เดินป่า, แก้เครียด, กิจกรรม, ออกกำลังกาย, สร้างภูมิคุ้มกัน, ลดความดันโลหิต

ชวนเดินป่า แก้เครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน @เขาใหญ่

แก้เครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน เดินป่า @เขาใหญ่

วิธี แก้เครียด ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำได้จริงหรือ ขอบอกเลยว่าจริงสุดๆ เพราะธรรมชาติช่วยเยียวยาจิตใจและขับไล่ความทุกข์ ความขุ่นมัวจากชีวิตในเมืองใหญ่ อีกทั้งในทุกๆ ก้าว ยังช่วยให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวด้วย

”ขุ่นลูก” เป็นสายรักแมลง หอยทาก และต้นไม้ ส่วน “ขุ่นแม่” และ ”ขุ่นพ่อ” ออกแนวอยากหา กิจกรรมคลายเครียดและเพิ่มความฟิตให้ร่างกาย บ้านเราจึงออกสำรวจป่ากันอยู่บ่อยๆ ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราไปค่ายธรรมชาติ ตามหาสิ่งมีชีวิตที่มี “สปอร์” ที่น้ำตกเจ็ดคต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ก่อนออกเดินทาง ขุ่นลูกอายุ 7 ขวบ ส่วนขุ่นพ่อและขุ่นแม่อายุเกือบ 40 ขวบ  เราทุกคนต้องเตรียมร่างกายและอุปกรณ์ของตัวเองให้พร้อม รองเท้าเดินป่าที่สามารถลุยน้ำได้และพื้นรองเท้าที่มีความยืดเกาะต้องมาค่ะ อันเนื่องจาก ช่วงเวลาที่ไปคือ หน้าฝนพอดี น้ำเต็มลำธาร หินและดินโคลนลื่นขั้นเทพ หากสวมรองเท้าไม่เหมาะ มีหน้าทิ่ม ก้นจ้ำเบ้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเดินป่า (แต่หากป้องกันได้ก็จะดีมากค่ะ)

และในเป้จะมีกล่องอาหารกลางวันและกระติกน้ำที่แบกไปแล้วต้องแบกกลับออกมาจากป่าด้วยทุกครั้ง เป็นกติกาสากลหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่า เวลาเห็นขยะหรือถุงพลาสติกในป่าแล้ว อยากให้เทวดาลงโทษคนทิ้ง (โหดไปป่าวไม่รู้)

เดินป่า, แก้เครียด, กิจกรรม, ออกกำลังกาย, สร้างภูมิคุ้มกัน, ลดความดันโลหิต
เดินป่า กิจกรรมแก้เครียด ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

เมื่อใจพร้อม อุปกรณ์พร้อม เด็กๆพร้อม ครูเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ วิทยากรในค่ายนี้ พาเด็กๆและผู้ปกครองข้ามลำธารใหญ่ไปหยุดสำรวจ ก้อนหินก้อนเล็กๆที่มีสิ่งมีชีวิตสีเขียวขึ้นปกคลุมอยู่ ครูเกรียงถามทุกคนว่า รู้จักไหมครับว่า คืออะไร “ตะไคร่น้ำ” ครับ/ขา

“เกือบถูกครับ แต่ไม่ใช่” ครูเกรียงว่า มันคือ “มอสส์” แล้วเปิดประเด็นโดนๆว่า มอสส์เป็นพืชขนาดจิ๋วแต่เกิดก่อนโดโนเสาร์ตัวโตเสียอีก ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี พร้อมมีเสียงวิจารณ์ให้แซดเลยว่า “มันต้องแก่มากๆ เลยนะแม่”  และเพราะเกิดก่อนใครๆ เลยไม่มีท่อลำเลียง ราก ลำต้น และใบที่แท้จริง  แต่มอสส์จะดูดซึมน้ำและแร่ธาตุผ่านส่วนที่ดูคล้ายใบเรียกว่า ไรซอยด์ ที่สำคัญคือ มอสส์เป็นพืชไม่มีดอก จึงต้องแพร่พันธุ์ด้วยสปอร์

ครูเกรียงให้เด็กสังเกตดีๆ ก็จะพบก้านชูสปอร์และอับสปอร์เป็นกระเปราะรีๆอยู่ปลายก้านซึ่งจะพบมากในหน้าฝนที่สภาพอากาศชุ่มชื้น เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ เป็นที่มาว่า ที่ป่าหน้าฝนดูสวยงามก็มาจากมีพรมสีเขียวอย่างมอสส์ปูลาดอยู่ทั่วผืนป่านั่นเอง

จบจากสถานี “มอสส์” เราเดินทางกันต่อไปตามเส้นทางป่า บางช่วงเป็นพื้นโคลนลื่น บางช่วงเป็นอุโมงค์ต้นไม้ ต้องก้มตัวเดินรอดไปทีละคน บางช่วงข้ามลำธารน้ำเชี่ยวต้องไต่ราวเชือกไปทีละคน โดยมี มนุษย์พ่อและมนุษย์แม่มาช่วยเป็นสะพานเชือกพาเด็กๆข้ามไปถึงฝั่งชั้นหนึ่ง

