เหตุผลประการหนึ่งที่นักธุรกิจส่วนใหญ่หันมาปฏิบัติธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ พวกเขาเหล่านั้นสูญเสีย “ สมดุลชีวิต ” อันเนื่องมาจากการทำงานอย่างหนัก จนตกอยู่ในสภาพลืมกิน ลืมนอน ลืมป่วย ผลก็คือ เมื่อทำงานไป ๆ กำไรซึ่งเป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่พวกเขา (บางคน) กลับขาดทุนสุขภาพย่อยยับ
การจากโลกนี้ไปอย่างปุบปับของไมเคิล แจ๊คสัน (อายุ 50 ปี) ก็ดี วิทนีย์ ฮิวสตัน (อายุ 48 ปี) ก็ดี หรือ สตีฟ จ็อบส์ (อายุ 56 ปี) ก็ดี ล้วนเป็นตัวอย่างบ่งชี้ว่าชีวิตที่ขาด “สมดุลงาน สมดุลชีวิต” นั้น เป็นชีวิตที่เสี่ยงต่อการแตกดับง่ายดายเพียงไร
สตีฟ จ็อบส์ ซูเปอร์ซีอีโอ สารภาพถึงความผิดพลาดในเรื่องสุขภาพของตัวเองไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า
“…จ็อบส์เดาว่าที่เขาเป็นมะเร็งนั้นมีสาเหตุมาจากปีสุดโหดที่เขาบริหารทั้งแอปเปิลและพิกซาร์ไปพร้อม ๆ กัน เริ่มตั้งแต่ปี 1997 เขาขับรถขึ้นล่องระหว่างสองบริษัท ทำให้เป็นนิ่วในไตและโรคอื่นอีกหลายโรค พอกลับถึงบ้าน ก็อิดโรยจนแทบพูดไม่ออก ‘คงจะเป็นช่วงนั้นเองที่มะเร็งเริ่มกระจาย เพราะตอนนั้นระบบภูมิคุ้มกันของผมค่อนข้างอ่อนแอ’…”
การที่สตีฟ จ็อบส์ จากไปในวัยเพียง 56 ปีนั้นส่งผลสะเทือนต่อผู้นำทางธุรกิจคนอื่น ๆ ไม่น้อย เพราะการ “ตาย” ของเขาทำให้คนที่ยังอยู่ “ตื่น” ขึ้นมาพิจารณาชีวิตว่า ถึงที่สุดแล้วคุ้มกันหรือไม่กับการบ้าทำงานหนักแทบล้มประดาตายเพื่อที่จะพบว่า เมื่อมีเงินทองกองมหาศาล แต่แล้วกลับต้องทิ้งทุกอย่างไปอย่างไม่มีวันกลับในเวลาอันแสนสั้น หรือบางทีพวกเขาก็คิดกันว่า “หรือว่าเงินที่เราหามากองมากมายมหาศาลนั้น แท้ที่จริงก็เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในโรงพยาบาลสุดหรูเท่านั้น” บางคนคิดต่อไปว่า “ทำอย่างไรงานจึงจะได้ผล คนจึงจะเป็นสุข” ระหว่างที่พวกเขากำลังคิดหาคำตอบกันอยู่นั้นที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวันมีคอร์สภาวนา “รื่นรมย์ในงานเบิกบานในชีวิต” เตรียมไว้ให้แล้ว
สาระสำคัญของคอร์สภาวนา “รื่นรมย์ในงาน เบิกบานในชีวิต” ก็คือ การฝึกเจริญสติด้วยการ “ใช้ชีวิตให้ช้าลง”ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายและรื่นรมย์ และแน่นอนว่าทุกคนต้องฝึก “การนอนสมาธิ” เพื่อให้เรียนรู้ที่จะ “ผ่อนพักตระหนักรู้” และสำรวจ “สุขภาพ” ตั้งแต่ปลายผมจรดปลายเท้าและจากปลายเท้าจรดปลายผม เพราะบางคนมีนิสัยทำงานหนักเป็นพายุบุแคม ทำประหนึ่งว่า “ตนเองเป็นศัตรูต่อร่างกายของตนเอง” นั่นคือทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ผลก็คืองานได้ผล แต่คนไม่เป็นสุข ทำงานหนัก ก็เลยต้องจ่ายหนักเพื่อรักษาสุขภาพในภายหลัง ในคอร์สภาวนาที่ผ่านมา เราพบว่าผู้ปฏิบัติคนหนึ่งได้นอนพิจารณาอวัยวะ 32 ประการ และขณะที่นอนสมาธิพร้อมกับฟังบทภาวนาอยู่นั้น เธอรู้สึกอึดอัดแน่นท้องคล้ายอาหารไม่ย่อยเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯจึงไปตรวจที่โรงพยาบาล หมอแจ้งว่าถ้ามาช้ากว่านี้เพียง 5 สัปดาห์เซลล์ที่ตรวจพบจะกลายเป็นเนื้อร้าย เธอดีใจจนร้องไห้กลับมาขอบพระคุณภาวนาจารย์เป็นการใหญ่ เธอเล่าอีกว่า หากไม่เอะใจด้วยการแวะไปตรวจ ป่านนี้คงกลายเป็นคนอายุสั้นไปแล้ว นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของคน “โชคดี” ที่ได้พบ “โชคร้ายที่กำลังฟักตัว” อยู่ในร่างกายของตัวเอง
