ดอกไม้

3 ดอกไม้ ต้านโรค

ดอกไม้ ต้านโรค

          ดอกไม้ ต้านโรค อาจไม่ใช่อาหารที่เราคุ้นเคยเท่าใดนัก เพราะเมื่อพูดถึงอาหารสุขภาพ เรามักนึกถึงผักผลไม้เป็นอันดับต้นๆ แต่รู้ไหมว่า ดอกไม้นั้นสามารถนำมากิน และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายได้เช่นกัน มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง

 

ดอกไม้, ดอกกระเจียว

ดอกกระเจียวแดง ชะลอวัย

ดอกไม้ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นทิวลิปสยาม มีเหง้าแฝงตัวอยู่ในดิน พักตัวในฤดูหนาวและร้อน เมื่อถึงฤดูฝน จะเริ่มผลิดอกออกใบ สรรพคุณชะลอวัยได้รับการค้นพบเมื่อทีมวิจัยจากคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่ภายในจังหวัด เก็บตัวอย่างดอกไม้กินได้15 ชนิด เพื่อค้นหาดอกไม้ที่มีสารต้าน อนุมูลอิสระสูงที่สุด

ในที่สุด Khon Kaen Agricultural Journal ตีพิมพ์ ผลการค้นพบดอกไม้ 8 ชนิดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ดอกกระเจียวแดง รองลงมาคือ ดอกมะรุม ดอกส้มลม ดอกเสาวรส ดอกข่า ดอกฟักทอง ดอกขจร และดอก กระเจียวขาว ดอกกระเจียวแดงไม่เพียงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ยังจัดเป็นดอกไม้ที่มีสารพฤกษเคมี เช่น สารประกอบฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และแอนโทไซยานิน เป็นองค์ประกอบมากกว่า ดอกไม้ชนิดอื่น โดยสารเหล่านี้มี

คุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยป้องกันและชะลอโรคจากความเสื่อม นิยมลวกช่อดอกอ่อน หน่ออ่อนของดอกกระเจียว กิน แกล้มน้ำพริก กินเคียงกับอาหารรสเผ็ด เช่น ส้มตำ ยำ หรือ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆแกงร่วมกับผักหวานหรือผักสดนานาชนิด

อ่านต่อหน้าที่ 2

 

ดอกไม้, ดอกชบา

ดอกชบา ลดความดัน

ด้วยความสวยงามของ ดอกชบา จึงได้รับเลือกให้เป็น ราชินีแห่งดอกไม้เมืองร้อน ทั้งยังดำรงตำแหน่งดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียอีกด้วย ไม่เพียงความงาม ยังมีสรรพคุณช่วยลดความดันและป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

ยืนยันโดยดร.ไดแอน แอล. แมคเคย์ (Diane L. McKay) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่เสี่ยงเป็น โรคความดันโลหิตสูงออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ดื่มชาดอกชบา วันละ 3 แก้ว กลุ่มที่สองให้ดื่มน้ำเปล่าแต่งกลิ่นดอกชบา หลัง 6 สัปดาห์พบว่า อาสาสมัครที่ ดื่มชาดอกชบามีระดับความดันโลหิตเฉลี่ยลดลง

โดยระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) ลดลง 7 มิลลิเมตรปรอท และ ความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) ลดลง 3 มิลลิเมตรปรอท เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่ลดลง ดูราวกับว่าความดันโลหิตลดลงเพียงเล็กน้อย อาจไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพมากนัก

แต่ ดร.ไดแอนมีความเห็นว่า ทุกระดับความดันโลหิตที่ลดลงล้วนมีค่า หากสามารถควบคุมให้ความดันโลหิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยระดับความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวและคลายตัวเข้าใกล้ระดับปกติคือ 120 และ 80 มิลลิเมตรปรอท ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจวายจะยิ่งลดลง

อ่านต่อหน้าที่ 3

ดอกไม้, ดอกคำฝอย

ดอกคำฝอย ยับยั้งกระดูกพรุน

คำยอง คำหยอง คำหยุม คำยุ่ง ล้วนเป็นชื่อเรียกที่น่ารักของดอกคำฝอย แม้จะแอบอมยิ้มกับบรรดาชื่อเรียก แต่ก็รู้สึกทึ่งกับสรรพคุณปกป้องกระดูกไปพร้อมกัน โรคกระดูกพรุนพบมากในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลง ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียม ลดลง ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุนตามมา ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ มหาวิทยาลัยคาทอลิก  แทกู (The Catholic University of Daegu) ประเทศเกาหลีใต้ จึงสนใจศึกษาผลของ การดื่มชาดอกคำฝอยกับหญิงวัยหมดประจำเดือน อายุระหว่าง 49 – 60 ปี

โดยให้กลุ่มแรกดื่มชาดอก คำฝอยวันละ 1 แก้ว ส่วนอีกกลุ่มดื่มน้ำเปล่าแต่งกลิ่น และสีให้ใกล้เคียงกับชาดอกคำฝอย หลัง 6 เดือน เป็นไปตามความคาดหมาย อาสาสมัครที่ ดื่มชาดอกคำฝอยมีระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มขึ้น ทั้งวิตามินอีและวิตามินซี และเมื่อตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกพบว่า มวลกระดูกของผู้ที่ดื่มชาดอกคำฝอยยังคงเดิม ส่วน ผู้ที่ดื่มน้ำเปล่าแต่งกลิ่นและสีมีมวลกระดูกลดลง

รู้อย่างนี้แล้วลองหามากินสักดอกดีกว่า


บทความน่าสนใจอื่นๆ

10 ดอกไม้ กินได้ สมุนไพรแก้โรค

“ดมกลิ่นดอกไม้” สุขง่าย ๆ ของผู้หญิงที่จะทำให้มุมมองความสุขของคุณเปลี่ยนไป

5 ดอกไม้ (สวย) ห้ามกินถึงตาย

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.