ในหลวง รัชกาลที่ 9 – พระราชาผู้ทรงศรัทธาในธรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็น พระราชาผู้ทรงศรัทธาในธรรม พระองค์มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและสนพระราชหฤทัยในการศึกษาพระธรรมและการปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจัง
“ท่านทั้งหลายสนใจในการกินดีอยู่ดีและสนใจในความดีในจิตใจ สามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข คืออยู่ดีกินดี ก็หมายความว่าทำหน้าที่อาชีพอย่างสุจริตและจิตใจที่มีความสุขนั้น ทำด้วยการฝึกจิตใจแต่ละบุคคลให้เห็นความดีด้วยสติสัมปชัญญะถือว่าเป็นขั้นที่จะไปสู่ความสงบ ไม่ใช่ว่าไปนั่งวิปัสสนาในวัดเท่านั้น…แต่การปฏิบัติทุกวันทุกเวลาที่ตื่น มีสติสัมปชัญญะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ…”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี และคณะเข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2528
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และสนพระราชหฤทัยในการศึกษาพระธรรม และการปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจัง
หลังจากทรงพระผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2499 พระองค์ยังทรงปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักบำเพ็ญธรรมส่วนพระองค์ อันเป็นสถานที่วิเวกซึ่งเหมาะแก่การเจริญภาวนาไว้ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
นายภาวาส บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เคยกล่าวถึงพระราช-จริยวัตรและการศึกษาธรรมะของพระบาทสมเด็จ-พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งอ้างไว้ในหนังสือ ๖๐ ปี พระเจ้าอยู่หัวครองราชย์๑๐๐ ปี พระพุทธทาสครองธรรม ไว้ว่า
“แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานดึกมาก แต่ก่อนเข้าพระบรรทมทรงสวดมนต์เป็นประจำ และทรงตื่นเช้ามืดทุกวัน เวลาว่างทรงนำเทปบันทึกเสียงของสมเด็จพระสังฆราชมาตัดต่อเพื่อกระชับและเร็วขึ้น บางครั้งก็เสด็จไปวัดบวรนิเวศเป็นการส่วนพระองค์ หรือนิมนต์พระญาณสังวรฯเสด็จเข้าพระตำหนักเพื่อถวายภัตตาหารเพล และทูลถามข้อธรรมเป็นเวลานาน ข้าราชบริพารทั้งหลายจึงขนานนามพระองค์ว่า ‘พระมหาธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า’ อันหมายถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสนพระราชหฤทัยในพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง”
พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ เล่าถึงพระราชจริยวัตรในการศึกษาธรรมะและการปฏิบัติสมาธิของพระองค์ในหนังสือ สองธรรมราชา ว่า
“พระราชจริยวัตรในการปฏิบัติสมาธิภาวนาของพระเจ้าอยู่หัว นอกจากทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังทรงให้ความสนใจศึกษาตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหนก็ตาม มักจะเสด็จฯเข้าไปในวัดและมีรับสั่งกับพระผู้ใหญ่เป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่นกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพลในสมัยที่หลวงปู่ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่
“การศึกษาสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาอย่างละเอียดลออจริง ๆ เท่าที่ผมจำได้ในสมัยโน้น พระผู้ใหญ่ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา พระองค์จะทรงนิมนต์ให้เข้าไปในวังที่เรียกว่า ‘ถวายกัมมัฏฐาน’ นอกจากที่เรารู้ ๆกันอยู่ ก็มีท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน) พระอาจารย์วัน อุตตโม เป็นต้น”
หากศึกษาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเห็นได้ชัดแจ้งว่าคำสอนที่พระองค์พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ล้วนสะท้อนถึงความเข้าใจในหลักธรรมและการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างแตกฉานของพระองค์ ดังเช่นพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสที่คณะผู้แทนพุทธสมาคมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ซึ่งมีความบางตอนที่ได้ทรงอรรถาธิบายเรื่องสมาธิไว้ดังนี้
“…สมถะหรือสมาธิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้น่ากลัว บางคนก็บอกว่า การนั่งสมาธินี้ระวังให้ดี อาจจะเป็นบ้าก็ได้ อาจจะแย่ ลำบากไม่มีทางที่จะทำ น่ากลัว แต่ว่าสมาธิก็ต้องเริ่มอย่างเบา ๆ คือว่าจะต้องมีความตั้งใจให้จิตใจนี้ไม่ไปเกาะเกี่ยวกับอะไรก็ตามหมายความว่า จะต้องเริ่มต้นด้วยการปัดกวาดสิ่งที่เป็นม่าน หรือจะเป็นสิ่งที่คลุมไม่ทำให้สงบได้ ไม่ทำให้เกิดความนิ่งแน่ได้ การที่จะทำให้เกิดความสงบคือสมาธินี้ จึงต้องพยายามดูให้เห็นว่าอะไรมาปิดบัง เมื่อถอนสิ่งที่ปิดบังนั้น ทันใดก็ได้สมาธิ…
“สมาธินั้นเราอาจจะได้เป็นเวลาเพียงครึ่งวินาที มันก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ว่าเป็นสมาธิที่อ่อนมาก แต่ก็เป็นสมาธิข้อสำคัญที่จะต้องได้…สมาธินี้ถ้าเราเอามาใช้ คือการสร้างสมาธิให้ดีขึ้นหน่อย แล้วเอามาใช้ ไม่ต้องทำสมาธิให้หนักแน่นมากนัก แต่ว่าเป็นสมาธิที่ควบคุมได้เราจะมาเห็นใจ เราทำสมาธิให้นิ่ง จิตใจให้นิ่งก็จะมาเห็นใจของเรา ใจจะไม่เป็นสิ่งที่ลึกลับ ใจจะเป็นสิ่งที่เปิดเผย คือเราเปิดเผยกับตัวเราเอง”
การฝึกปฏิบัติสมาธิของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมิได้ทรงปฏิบัติแต่เพียงพระองค์เท่านั้น หากยังมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้อื่นอย่างถ้วนหน้า ข้าราชบริพารได้รับพระราชทานหนังสือและเทปคำสอนของพระอาจารย์ทั้งหลายเสมอ ดังเช่นที่พลตำรวจเอก วสิษฐ เดช-กุญชร กล่าวไว้ในหนังสือ สองธรรมราชา ว่า
“คำสอนถวายกัมมัฏฐานของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พระองค์จะทรงบันทึกเทปไว้ ถ้าคำเทศน์คำสอนใดที่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับพวกเราที่หัดใหม่ทั้งหลาย มักพระราชทานมาให้ และพวกเรามักได้รับพระราชทานเทปจากในหลวงเสมอ ผมจำได้ว่า ที่ได้รับพระราชทานมามีของสมเด็จพระสังฆราช ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้นและในทำนองเดียวกัน เวลาพวกเราไปไหนก็มักจะหิ้วเทปไปด้วย ได้พบพระอาจารย์องค์ใดก็ตาม ต้องขอธรรมะจากท่าน เมื่อท่านสอนเราก็บันทึกไว้ แล้วก็มาคัดกันดูว่าม้วนไหนองค์ใดควรถวาย เราก็จัดถวาย…”
แม้จะทรงงานหนักเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยว่างเว้นจากการปฏิบัติธรรม ทั้งยังทรงรวมการปฏิบัติธรรมกับการประกอบพระราชกรณียกิจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงทำให้การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทุกครั้งสำเร็จลุล่วงดังพระราชหฤทัย
พระราชจริยวัตรที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติเสมอมานี้ถือเป็นต้นแบบอันดีงามที่ชาวพุทธควรน้อมนำมาปฏิบัติตาม
ขอขอบคุณข้อมูล: หนังสือสองธรรมราชา, หนังสือ ๖๐ ปี พระเจ้าอยู่หัวครองราชย์ ๑๐๐ ปี พระพุทธทาสครองธรรม, หนังสือ 108 มงคล พระบรมราโชวาทเพื่อความสุขและความสำเร็จของชีวิตแบบยั่งยืน
เรื่อง: เชิญพร คงมา
ที่มา: คอลัมน์ Dhamma of King Rama IX นิตยสาร Secret
ขอขอบคุณภาพจาก www.tnews.co.th, www.nstda.or.th, www.finearts.go.th
บทความน่าสนใจ
พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย
พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อเกษม เขมโก