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องรอรับหลังจากตายไปแล้ว หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทันที ที่นี่เดี๋ยวนี้ และในชีวิตนี้ เหมือนที่ผู้ปฏิบัติท่านนี้ได้พบมาแล้วด้วยตัวเอง
หัวใจสำคัญของการปรับสมดุลงานและสมดุลชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแต่เราแต่ละคนรู้จักบริหารสมดุลทั้ง 4 คู่ให้ครบ ก็จะประสบภาวะ “รื่นรมย์ในงาน เบิกบานในชีวิต” ได้ไม่ยาก สมดุล 4 ที่ว่านี้ประกอบด้วย (ผู้เขียนพัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์ตรง และมีรายละเอียดอยู่ในธรรมบรรยายชุด “สมดุลงาน สมดุลชีวิต” โหลดมาฟังได้ฟรีที่ dhammatoday.com)
- สมดุลกาย สมดุลใจ
- สมดุลงาน สมดุลชีวิต
- สมดุลโลก สมดุลธรรม
- สมดุลส่วนตัว สมดุลส่วนรวม
กล่าวเฉพาะสมดุลงานและสมดุลชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย วิธีสร้างก็คือ ให้หา “ทางสายกลาง” ระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตให้พบ ผ่านหลักการง่าย ๆ ที่ว่า
“การทำงานประสานกับคุณภาพของชีวิตคือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง” หมายความว่า เมื่อทำงานจนประสบความสำเร็จในฐานะคนทำงานแล้ว คุณภาพของชีวิตคือสุขภาพยังดีอยู่ไหม ยังมีเวลาให้ครอบครัวอยู่ไหม ยังมีเวลาให้ตัวเองอยู่ไหม เคล็ดลับประการหนึ่งในการรักษาสมดุลชีวิตก็คือ การฟัง “นาฬิกาชีวิต”หรือ BODY CLOCK ตามปรัชญาเซนที่ว่า
“เมื่อหิว ก็จงกิน
เมื่อง่วง ก็จงนอน
เมื่ออยากเข้าห้องน้ำ ก็จงเข้า
เมื่อเหนื่อย ก็จงพัก”
พุทธปรัชญาง่าย ๆ แค่นี้ ถ้าใครทำได้ก็จะพบ “สมดุลงานสมดุลชีวิต” ได้ไม่ยาก แต่เรื่องง่าย ๆ อย่างนี้แหละที่สตีฟ จ็อบส์เคยเล่าว่าเขาทำได้ยาก เพราะเวลาหิว เขายังติดประชุม เวลาง่วง เขายังตอบอีเมลลูกค้าอยู่ (บางทีเลยไปถึงตีหนึ่ง ตีสอง)เวลาอยากเข้าห้องน้ำ เขาต้องควบรถจากบริษัทหนึ่งเพื่อไปให้ทันประชุมยังอีกบริษัทหนึ่ง และเวลาเหนื่อย เขาก็ไม่อาจปล่อยงานที่กำลังพัวพันอยู่ตรงหน้าได้ เหนื่อยแทบตายก็ปล่อยไม่ลงปลงไม่ได้
เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ ทางเซนถือเป็นปาฏิหาริย์ก็เพราะว่าไม่ใช่เราทุกคนจะสามารถฟังเสียงนาฬิกาชีวิตแล้วปฏิบัติได้ทันทีแต่ถ้าใครฟังแล้วทำได้ทันที คนคนนั้นก็จะมีชีวิตที่มหัศจรรย์คือจะมีความสุข มีสุขภาพดี และมีอายุยืน
เพราะปรัชญาง่าย ๆ นี่แหละคือแก่นของสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ทางสายกลาง” ในการสร้างสมดุลให้กับงานและชีวิตปรัชญาอย่างนี้มีอยู่แล้วในกายและใจของเราทุกคน ขาดเพียงอย่างเดียว…
เราละเมียดพอที่จะฟัง “เสียงจากภายใน” ของตัวเองบ้างหรือเปล่าเท่านั้น