มอส, เดินป่า, กิจกรรม, แก้เครียด, ลดความดันโลหิต, เสริมสร้างภูมิคุมกัน
มอส พืชขนาดจิ๋วพบได้ในป่าที่มีสภาพอากาศชุ่มชิ้น

แน่นอนว่า ครั้งแรกที่ก้าวข้ามลำธาร เด็กๆย่อมมีความหวาดกลัว หวั่นไหวเป็นธรรมดา แต่เมื่อผ่านลำธารแรกแล้ว ความกลัวก็ลดลง ความสนุกสนานและมั่นใจในตัวเองก็เพิ่มขึ้นตามระดับความเปียกของขากางเกง

พวกเราเดินมาหยุดยืนอยู่ในป่าบริเวณหนึ่งที่รู้สึกถึงความชุ่มชื้น มองไปรอบๆ เห็นดอกเห็ดสีส้มๆ ขึ้นอยู่บนกิ่งไม้แห้ง ครูเกรียงจึงบอกเด็กๆว่า เราพบสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ สปอร์ในการสืบพันธุ์ นั่นคือ เห็ด เห็ดไม่จัดว่าเป็นพืช เพราะไม่มีคลอโรฟิลล์สำหรับสังเคราะห์แสงและไม่มีท่อลำเลียงอาหาร

และเห็ดที่เด็กๆเห็นอยู่ตรงหน้าเรียกว่า “เห็ดถ้วยส้ม” เป็นเห็ดไม่มีพิษ กินได้ แต่ชาวบ้านไม่นิยมกินเพราะรสชาติไม่อร่อย ส่วนเห็ดที่พบแล้วเรียกเสียงฮือฮาให้ขุ่นแม่คือ “เห็ดหลินจือ” ที่นำมาทำผลิตภัณฑ์สุขภาพราคาแพง หะแรกนึกว่าจะมีเฉพาะแต่ในฟาร์มเห็ดเท่านั้น ในป่าเขาใหญ่ก็มีด้วยเหมือนกัน แต่ก็พบไม่มาก และที่สำคัญห้ามผู้ใดเก็บเด็ดขาด ลักลอบนำของป่าออกจากอุทยานฯ ผิดกฎหมายจร้า

แล้วเด็กๆก็ได้พบเห็ดตามรายทางอีกหลายชนิด ทั้ง เห็ดปะการัง รูปร่างหน้าตาเหมือนปะการังเป๊ะ เห็ดดาวดิน นั่นก็รูปร่างคล้ายดวงดาวแต่ที่ขึ้นอยู่บนดิน ขุ่นแม่ให้คะแนนคนตั้งชื่อเต็มร้อย

ก่อนที่ทุกๆคนจะมาหยุดพักกินข้าวกลางวันกันที่ น้ำตกเจ็ดคต ซึ่งฤดูนี้น้ำเยอะและไหลแรงมาก น้ำตกทิ้งละอองกระเซ็น เย็นชื่นใจ เมื่อเด็กๆกินข้าวเสร็จ ก็เก็บขยะบรรจุลงในเป้ของตัวเองเรียบร้อย จากนั้นก็ถึงเวลาเล่นน้ำตก ทุกคนกลายร่างเป็นฉลามหนุ่ม เงือกสาว ว่ายไปเกาะโขดหินก้อนโน่นก้อนนี่ สนุกเขาเลยล่ะ

ส่วนบรรดาขุ่นแม่และขุ่นพ่อ เรานั่งลงบนก้อนหิน พักแข้ง พักขา รับละอองเย็นๆของน้ำตก มองผีเสื้อหลากสีบินโฉบไปมา บางตัวเกาะลงบนเป้ที่ชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อเพื่อแบ่งปันแร่ธาตุโซเดียมจากตัวเรา มองลูกไป มองกอเฟิร์นบนต้นไม้ไป ณ โมเม้นต์นี้ คือ การขับพิษออกทางร่างกายและจิตใจขั้นเทพ

ทำให้เข้าใจงานวิจัยเรื่องหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาอย่างถ่องแท้เลยว่า การได้เดินป่า ได้อยู่ใกล้ชิดต้นไม้และธรรมชาติ (เหมือนที่อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตแนะนำ) จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ลดความดันโลหิต และลดความเครียดในร่างกาย

และที่สำคัญ ขุ่นแม่อย่างฉันเชื่อว่า อย่างน้อยไขมันที่เกาะอยู่ตามต้นขาและหน้าท้องต้องถูกเบิร์นไปแล้วอย่างน้อยครึ่งขีด


บทความน่าสนใจอื่นๆ

คุณหมอแอนดรูว์ ไวล์บอกตรง 10 แพทย์ทางเลือก แก้เครียดถาวร

กองทัพ ผัก-ผลไม้ต้านเครียด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.