เยียวยา โรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ด้วยตัวเอง
ยังมีบางคนถามว่า ถ้าต้องการเยียวยาตนเองให้หายป่วยจาก โรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อย่างบ.ก. หรือโรคร้ายแรงอื่นๆ มีหลักการอย่างไร จะต้องคิดหรือปฏิบัติอย่างไร
เอ่อม…หยุดคิดนิดหนึ่ง เพื่อย้อนทวนว่า เราเขียนเล่าไปเกือบหมดหรือหมดแล้วด้วยซ้ำ ถ้าอย่างนั้นเอาไงดี สรุปให้ฟังใหม่ล่ะกัน สั้นๆ ง่ายๆ เพื่อคนที่เคยติดตาม บ.ก. ขอแชร์มาตั้งแต่ต้นจะได้ไม่เบื่อ นั่นก็คือ
-
ยอมรับว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตความเจ็บป่วยใดก็ไม่ทำให้เราตาย
โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของตนเอง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคภูมิแพ้ ฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจมั่นที่จะปรับพฤติกรรมการกินอยู่ เช่น เลิกกินข้าวขาว เลิกกินน้ำตาล เลิกคิดลบ ฯลฯ อาการของโรคของเราย่อมทุเลาลง แม้จะไม่หายขาด แต่ก็ไม่ทำให้เราตายแหงแก๋แน่นอน
-
เชื่อมั่นในร่างกายของมนุษย์ว่า สามารถเยียวยาตนเองได้
นับเป็นภาคต่อของข้อ 1 ที่เราจะต้องมั่นใจว่า ร่างกายมนุษย์ซับซ้อนและมหัศจรรย์ ถ้าการนอนพักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น กินวิตามินซี ทำดีท็อกซ์ (แบบที่ชีวจิตแนะนำ) ช่วยให้หายไข้หวัดได้ โดยไม่ต้องไปหาหมอ ฉะนั้นการยกเครื่องปรับเปลี่ยนการกินทั้งหมด วิธีคิดต่อการใช้ชีวิตทั้งหมด ก็ย่อมหยุดโรคร้ายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคได้ หากเริ่มทำแล้ว ยังไม่หาย จงเชื่อว่า เรายังไม่ได้ทำอะไรบางอย่าง หรือทำบางอย่างน้อยเกินไป อย่าคิดว่า…ตาย ตาย ตายลูกเดียว ต้องตั้งมนต์สะกดตัวเองใหม่ หาย หาย หายลูกเดียว
-
เชื่อมั่นในหมอที่รักษาเรา
นั่นหมายความว่า ก่อนการรักษา เราต้องหาข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคและอาการของเราให้แม่นยำ เช่น ป่วยเป็นอะไร สาเหตุของโรคคืออะไร (สิ่งที่หมอบอกอาจไม่ตรงกันกับสิ่งที่เราอ่านเองจากหนังสือก็ได้) แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร มีคุณหมอท่านไหนบ้างที่ยอมรับทางเลือกในการรักษาโรคด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการแพทย์แผนปัจจุบัน หลังจากนั้นก็หาโอกาสเข้าไปพบและตรวจรักษากับหมอผู้เชี่ยวชาญท่านนั้น ทำตามคำแนะนำของท่าน และหากมีแนวทางการรักษาอื่น ที่นอกเหนือจากที่ท่านแนะนำ ซึ่งอาจไม่ใช่การแพทย์แผนปัจจุบัน ก็นำแนวทางการรักษาที่ว่า ไปขอคำแนะนำได้
