หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อริยสงฆ์ผู้ขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

ประวัติ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อริยสงฆ์ผู้ขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรม

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระนักปฏิบัติภาวนา และเป็นผู้ขับเคลื่อนกงล้อแห่งธรรมให้ยังคงหมุนอยู่ต่อไป ตลอดระยะ เวลาในการครองเพศบรรพชิต ท่านได้เสียสละตนเพื่อโปรดเหล่า เวไนยสัตว์ในถิ่นทุรกันดาร สั่งสอนสัตว์ผู้ยังไม่รู้ธรรม ให้รู้ ผู้ที่ ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ให้เลื่อมใสมาก ยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแก้ไขการปฏิบัติที่ผิด แก้ความเข้าใจผิด ให้เข้าใจ ถูกต้องตรงความเป็นจริง

นอกจากนี้ ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติ หลวงปู่ฝั้น ก็น้อมนำพระสัทธรรมมาเป็นหลักในการคลี่คลายปัญหา จน บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี

คุณธรรมของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์ เกียรติคุณของท่านขจรขจายไปทั่ว แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็ยังมีพระราชศรัทธาอย่างแรงกล้า พระสัทธรรมและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จึง สมควรได้ รับการเผยแพร่ เพื่อเป็นต้นแบบแห่งการประพฤติปฏิบัติตนของเหล่าศาสนิกชนโดยแท้

 

 

เด็กหนุ่มคนหนึ่งเป็นผู้มุ่งมั่นในการศึกษา และมีความ ปรารถนาอย่างแรงกล้าในการเข้ารับราชการ อันเป็นหน้าที่การงาน ที่มีเกียรติในสมัยนั้น แต่แล้วกลับล้มเลิกความตั้งใจเดิม มุ่งหน้า เข้าสู่เพศบรรพชิตด้วยเหตุใดกัน!

เด็กชายฝั้น สุวรรณรงค์ ถือกำเนิดขึ้นในวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 ปี กุ นตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ณ บ้าน ม่วงไข่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

บิดาของท่าน คือ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) เจ้าเมืองพรรณานิคม คนที่ 5 และเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ในขณะนั้น มารดาของท่านชื่อนุ้ย เด็กชายฝั้นมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน แต่ตายเสียตั้งแต่เล็ก 2 คน ส่วนที่เติบโตมาด้วยกันมี 6 คน ได้แก่ 1. นางกองแก้ว อุปพงศ์ 2. ท้าวกุล 3. นางเฟื้อง 4. หลวงปู่ฝั้น 5. ท้าวคำพัน และ 6. นางคำผัน

ต่อมาบิดาของท่านอพยพพร้อมครอบครัวอื่น ๆ เพื่อแสวงหา ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ และในท้ายที่สุดก็มาตั้งรกรากที่บ้าน บะทอง ซึ่งขนาบด้วยลำห้วยปลาทางทิศเหนือ และลำห้วยอูน ทางทิศใต้ เหมาะแก่การทำมาหากิน เมื่อตั้งหมู่บ้านกันที่นั่นเหล่า ชาวบ้านก็พร้อมใจกันให้เจ้าไชยกุมารเป็นผู้ใหญ่บ้านตามเดิม และ ด้วยอุปนิสัยใจคอที่กว้างขวาง เมตตากรุณา โอบอ้อมอารีจึงทำให้เจ้าไชยกุมารเป็นที่เคารพยกย่องของทุกคน

 

 

แม้ว่าเด็กชายฝั้นจะเติบโตมาพร้อม ๆ กับครอบครัวชาวบ้านธรรมดาสามัญเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ แต่ว่ากลับมีความประพฤติเรียบร้อย จิตใจอ่อนโยน อีกทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร ชอบ ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ

ด้วยความขยันหมั่นเพียรประกอบกับสติปัญญาอันเฉียบแหลม ทำให้เด็กชายฝั้นเป็นเลิศทางการศึกษา เมื่อได้รับการอบรมสั่งสอน จากพระอาจารย์ตัน วัดโพธิ์ชัย ก็แตกฉานในตำรา มูลบทบรรพกิจ ทั้งเล่ม1 และ 2 ซึ่งถือว่าเป็นตำราที่ยากสำหรับคนยุคนั้นในคราวที่อาจารย์ติดภารกิจจำเป็นไม่สามารถมาสอนได้ ก็มักจะให้เด็กชายฝั้น ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันอยู่เสมอ

