อาหารแก้ง่วง เมนู “ซุปคุณย่า” ต้านง่วงเหงาหาวนอน
เมื่อความง่วงเหงาหาวนอนไม่ได้มาเยือนเพียงยามราตรี แต่คุกคามชีวิตประจำวันจนก่อความรำคาญ บทความนี้จึงขอแจงให้คุณทราบถึงที่มาของอาการง่วงไม่หยุด และวิธีการรักษาเยียวยาโดยไม่ต้องพึ่งกาแฟกัน แต่ใช้ อาหารแก้ง่วง
ต้านง่วงเหงาหาวนอนด้วย “ซุปคุณย่า (อู่เจ็งซิ้ง)”
คุณเคยมีอาการง่วงนอนบ่อยๆในเวลาทำงานหรือยังไม่ถึงเวลานอนหรือไม่ บางคนตื่นนอนแล้วยังรู้สึกง่วงและไม่ค่อยสดชื่น บางคนง่วงหาวนอนทั้งวัน บางคนพอวันหยุดก็นอนทั้งวัน บางคนง่วงหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ พอได้งีบหลับสักพักก็ดีขึ้น บางคนหน้าตาดูไม่สดชื่น หาวทั้งวัน บางคนต้องพึ่งชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อกระตุ้น ให้ตื่นหรือสดชื่น แต่พอหมดฤทธิ์การกระตุ้น เหมือนแบตเตอรี่หมดหรือนอตหลุดก็มีค่ะ บางคนถึงขั้นวูบหลับก็มี ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมากถ้าอยู่ในช่วงขับรถหรือกำลังทำงานที่มีความเสี่ยงต่างๆ อยู่
อาการง่วงเหงาหาวนอนที่พบโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุเพียงไม่กี่ประการ เช่น เป็นหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอนมาหลายวัน อยู่ในระหว่างการเจ็บป่วยเป็นไข้ อาการโดยทั่วไปมีหลายสาเหตุ เช่น จากยารักษา อาการหวัด (ยาแก้หวัดลดน้ำมูก) แต่ในปัจจุบันแพทย์อาจให้ยาที่ไม่ทำให้เกิดอาการง่วง อยู่ในระหว่างการเจ็บป่วยหรือพักฟื้นจากการเจ็บป่วย หลังรับประทานอาหารซึ่ง สาเหตุจากเลือดมาเลี้ยงที่บริเวณกระเพาะ อาหารมากในช่วงการย่อยอาหาร ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดจากการใช้สมองหนักและพักผ่อนไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดอาการสมองล้า เกิดจากนอนพักผ่อนไม่พอ เช่น มักฝันบ่อย ๆ มีเรื่องวิตกกังวล คิดมาก เป็นต้น
ในทางการแพทย์แผนไทยมองว่า อาการง่วงเหงาหาวนอนกลางวันนั้น ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับธาตุลม (ลมพัดขึ้นเบื้องบน) และการทำงานเกินกำลังทั้งด้านร่างกายและสมอง โดยปัจจัยหลักเกี่ยวกับวาตะ (การไหลเวียนของเลือดและการทำงานของระบบประสาทสมอง) ถ้าวาตะไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (วาตะเสียสมดุล) จะส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ได้ เช่น มึนงง วิงเวียน อาการสมองล้า ง่วงหาวนอน เป็นต้น เพราะไม่สามารถพัดพาโลหิตไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ
การลดปัญหาที่ทำให้ง่วงหาวนอนมีหลาย วิธีดังนี้ เช่น
- ดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เช่น น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ชา กาแฟ
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ พร้อมหายใจเข้าลึก ๆ ออกยาว ๆ ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วดื่มน้ำเย็นหรือน้ำผลไม้
- หาที่ที่จะงีบหลับในช่วงเวลา 20 – 30 นาที แล้วล้างหน้าด้วยน้ำเย็นเพื่อเพิ่มความสดชื่น
- หาเครื่องดื่มที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้สดชื่น ลดการเหนื่อยล้า
- พยายามเข้านอนในช่วงเวลาไม่เกินสี่ทุ่ม เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ
- ถ้ามีความวิตกกังวลควรหาทางลดหรือแก้อาการวิตกกังวล เช่น การฟังเพลงสบายๆ หางานอดิเรกทำ ฝึกสมาธิ หรือกิจกรรมอื่นตามที่ชอบ
- รับประทานอาหารที่บำรุงสมองและกระตุ้นการทำงานของสมอง พร้อมยังส่งเสริมให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ซึ่งในทางแพทย์แผนไทยจะแนะนำว่า หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น ให้ปรับมารับประทานอาหารที่มีรสสุขุมร้อน หรือมีน้ำมันหอมระเหย หรือรสเปรี้ยว ซึ่งจะเสริมการทำงานของธาตุลมและธาตุไฟเพื่อปรับสมดุลของธาตุ (การไหลเวียนและระบบประสาท) หรือจะใช้เครื่องยาที่มีสรรพคุณช่วยให้การไหลเวียน โลหิตขึ้นสู่สมองได้ดีขึ้นก็ได้ อย่างเช่นเมนู ที่ดิฉันขอนำเสนอในครั้งนี้นั่นเอง
ซุปคุณย่า (อู่เจ็งซิ้ง)
โดย อาจารย์วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย
ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่) เตรียม 30 นาที ปรุง 2 ชั่วโมง
- โครงกระดูกไก่ แล่ไขมันออกให้หมดแล้วลวก น้ำเดือดจัด 1 ตัว
- รากผักชี 5 ราก
- กระเทียม 5 กลีบ
- พริกไทยเม็ด 20 เม็ด
- โกษฐ์เชียง 10 กรัม
- ขิงแก่ 5 แว่น
- โสมเอี่ยเซียม 8 กรัม
- เม็ดบัว 100 กรัม
- รากบัวสดหั่นเป็น แผ่นบาง 100 กรัม
- ลูกเดือย 100 กรัม
- เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 1 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลกรวด 1 ช้อนชา
- น้ำเปล่า 15 ถ้วย
วิธีทำ
1. ใช้มีดทุบโครงไก่ที่ลวกแล้วให้ยุบตัว พักไว้ เรียงโกษฐ์เชียง ขิงแผ่น พริกไทย กระเทียม รากผักชีใส่หม้อ ตามด้วยโครงไก่ รากบัว ลูกเดือย เม็ดบัว โสมเอี่ยเซียม เกลือ ใส่น้ำลงในหม้อตุ๋น ต้มจนเดือด หมั่นช้อนฟองทิ้ง แล้วหรี่ไฟลง ตุ๋นนาน ประมาณ 2 ชั่วโมงโดยต้องปิดฝา
2. ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อย ชิมดูให้มีรสเค็มอ่อน หวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมของเครื่องยา น้ำซุปจะเป็นซุปใสสีน้ำตาลอ่อนและต้องไม่มีไขมันลอย กรองแต่น้ำซุปมารับประทานอุ่นๆ พร้อมกับรากบัว เม็ดบัว ลูกเดือยที่ต้มในหม้อ
TIP
โสมเอี่ยเซียม โกษฐ์เชียง (ชวนเกียง) มีจำหน่ายตามร้านขายยาจีน
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 129.48 กิโลแคลอรี
โปรตีน 5.53 กรัม ไขมัน 2.24 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 21.77 กรัม ไฟเบอร์0.30 กรัม
อาหารแก้ง่วง แบบอื่นๆ คลิก