ลดอ้วน ลดโรค
ชวนคุณมา ” ลดอ้วน ลดโรค ” ลดอาการปวดเข่ากัน ด้านคุณหมอสุมาภา ชัยอำนวย หรือคุณหมอยุ้ย เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อซึ่งความผิดปกติของกระดูกและข้ออาจไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นความตายของคน
แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก นอกจากนี้การรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกและข้อจำเป็นต้องใช้เวลานาน จึงทำให้คุณหมอมีโอกาสดูแลคนไข้นานๆ ซึ่งทำให้เห็นปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขควบคู่กัน
ดิฉันเป็นอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ ดูแลคนไข้ที่มีอาการปวดข้อต่าง ๆ โรคที่พบบ่อยและดูจะบ่อยขึ้นทุกๆ วันคือ โรคข้อเสื่อมและโรคเกาต์
ซึ่งพบว่า “โรคอ้วนจะแสลงต่อโรคข้อ” หมายความว่า ถ้าลดน้ำหนักลงจะทำให้อาการต่าง ๆ เกี่ยวกับข้อดีขึ้น
ขอเล่าตัวอย่างคนไข้ที่มาปรึกษาด้วยอาการปวดเข่า เธอมีอายุ 58 ปี ส่วนสูง 163 เซนติเมตร น้ำหนัก 78.3 กิโลกรัมมีอาการปวดเข่าทั้งสองข้างมานานราว 5 ปี และมีอาการมากเวลาทำงานบ้านหรือเดินไกลๆ
เธอไปพบแพทย์มาหลายแห่ง โดยมากจะวินิจฉัยว่าเธอเป็นโรคข้อเสื่อม และได้รับการรักษาด้วยการกินยา ซึ่งทำให้เธอมีอาการแสบท้อง ต้องหาอะไรกินเพิ่ม จึงยิ่งทำให้น้ำหนักมากขึ้นแต่หากหยุดยา อาการปวดก็จะกลับมาอีก สุดท้ายจึงไปซื้อยาลูกกลอนกินเอง ซึ่งช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยาได้
เป็นที่ทราบกันดีว่า การลดความอ้วนที่ถูกต้องคงหนีไม่พ้นเรื่องของการปรับพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกายปัญหาการลดความอ้วนในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือวิธีการออกกำลังกาย เพราะคนปวดเข่าไม่สามารถลงน้ำหนักได้มาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายด้วยการเดินหรือการวิ่ง
นอกจากนี้เวลามีอาการปวดเข่า ผู้ป่วยจะไม่อยากเคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้น้ำหนักมากขึ้นได้อีก
ปัญหาอีกประการหนึ่งของคนปวดเข่าคือ การกินยาแก้ปวดบางตัวมีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้ต้องกินอาหารมากขึ้น ส่งผลให้ยิ่งอ้วนขึ้นเป็นลำดับ ดังเช่นคนไข้รายนี้
เมื่อได้ตรวจร่างกายพบว่า ความดันโลหิตของเธอสูงเล็กน้อยข้อเข่าไม่บวมและไม่มีโครงสร้างผิดปกติ คือไม่พบว่าขาโก่งกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่ายังแข็งแรง ไม่ลีบฝ่อ โครงสร้างของเข่ายังดีอยู่
การรักษาเริ่มจากการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย ผลการตรวจพบว่า ร่างกายเธอสมบูรณ์แข็งแรงดีมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อย แต่ไม่ถึงเกณฑ์โรคเบาหวาน
ลำดับต่อมาจึงวิเคราะห์อุปนิสัยการกินอาหารที่เธอชอบ คือของทอดและผัด ไม่ชอบกินจุบจิบ กินเป็นมื้อใหญ่
การลดความอ้วนให้ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยปวดเข่าควร “หาทางสายกลาง” ของตนเองให้พบ โดยแต่ละบุคคลจะมีโปรแกรมการลดน้ำหนักที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันอุปนิสัยส่วนตัว อาชีพ เพศ วัยของผู้ปฏิบัติ เป็นหนทางที่สามารถทำได้โดยไม่ฝืนตนเอง
อาหารที่กินควรเป็นจำพวกให้พลังงานต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ไม่หวาน งดเนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เลือกกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์สีขาวหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้งดอาหารหวานและมัน
ควรกินให้ครบทุกมื้อ ไม่ควรอดมื้อใดมื้อหนึ่ง ปรุงอาหารด้วยวิธีนึ่ง อบ ต้ม แทนการทอดหรือผัดด้วยน้ำมัน