ด้วยคุณสมบัตินี้เองที่ทำให้เด็กชายฝั้นใฝ่ฝันที่จะเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมยุคนั้น เมื่อเติบโตขึ้น เด็กชายฝั้นก็ยังคงมุมานะในการเรียนอย่างสม่ำเสมอ โดยได้ศึกษา อยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ (ผู้เป็นพี่เขย และดำรงตำแหน่งเป็น ปลัดขวา อำเภอเมืองฯ จังหวัดขอนแก่น ในขณะนั้น)

ช่วงเวลาที่นายฝั้นศึกษาอยู่กับพี่เขยนี้ นายฝั้นต้องทำหน้าที่ รับ-ส่งปิ่นโตให้กับนักโทษในเรือนจำ ทำให้ท่านเห็นสภาพของ นักโทษที่น่าเวทนายิ่งนัก แม้ว่าภาพของนักโทษจะทำให้ท่านสลดใจ อยู่บ้าง แต่ก็ยังคงมิได้ทอดทิ้งความมุ่งหวังในการเข้ารับราชการ และยังคงมุ่งมั่นในการศึกษาต่อไป แต่แล้วก็เกิดเหตุพลิกผันอันเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ท่านละทิ้งความฝันที่จะเป็นข้าราชการไป

 

 

มีเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับนายฝั้นอย่าง สูงสุด นั่นคือ เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝันกับคนใกล้ชิดของนายฝั้น คือนายเขียน อุปพงศ์ ซึ่งเป็นทั้งพี่เขยและเป็นอาจารย์ที่ให้วิชา ความรู้แก่ท่าน เนื่องจากนายเขียนเกิดบันดาลโทสะฆ่าคนตาย จึงทำให้ต้องโทษฐานฆ่าคนตาย เมื่อนายฝั้นทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไปเยี่ยมพี่เขย และพี่เขย ได้ให้สติแก่ท่านครั้งสุดท้ายว่า

“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นขุนน้ำขุนนาง เจ้าเมืองหรือไพร่ เดินดิน หากลุแก่โทสะแล้ว ย่อมได้รับผลอันร้ายแรงเสมอกัน ด้วย กฎหมายนั้นใช้บังคับเสมอกันไปทั่วหน้า จงอย่าลุแก่โทสะเป็น อันขาด”

เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ทำให้นายฝั้นไม่สามารถจะดำรงอยู่ ในเพศฆราวาสได้อีกต่อไป จึงรีบรุดเดินทางกลับไปยังบ้านบะทอง แม้ว่าจะต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลาถึง 10 คืนก็ตาม ในระหว่างทางนั้นท่านคิดขึ้นว่า

“อันเส้นทางแห่งฆราวาสวิสัยนั้นย่อมเต็มไปด้วยขวากหนาม และความทุกข์ แม้จะได้ยศถาบรรดาศักดิ์ก็หาได้พ้นทุกข์ไม่ หาก พลาดพลั้งไป ก็ต้องได้รับโทษอย่างสาหัส เส้นทางเดียวที่จะตัด ความเร่าร้อนลงได้ก็คือ เส้นทางแห่งบรรพชิตเท่านั้น”

เมื่อรอนแรมเป็นเวลา 10 คืนจนมาถึงบ้านบะทอง นายฝั้น ก็ได้เล่าเรื่องราวและการตัดสินใจละทิ้งเพศฆราวาสแก่บิดา มารดา และประกาศตนจะดำรงมั่นอยู่ในเพศบรรพชิต

 

ข้อมูลจากหนังสือ หลวงปู่ฝั้น สำนักพิมพ์ Amarin Dhamma

สั่งซื้อออนไลน์ คลิก


บทความน่าสนใจ

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงปู่ฝั้น อาจารโร

ครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปุจฉาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เรื่องการเกิด-ดับ

พระราชประวัติ พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งของชนชาวสยาม

พระปุจฉา – วิสัชนาธรรมระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เหนือฟ้ายังมีฟ้าแต่ไม่มีอะไรเหนือกฎแห่งกรรม หลวงพ่อจรัญ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.