ไม่อยากลาออก บ่อยๆ อ่านตรงนี้ 7 เคล็ดวิธีทำงานโดยไม่ต้อง “ทน”
ไม่อยากลาออก ต้องทำอย่างไร? ว่ากันว่า ชีวิตที่สมบูรณ์แบบคือชีวิตที่ได้ทำงาน เพราะการทำงานคือบันไดก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทว่ากว่าจะทำงานเข้าที่เข้าทางจริงๆ นั้น แต่ละคนก็ “ใช้เวลามากน้อยต่างกันไป” บางคนใช้ “ความอดทน” นำหน้า ทนทำไปก่อน เพราะกลัวทั้งการเริ่มต้น (ใหม่) และเกลียดการรอคอย แต่บางคนก็ “กล้า” ที่จะเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจองานที่ตนพอใจจริงๆ
จริงอยู่ว่า การเปลี่ยนงานใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการสิ่งที่ “ดีกว่า” ทว่าผลเสียของการเปลี่ยนงานบ่อยก็มีไม่น้อยเช่นกัน จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถทำงานที่เดิมได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้อง “ทน” และจะดีแค่ไหน หากคุณกำลังมองหางานใหม่ แล้วได้งานที่ถูกใจโดยไม่ต้องมองหางานใหม่บ่อยๆ
1.รู้ใจตัวเอง
ข้อแรกนี้สำคัญมาก คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า “จะทำงานเพื่อใคร” ถ้าทำเพื่อครอบครัว คำถามต่อมาก็คือ ครอบครัวชอบให้ทำงานประเภทไหน ที่ไหน ต้องแบ่งเวลาอย่างไรจึงจะพอดี
แต่ถ้าคุณทำงานเพื่อตัวเอง ก็ต้องรู้ว่าอยากทำงานประเภทไหน ตำแหน่งอะไร ทำงานแบบฟูลไทม์พาร์ตไทม์ ชอบทำงานที่บ้าน ทำงานไกลบ้านหรือใกล้บ้าน ชอบบรรยากาศการทำงานแบบไหน และที่สำคัญต้องรู้ว่า “ตัวเองมีทักษะความรู้ความสามารถด้านใดบ้าง และถนัดการทำงานประเภทไหน”
2.รู้จักงานและองค์กรดีหรือยัง
ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญาเพื่อเริ่มงาน ควรมีการพูดคุยสอบถามจากหัวหน้างานเพื่อทำความเข้าใจขอบเขตของงาน หน้าที่ความรับผิดชอบของคุณให้ดีก่อน รวมทั้งศึกษากฎระเบียบ ข้อปฏิบัติขององค์กร ตลอดจนผลประโยชน์และสวัสดิการที่องค์กรจะมอบให้ว่าเป็นอย่างไรเหมาะสมหรือไม่
3.ความสามารถกับเงินเดือนใหม่ต้องไปด้วยกัน
ถ้าคิดจะเปลี่ยนที่ทำงานใหม่เพื่อปรับฐานเงินเดือนแบบก้าวกระโดดอย่างพวก Job hopper ก่อนอื่นคุณต้องคิดให้ถ้วนถี่ว่า “พร้อมหรือไม่กับความรับผิดชอบที่ต้องมากตามไปด้วย” และถามใจตัวเองแบบตรงไปตรงมาว่า “ความสามารถของคุณถึงระดับนั้นจริงหรือเปล่า”
นั่นเพราะหากคุณทำไม่ได้ตามมาตรฐานองค์กรใหม่ จนเริ่มเกิดละอายใจว่า “ทำได้แค่นี้ ต่อไปลดเงินเดือนดีกว่าไหม”ความรู้สึกนี้จะเป็นตราประทับในใจไปตลอดว่า “คุณล้มเหลวในการทำงานเสียแล้ว!”
4.กองอัตตาไว้หน้าออฟฟิศ
ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้นรู้จักยอมรับและเข้าใจ อย่ามั่นใจในตัวเองสูงมากเกินไปชนิดที่ว่า“ใครก็มาสอนฉันไม่ได้ ใครก็เก่งกว่าฉันไม่ได้” จงอย่าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก
ยิ่งถ้าหวังความก้าวหน้าในงานแล้ว คุณยิ่งต้องเอาอัตตาไปวางไว้ไกลๆ หันมารู้จักพัฒนาตนเอง ไม่รู้ให้ถาม ไม่เข้าใจให้ค้นหาคำตอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้ และยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นให้เป็น
5.เรามาเพื่อทำงาน
ในสังคมการทำงานบางแห่ง ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานอาจไม่ดีพอจะใช้คำว่า “เพื่อน” ได้เสมอไปซ้ำร้ายยังอาจเต็มไปด้วยการแข่งขัน การใส่ร้าย อิจฉาริษยาจนทำให้เราเริ่ม “กลัว”
ถ้าเป็นอย่างนี้ให้คิดเสียว่า “เขาก็แค่คนที่ทำงานให้องค์กรเหมือนๆ กับเรา” ไม่จำเป็นต้องคาดหวังว่าเขาจะดีเหมือนเพื่อนสมัยเรียนของเรา หรือว่าจะคบหากันได้สนิทใจเหมือนเพื่อนเก่าทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจของเราเอง
6.มองหาข้อดีในงานให้เจอ
เมื่อเริ่มงานต้องหาข้อดีของงานให้เจอ เพื่อให้เราเกิดความภาคภูมิใจ เช่น เป็นงานที่มีคนนับหน้าถือตา เพราะเป็นผู้รักษากฎระเบียบขององค์กร คุณจะได้ทำงานอย่างมีความสุข ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ และซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และเมื่อเริ่มจะเบื่องานก็ให้คิดย้อนถึงข้อนี้
7.ตั้งสติ
การทำงานย่อมมีอุปสรรคเข้ามาเสมอ เล็กบ้างใหญ่บ้าง จงอย่าตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติแล้วค่อยๆคิดหาทางแก้ไข ให้ถือว่า “ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องท้าทายที่เราต้องผ่านไปให้ได้”
คนจะเก่งได้ต้องรู้จักแก้ปัญหาเป็น ไม่ใช่คิดแต่จะหนีปัญหาถ้าแก้เองไม่ได้หรือไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ควรขอคำแนะนำจากคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า แล้วลองนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติ
สุดท้ายแล้วหากยังคิดจะเปลี่ยนงานจริงๆ จงอย่าเปลี่ยนงานเพราะอารมณ์เด็ดขาด อย่าใจร้อน อย่าวู่วาม แต่จงใช้เหตุผลคิดให้รอบคอบ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายภายหลังว่า
“รู้อย่างนี้ ไม่น่าเปลี่ยนงานเล้ยย…!”
ที่มา : คอลัมน์ Life Management เรื่อง “เฮ้อ…จะทำยังไงดี ถ้าชีวิตนี้ไม่อยากเปลี่ยนงาน…(บ่อย)!” โดย Horizon
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
เบื่องานทำไงดี เพิ่มพลังง่ายๆภายใน 10 นาที
10 หัวหน้ายอดแย่ ที่ใครๆ ก็ไม่อยากทำงานด้วย
วิธี ทำงานให้เสร็จทันเวลา เทคนิคการทำงานให้เสร็จเร็วและดี ไม่ต้องง้อโอที