เมื่อได้ฟัง เธอจึงตั้งใจว่าจะงดอาหารผัดและทอดนอกจากนี้หมอยังแนะนำให้กินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด “อย่างมีสติ” เพราะกว่าอาหารที่กินเข้าไปจะถึงศูนย์หิวศูนย์อิ่มในสมองต้องใช้เวลา 20 นาที คนอ้วนมักกินเร็ว ทำให้ได้รับปริมาณอาหารมากเกินความต้องการ
ลำดับต่อมาจึงวิเคราะห์อุปนิสัยการออกกำลังกายการขยับตัว ซึ่งเธอไม่ชอบ เพราะทำให้อาการปวดเข่าแย่ลงหมอจึงแนะนำการออกกำลังกายที่ไม่ทำให้ปวดเข่าและเหมาะกับอุปนิสัย สามารถทำในท่านอนหรือท่านั่ง โดยให้นอนตะแคงยกขาขึ้นลงสลับซ้ายขวา แล้วนอนหงายยกขาขึ้นลงสลับซ้ายขวา หรือยกพร้อมกันเลยก็ได้ถ้าทำไหว ทำต่อเนื่อง 20 – 30 นาทีต่อวัน และสามารถบรรจุเข้าไปในชีวิตประจำวันได้
เธอชอบดูละครช่วงค่ำ จึงให้ออกกำลังกายพร้อมกับดูละคร และยังแนะนำท่าที่ช่วยฟื้นฟูสภาพเข่า เพราะถ้าไม่เคลื่อนไหวข้อที่ปวดเลย ข้อจะแข็งขัดและเคลื่อนไหวลำบากในที่สุดกล้ามเนื้อจะอ่อนแอ
จุดประสงค์ของการออกกำลังกายฟื้นฟูสภาพเข่าในผู้ที่มีอาการปวดเข่าเพื่อให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่น เคลื่อนไหวได้ง่ายคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเกราะกำบังข้อนั้น ๆ
วิธีการคือ นอนหงายโดยเหยียดเข่าตรง กดขาลงให้ติดพื้นพร้อมกับกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ประมาณ 10 - 15 วินาทีทำเป็นเซต เซตละ 12 - 15 ครั้ง สลับซ้ายขวาข้างละ 3 เซตและสามารถเพิ่มจำนวนได้
การเกร็งเข่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงโดยไม่ต้องขยับข้อต่อ จะมีผลดีต่ออาการปวดเข่ามาก หลังจากออกกำลังกายแล้วไม่ควรมีอาการปวดเพิ่มขึ้น ควรทำร่วมกับการประคบร้อนและเย็นบริเวณข้อ รวมทั้งระวังไม่ให้มีการบาดเจ็บหรือเพิ่มแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าในชีวิตประจำวัน เช่น ควรเดินขึ้นลง
บันไดเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการงอข้อเข่ามากๆงดการนั่งงอเข่าบนพื้น นั่งส้วมแบบยอง รักษาสมดุลระหว่างการยืน เดิน นอน และพัก เป็นต้น
ผลการรักษาพบว่า
สัปดาห์แรก น้ำหนักของคุณป้าท่านนี้ลดลง 2.8 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 2 น้ำหนักลดลง 1.5 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 3 น้ำหนักลดลง 1.2 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 4 น้ำหนักลดลง 1.2 กิโลกรัม
หลังจากนั้นน้ำหนักลดลงมาเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ย 0.5 – 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ จนน้ำหนักเหลือ 64 กิโลกรัม (เดิม 78.3 กิโลกรัม) ภายใน 20 สัปดาห์
ที่สำคัญคือ เธอสามารถรักษาน้ำหนักได้ค่อนข้างดี ความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดลดลง โดยสามารถหยุดยาได้สุขภาพแข็งแรงขึ้น กระฉับกระเฉง อารมณ์ดี รู้สึกมีพลังมากขึ้น อาการปวดเข่าทั้งสองข้างดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา ปัจจุบันเธอยังคงควบคุมดูแลเรื่องอาหารและออกกำลังข้ออย่างสม่ำเสมอ
ท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมาเพียงแค่ท่านไม่ยึดยาเป็นที่พึ่ง และระลึกไว้เสมอว่ายาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือ “พฤติกรรมสุขภาพ” ต่าง ๆ ที่ต้องทำควบคู่กันไป ได้แก่ การออกกำลังกาย การทำให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม มีอิริยาบถที่ถูกต้อง แล้วท่านจะมีคุณภาพชีวิตดังเช่นคนปกติทั่วไป
ขอส่งความปรารถนาดีไปยังผู้ปวดเข่าที่มีน้ำหนักตัวเกินทุกท่าน ขอให้มีพลังและจิตใจที่แน่วแน่ในการลดน้ำหนัก ฟื้นฟูสภาพเข่า เพื่อให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อมูลจาก คอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิตฉบับ 380 (1 ส.ค.57)