของโลก ไม่โต คือยังไม่มีวุฒิภาวะว่าอยู่ในโลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละ และ ไม่เต็มก็คือ ยังไม่ได้เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ…) จากโลกธรรมธรรมดา  กลายเป็นโลกกระทำจากโลกกระทำจะกลายเป็นโลกกระทืบ

ช่วงนี้อาตมาก็งานเข้าหลายเรื่องเหมือนกัน  ทำวิทยานิพนธ์ไว้ตั้ง 10 ปีจู่ ๆ คนก็มาอ่านเอาปีที่ 10  อ่านกันทีก็อ่านทั้งประเทศเลย  ญาติโยมมักจะเรียกอาตมาว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” คืออยู่ในฐานะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่าย ๆ  แต่อาตมามักจะบอกเสมอว่า เราเป็นบุคคลสาธารณะก็จริงแต่ไม่ใช่ของสาธารณะ

บุคคลสาธารณะ คือ อยู่ในที่แจ้งเป็นบุคคลที่สังคมรู้จัก แต่ของสาธารณะนั้นหมายความว่า ใครจะมาใช้ร่วมกันก็ได้เช่น ห้องน้ำในวัด แต่บุคคลสาธารณะไม่ใช่ของสาธารณะอย่างนั้น

ฉะนั้น วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะได้ แต่ต้องทำด้วยความเคารพ ให้เกียรติเกรงอกเกรงใจ ไม่ใช่หยิบคำพูดบางคำหรือภาพบางภาพมารุมจิก รุมกัด รุมด่ารุมประณาม

บางคนเป็นนักวิจารณ์ตัวยง อย่างโยมคนหนึ่งมาเล่าเรื่องเจนนี่ให้ฟังด้วยความสนุกสนานบันเทิง พออาตมาถามว่า โยมรู้ข้อมูลลึกขนาดนี้อยู่ในเหตุการณ์หรือ

“เปล่าค่ะ”

“แล้วทำไมเล่าได้ขนาดนี้”

“อ่านจากในอินเทอร์เน็ตค่ะ”

อาตมาก็เลยบอกว่า “สมมุติกลับกันนะถ้าโยมตกเป็นข่าวเสียเอง แล้วคนอื่นเอาเรื่องของโยมมาเล่า ตีความวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเลยโยมเจ็บมั้ย”

“ก็น่าจะเจ็บนะคะ”

เห็นไหม คนจำนวนมากสนุกสนานเสมอเวลาพูดถึงคนอื่นในแง่ไม่ดีไม่งามแต่ถ้าตัวเองตกเป็นข่าวบ้าง ก็อยากจะฟ้องร้องคนอื่นทุกทีไป

ไอที

ในยุคสังคมข่าวสารข้อมูล เราทุกคนมีสิทธิ์ตกเป็นข่าว มีสิทธ์ถูกเข้าใจผิด เพราะใครก็เป็นนักข่าวภาคพลเมืองได้ เนื่องจากทุกคนมีอุปกรณ์ นั่นก็คือโทรศัพท์ ทุกวันนี้คนไม่อยากดูข่าวจากฟรีทีวี ช่อง 3 5 7 9แล้ว เลือกอ่านข่าวจากเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ไลน์ วอทส์แอพพ์ ง่ายกว่ากันเยอะ  เร็วและแรงด้วย แต่ในความเร็วและในความแรงนั้น ถ้าเราไม่เติมสติเข้าไป เราจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำและเป็นผู้ที่ไปกระทำคนอื่น

ท่ามกลางสังคมข่าวสาร ทุกคนต้องตั้งสติให้ดี อย่าไปทำให้ใครเจ็บช้ำน้ำใจ อย่าวิพากษ์วิจารณ์ใครโดยที่เราไม่มีข้อเท็จจริงอยู่ในมือ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องหาความรู้ก่อนเชิดชูความเห็น วิจัยก่อนวิจารณ์ หรือวิจารณ์โดยมีการวิจัยรองรับ

คนไทยเรานั้นมีอุปนิสัยชอบนินทาสมัยก่อนเรานินทากันแล้วก็หายไปกับสายลมแต่พอเข้าสู่ยุคของโซเชียลมีเดีย เรานินทาอยู่บนเฟสบุ๊ก ทวิตเตอร์ แล้วมันไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเขียน สิ่งที่เรานินทานั้น จะจริงหรือเท็จไม่รู้ แต่เมื่อหลุดจากมือเราไป ถ้าดีก็ส่งเสริมคนคนนั้นแต่ถ้าไม่ดีจะทำให้คนนั้นตกทุกข์ได้ยากบางทีถึงกับหมดอนาคต ฉะนั้นจะเขียนอะไรจะส่งอะไร จะกดไลค์ กดแชร์ ต้องคิดมาก ๆคิดลึก ๆ คิดนาน ๆ

อาตมาสังเกตว่า เวลาไปต่างจังหวัดและแวะเข้าห้องน้ำตามปั๊มหรือห้องน้ำสาธารณะมักจะได้อ่านวรรณกรรมที่อยู่หลังประตูห้องน้ำเสมอ อาตมาเรียกว่าวรรณกรรมของคนมือบอน ฉันใดก็ฉันนั้นถ้าเราเขียนข้อความลงบนโซเชียลมีเดียโดยขาดความยั้งคิด เราก็ไม่ต่างอะไรจากคนมือบอนในห้องน้ำ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้วยภูมิปัญญาขั้นต่ำ ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน

สิ่งที่เราเขียนบนโซเชียลมีเดียนั้น ถ้าเราเขียนดี มันจะส่งเสริมตัวเรา แต่ถ้าเราเขียนอะไรไม่ดี มันก็จะกลับมาดิสเครดิตลดความน่าเชื่อถือของเรา และบางกรณีมันก็กำลังประจานเราด้วย

เขียนดี เป็นศักดิ์เป็นศรีของชีวิต

เขียนไม่ดี เป็นความอัปรีย์ของชีวิต

ก่อนจะอัพสเตตัสของตัวเองทุกครั้งคิดให้ดี คิดให้นาน คิดให้ลึก เขียนออกไประบายออกไป คลิกนิดเดียว อ่านกันทั่วโลกรับรู้กันทั่วโลก

ฉะนั้นจะเขียนอะไรก็ตาม ต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าสิ่งนั้นดีสำหรับตัวเอง ดีสำหรับเพื่อนมนุษย์ และดีสำหรับสังคม ถ้าไม่…อย่าเขียน อย่าคลิก อย่ากดไลค์ อย่ากดแชร์ อย่าแบ่งปัน ให้มันจบที่เรา

ใครส่งมาให้เรา เราไม่จำเป็นจะต้องส่งต่อเสมอไป จะส่งต่ออะไรก็ตาม ต้องมั่นใจว่าเป็นข่าวสารที่ดี ถ้าเป็นขยะข้อมูลเป็นปฏิกูลข่าวสาร คลิกลงถังขยะซะ

            นี่แหละคือสติสัมปชัญญะสำหรับชาวไทยในยุคสื่อสังคมออนไลน์ 

 

photo by Janet13 on pixabay

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

บอก ไม่ต้องแบก บทความธรรมะที่ พ่อแม่ ควรอ่าน โดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.