เล่าถึงตรงนี้ แฟนเพจบางคนอาจไม่เห็นด้วย เพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติแบบที่บ.ก.บอก มีอยู่แต่ในฝันเท่านั้น ไม่จริงค่ะ ล่าสุด บ.ก.กับน้องทีมงานเพิ่งไปสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการ รพ. จุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ท่านบอกว่า แพทย์แผนปัจจุบันสมัยใหม่ยอมรับแนวทางการรักษาอื่นๆ มากขึ้น พร้อมจะช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งไขปริศนาการรักษาที่ล่ำลือกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็มีหลักในการเลือกง่ายๆ เช่น การแพทย์หรือคุณหมอท่านนั้นต้องไม่มีการค้าหรือสินค้าแอบแฝง (อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ก็สั่งสอนทีมงานนิตยสารชีวจิตมาแบบเดียวกัน…”เวลาจะเลือกหมอคนไหนมาสัมภาษณ์ลงในเล่ม ต้องดูนะว่า เขาทำธุรกิจ หรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือผลประโยชน์อื่นใดหรือเปล่า”…คำสอนของท่านยังเต็มสองหูเราจ้ะ)
จะว่าไป มีงานวิจัยกล่าวถึง ข้อดีของความเชื่อมั่นในหมอที่รักษาโรคของเราว่า จะช่วยลดความหวาดกลัว ทำให้อิมมูนซิสเต็มของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะร่วมมือกับหมอมากขึ้น ช่วยให้การรักษาโรคประสบความสำเร็จราบรื่น และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา
-
เชื่อมั่นในความรักของคนรอบตัว
ถ้าป่วยแล้วเพื่อนบางคน “เท” ก็ไม่ได้แปลว่า เพื่อนคนอื่นจะเทด้วยนี่นา หรือถ้าเพื่อนๆไม่ว่าง เราก็ยังมีครอบครัวที่พร้อมจะสู้ไปกับเรา บางทีเราอาจจะรักแม่ แบบที่ลูกทั่วไปรักแม่ เพราะให้กำเนิดชีวิต ดูแลเราจนเติบใหญ่ แต่เมื่อป่วย เราจะพบว่าความทุกข์ของเราคือความทุกข์ของแม่ ความอดทนอดกลั้นบางอย่างของแม่ แม่ทำไปเพื่อต้องการให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น และในทางกลับกัน ความทุเลาของโรคของเรา ก็คลายทุกข์ของแม่ได้ เหมือนเป็นการเคลื่อนภูเขาออกจากอกแม่ ช่วยให้แม่กลับมากินได้นอนหลับอีกครั้ง
สิ่งเหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่า หากเราล้ม แม่จะล้มด้วย หากเราลุกขึ้น แม่จะลุกด้วย ต่อให้วันนี้เราอายุเท่าไร (ย่างเข้าวัย New Gen Aging แล้ว) และแม่จะอายุเท่าไร แต่ความรักของแม่ที่มีให้เรา ก็ไม่ต่างจากตอนเราเป็นเด็กน้อย ร่างกายอ่อนแอคนนั้นเลย
-
ย้อนกลับมามองดูข้างในตัวเรา
แม้จะมีอาการ 32 เหมือนกัน อายุเท่ากัน เพศเดียวกัน ได้ดีกรีเดียวกัน แต่ข้างในมนุษย์ไม่มี Format ตายตัว บางคนไม่มีอีโก้ บางคนมี และมีมาก บางคนไม่มีความอดทน บางคนมี และมีมาก ฯลฯ ฉะนั้นเราจึงต้องมองดูข้างในตัวเราว่า อะไรที่เพี้ยนไปจากความธรรมดาของชีวิต หรือข้อธรรมะพื้นฐานที่กำหนดความสุข-ทุกข์ของมนุษย์ เช่น มักคาดหวังกับตัวเองเกินไปว่าจะเอาใจคนทุกคนได้พร้อมกัน ไม่ค่อยให้อภัยตัวเอง เมื่อเกิดความผิดพลาดในกระบวนการบางอย่างที่เราเข้าไปมีส่วนร่วม กล้าหาญและปกป้องใครต่อใครมากเกินไป…เหล่านี้ล้วนก่อความเครียดมโหฬาร (แม้จะปฏิบัติตัวได้ตามศีล 5 และสามารถละกิเลสแนวโลภ โกรธ หลงได้บ้างแล้วก็ตาม)
การย้อนกลับมามองดูข้างในตัวเราแบบนี้ จะช่วยให้มองเห็นความ “เยอะ” บางอย่าง ที่ทำร้ายสุขภาพตนเองอยู่ แล้ว “ปล่อย” มันออกไปบ้าง
ขอสรุปเหล่านี้ น่าจะสำคัญพอที่จะเป็นหลักการ แนวคิด และวิธีปฏิบัติ เพื่อรักษาโรคร้ายของตนเองได้