เห็นคนไม่เป็นคน

“เห็นคนไม่เป็นคน” ธรรมะดี ๆ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

พระพุทธองค์จะทรงสอนอยู่บ่อย ๆ ไม่ให้เรามองสิ่งต่าง ๆ เป็นสมมติบัญญัติ แต่ให้เห็นเป็นปรมัตถธรรม

คำว่า ปรมัตถ์ หมายถึง ของจริง จริงแท้ เห็นตามความเป็นจริง เห็นด้วยความรู้สึก เห็นด้วยใจของตัวเราเอง มีความรู้สึกชนิดใดก็ขอให้มองกันตรง ๆ เลยว่าเกิดขึ้นในใจเราแล้วเป็นอย่างไร ถ้าเห็นแบบนี้ได้จะไม่มีปัญหาเพราะสมมติบัญญัติหรือกิเลสต่าง ๆ ที่คอยปรุงแต่งใจเลย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพบเจอนาฬิกาที่สวยสะดุดตาเข้าสักเรือน ตอนนั้นหากเราเอาใจเข้าไปมอง เราจะเห็นว่าทันทีที่เรามองเห็นนาฬิกา สีสันและความมันวาวที่เปล่งประกายออกมาจากนาฬิกาเรือนนั้นจะมากระทบตา ให้ใจของเราได้รู้สึกตื่นเต้นวูบหนึ่ง แล้วความรู้สึกนั้นก็จะผ่านไป ตรงนี้หากเราดูใจทัน เราจะรู้สึกได้ว่าความตื่นเต้นในตอนที่มองเห็นนาฬิกาครั้งแรกนั้นหมดไปทันที เมื่อรู้ว่าใจของเราไม่ได้ตื่นเต้นเท่าเดิมแล้ว เราจะมองว่านาฬิกาเรือนนั้นสวยสะดุดตาเหมือนเดิมได้อีกหรือ

เมื่อเรามองสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต่อเติมเสริมแต่งใด ๆ รู้อะไรก็มองไปตรง ๆ ตามนั้น เราจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วใจของเรารู้สึกต่อสมมติบัญญัติต่าง ๆ เพียงแวบเดียวเท่านั้น สมมติบัญญัติมากระทบตาเพียงครั้งเดียวแล้วก็จบไป หากเรารู้เท่าทันและไม่นำสิ่งกระทบนั้นมาปรุงแต่งต่อ กิเลสและปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

นี่เองที่เรียกว่าการดูใจทัน นับว่า วิปัสสนา ได้เกิดขึ้นแล้ว

วิปัสสนาคือการเห็นแบบพิเศษ เป็นการเห็นที่แตกต่างไปจากที่คนอื่นเขาเห็น คนทั่วไปเขาเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นบัญญัติ เห็นเป็น “โต๊ะ” เห็นเป็น “เก้าอี้” เห็นเป็น “ม้านั่ง” แต่การเห็นเป็นปรมัตถ์จะไม่ใช่แบบนั้น ยกตัวอย่างเช่น คนทั่วไปเห็นคนว่าเป็นคน แต่ถ้าเรามองตามความเป็นจริง เราจะเห็นคนไม่เป็นคน

ไม่เชื่อลองมองหาใครสักคนดูก็ได้ เราเห็นเขาแล้วก็รู้ทันทีว่าเขาเป็นคนใช่หรือไม่ แถมยังรู้ด้วยว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อสีอะไร หน้าตาดีหรือเปล่า เห็นแบบนี้ยังไม่เรียกว่าเป็นการเห็นปรมัตถ์ตามความเป็นจริง เพราะการเห็นตามความเป็นจริงนั้น เวลาที่มีรูปคนมากระทบตา เราต้องเห็นให้ทันว่า สิ่งที่ออกจากตัวคนนั้นมากระทบตาแล้วใจรับรู้ก็คือสีสัน ความงาม ภาษา ชื่อเรียก หรือคุณค่าทางสังคมต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ตัวตนเลยสักนิด

การเห็นแบบวิปัสสนาเช่นนี้จะทำให้ความงามของสิ่งต่าง ๆ หมดไป อะไรที่เขามองกันว่างาม คนที่ปฏิบัติวิปัสสนาจะเห็นไม่เหมือนคนอื่นเขา จะเห็นว่าเป็นของไม่งาม ถึงแม้จะมีคนแต่งตัวหยาดเยิ้มมายืนอยู่ต่อหน้า ใครมองก็บอกว่าสวยทั้งนั้น แต่คนที่ปฏิบัติวิปัสสนาจะบอกว่าไม่สวย เพราะไม่ได้เห็นเขาเป็นคนอีกต่อไปแล้ว แต่เห็นว่าเป็นเพียงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วผุดขึ้นในใจวูบหนึ่ง จากนั้นก็หายไป

การไปเห็นสภาพหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเราว่าเป็นสภาวะปรมัตถ์ที่เกิดขึ้นเพียงแวบเดียวแล้วก็หมดไปจริง ๆ ไม่ได้อยู่กับเรานานเหมือนตอนที่ถูกอวิชชา คือความไม่รู้ครอบงำ จนมองอะไรผิดฝาผิดตัวอยู่บ่อย ๆ นั้น ใจที่ปกติเคยยินดียินร้าย มักจะไปชอบใจหรือขัดใจในสิ่งต่าง ๆ ก็จะไม่ชอบไม่ชังอะไรอีกต่อไป

เมื่อเกิดภาวะแบบนี้บ่อยเข้า ๆ ใจจะวางเฉย เห็นสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของที่น่าเบื่อหน่ายและไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกข์จึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

นี่เองคือประโยชน์ของการเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง หากเราเข้าใจและปฏิบัติได้ เราจะพบว่าความทุกข์นั้นหมดไปได้อย่างน่าพิศวง ธรรมะของพระพุทธเจ้าช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ

(เห็นคนไม่เป็นคน)

ที่มา  ใช้ทุกข์ดับทุกข์ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Photo by Jan Krnc from Pexels

Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

บ่อเกิดแห่งความทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.