6 วิธี เปลี่ยนตัวเองใหม่ ในแบบชาวพุทธ
หากเราจะ เปลี่ยนตัวเองใหม่ ในวิถีชาวพุทธ วันนี้ซีเคร็ตขอน้อมนำธรรมะจากพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปัญฺโญ) หรือท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านเจ้าคุณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้ทุกท่านมีแต่ความสุขใจสบายจิตไปตลอดปี ตลอดไป ดังนี้
1. ทำดีและมีสุขให้มากกว่าเดิม
เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับการขอพรจากพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเป็นอย่างดี โดยหลงลืมไปว่า เราสามารถอำนวยพรให้เกิดแก่ชีวิตของตนได้ด้วยการทำความดี ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า
“ความดีนั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วร หรือ พร คำว่า พร หรือ วร ก็ดี แปลว่า ความดี การทำความดีย่อมเป็นพรอยู่ในตัวความดีนั้นเอง ไม่ต้องไปแสวงหาความดีที่ไหนอีก ไม่ต้องขอจากใครก็ได้ เพราะว่าเมื่อมีการทำความดีแล้ว ก็ย่อมจะเป็นพรอยู่ที่ตัวความดีนั้น”
ทั้งนี้ท่านแนะแนวทางการทำดี ก็คือ “ทำดีให้มันดีกว่าปีที่แล้วมา ทำดีให้มันยิ่งกว่าปีที่แล้วมา ก็ได้ดี ได้พร ได้อะไรยิ่งไปกว่าปีที่แล้วมา” ดำรงตนบนความไม่ประมาท
2. เป็นบุคคลที่อยู่เหนือกาลเวลา
ท่านพุทธทาสแบ่งเวลาออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ เวลาตามธรรมชาติ และเวลาที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมนุษย์ โดยท่านได้อธิบายขยายความว่า
“ถ้าเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่เกี่ยวกับคนเรา มันก็อาศัยการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จากจุดที่ตั้งต้นเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป
“ทีนี้ก็เวลาที่มันมีปัญหาก็คือเมื่อมันมาเกี่ยวกันกับคนเรา เมื่อคนเราเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าเวลา เวลาก็เป็นปัญหาขึ้นมา จนจัดเป็นเรื่องสำคัญ เช่นต้องทำทันแก่เวลา ให้ถูกเวลา อย่างนี้เป็นต้น ถ้าทำไม่ถูกแก่เวลามันก็เสียหายหมด ฉะนั้นเวลาที่เกี่ยวกับมนุษย์นี้จึงมีความสำคัญ และยังจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายมนุษย์ให้เกิดความทุกข์ก็ได้”
3. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
เราทั้งหลายสามารถประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ในหลายระดับ ระดับใหญ่ที่สุดได้แก่ระดับสังคมโลกที่เราอยู่ ท่านพุทธทาสกล่าวถึงประโยชน์ของการทำเพื่อผู้อื่นว่า
“การทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น มันดีวิเศษหลายอย่างหลายประการ คืออย่างน้อยมันก็มีความสุขยิ่งกว่าที่เราจะทำอะไรเพื่อหล่อเลี้ยงตนเอง
“เมื่อเห็นผู้อื่นสัตว์อื่นมีความสุข ตัวเองก็พลอยมีความสุขด้วย นี้มันเป็นกฎธรรมดาหรือกฎของธรรมชาติอันลึกซึ้งอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่า ถ้ามันให้ไปด้วยจิตใจที่เสียสละ หรือบริจาคจริง ๆ แล้ว ตอนนั้นมันก็หมดตัวกู – ของกู ไปพักหนึ่ง ขณะหนึ่ง ขณะที่หมดตัวกู – ของกูนั้น มันมีความรู้สึกเป็นสุขอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งลึกซึ้ง ประณีต อย่างบอกไม่ถูก แต่รู้สึกได้ว่ามีความสุข”
4. ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
เมื่อประพฤติตนให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นแล้ว ก็ต้องรู้จักดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองด้วย โดยในฐานะปุถุชนคนธรรมดาก็สามารถทำได้ด้วยการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมในแบบฉบับของฆราวาส ท่านพุทธทาสแนะนำว่า
“สำหรับฆราวาสที่อยู่บ้านอยู่เรือน ครองบ้านครองเรือนนั้น ถือกันว่าอยู่ในระดับที่ต่ำลงไป คืออยู่ในวิสัยที่จะต้องเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่เรียกว่า เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรตินั้นมากกว่าบรรพชิต
“เรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ ๓ อย่างนี้ ๓ เรื่องนี้ ถ้าทำไม่ดี จะกลายเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์อย่างใหญ่หลวงแก่บุคคลนั้น และพาดพิงไปถึงผู้อื่นด้วย จะต้องระมัดระวังให้เป็นการหามาอย่างถูกต้อง การใช้สอยหรือการบริโภคอย่างถูกต้อง หรือการเก็บไว้สงวนไว้ อะไรก็ตามอย่างถูกต้อง อย่าให้เป็นเรื่องโง่เขลาหรือเป็นเรื่องมัวเมาไปด้วยอำนาจของกิเลสเลย”
5. ปล่อยวางได้ ไม่ยึดติดถือมั่น
คนส่วนใหญ่มองว่า การใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบันที่ต้องแข่งขันกันเพื่อเอาชีวิตรอดทำให้เรายิ่งยึดติดถือมั่น และปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ รอบกายได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเสมือนสาเหตุที่ทำให้เราต้องอยู่ในวงจรของความทุกข์ไม่รู้จบสิ้น ด้วยเหตุนี้ เราทั้งหลายจึงต้องเรียนรู้ที่จะวางให้ลง ปลงให้ได้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า การจะปล่อยวางได้นั้น เราต้องเข้าถึงธรรมดาให้ได้เสียก่อน ซึ่งธรรมดาในที่นี้แปลว่า สภาวะของธรรมชาติ หรือความเป็นไปของธรรมชาติที่เราจะต้องเกี่ยวข้องโดยปกติ และเมื่อเข้าใจธรรมดาแล้ว เราก็จะรู้ว่า
“สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันก็มีความเป็นไปในลักษณะที่ว่า มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะทำอะไรขึ้นมา มันก็จะมีว่าเป็นของใหม่ คือเกิดขึ้นมาใหม่ แล้วต่อจากนั้นก็เก่าลงไป เก่าลงไป นาน ๆ เข้าก็เสื่อมสลายไป ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ลักษณะเช่นนี้คือความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นความที่คงอยู่ไม่ได้ และไม่มีตัวตนของมันเอง”
6. เป็นผู้ที่อุดมด้วยอริยทรัพย์
ในทางพระพุทธศาสนา เราสามารถแบ่งทรัพย์ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ธนทรัพย์ และอริยทรัพย์
ธนทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินเงินทองที่เราหามาและใช้ไปในชีวิตประจำวัน ทรัพย์ประเภทนี้อยู่กับเราได้เพียงในยามที่มีลมหายใจ แต่อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่จะติดตัวเราไปอีกหลายภพหลายชาติ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึง อริยทรัพย์เอาไว้ว่า
“อริยทรัพย์เป็นเสมือนทิพย์สมบัติ ถ้าผู้ใดหมั่นสร้างหมั่นสะสม จะเพิ่มพูนบารมี ทำให้อิ่มเอิบใจ มีแต่ความสุขความเจริญ กินใช้ไม่หมดทั้งในภพนี้และภพหน้า”
มนุษย์เราจะมีอริยทรัพย์ได้ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
- ศรัทธา คือ ความเชื่อ ควรเชื่อในสิ่งที่สมเหตุสมผล
- หิริ คือ ความละอายต่อบาป จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมรู้ดีว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรเว้น
- โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อบาป
- พาหุสัจจะ คือ หมั่นศึกษาหาความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม จะได้ช่วยให้เรารู้เท่าทันในทุกปัญหาในทุกเหตุการณ์ของโลกของบ้านเมือง
- จาคะ คือ การให้ปันสิ่งของแก่คนที่สมควรให้ การให้ต้องให้ด้วยจิตเป็นกุศล ด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยเงินบริสุทธิ์
- ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์
หากทุกคนปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว เชื่อว่าจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติ และมีความสุขมากขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก:
- สะสางปัญหาชีวิตในวันปีใหม่ โดย พุทธทาสภิกขุ
- ปีใหม่มีสำหรับดีกว่าปีเก่า โดย พุทธทาสภิกขุ
- พรสำหรับปีใหม่ โดย พุทธทาสภิกขุ
- พรปีใหม่ ขอให้โยม “ได้มองเห็นธรรมดา” โดย ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
บทความน่าสนใจ
Dhamma Daily : เจอ คนเอาแต่ใจ ไม่ยอมเปลี่ยนตัวเอง พุทธศาสนาช่วยได้ไหมคะ