วิธี เก็บเงิน สำหรับเด็กจบใหม่วัยทำงาน
เก็บเงิน อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับวิถีชีวิตของเด็กจบใหม่วัยเพิ่งเริ่มทำงาน ที่เพิ่งจากรั้วมหาวิทยาลัย ก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือนอย่างเต็มตัวเสียที ไหนจะการปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รับผิดชอบชีวิตตนเองมากขึ้น ต้องเริ่มคิดวางแผนเพื่ออนาคตของตนเองและคนที่เรารักมากขึ้น การออมเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญ
::: ตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน :::
ขั้นตอนแรกของการเก็บเงินคือ เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง ว่าเราต้องการเก็บเงินไปเพื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น เก็บเงินเพื่ออนาคต เก็บเงินเพื่อศึกษาต่อ เก็บเงินเพื่อช้อปปิ้ง เก็บเงินเพื่อการท่องเที่ยว เก็บเงินเพื่อเตรียมแต่งงาน หรือเก็บเงินเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นต้น
เมื่อเรามีเป้าหมายในการเก็บเงินแล้ว เราจะได้กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการเก็บ ระยะเวลาในการเก็บได้
::: เก็บก่อนใช้ :::
เมื่อเงินเดือนออก หรือได้เงินมา หลายคนมักจะใช้จ่ายเงินเหล่านั้นไปก่อน รอให้เงินเหลือตอนสิ้นเดือนแล้วค่อยนำเงินที่เหลือนั้นมาเก็บออม วิธีนี้เป็นวิธีการเก็บเงินที่ทำให้คุณบรรลุเป้าหมายช้า แถมบางเดือนยังไม่เหลือเงินเก็บ เพราะเผลอใช้เงินหมดจนไม่เหลือให้เก็บตอนสิ้นเดือน
วิธีแก้ปัญหา “ไม่มีเงินเหลือเก็บ” ที่ง่ายที่สุดคือการ “เก็บก่อนใช้”
แยกเงินเก็บของเราออกมาต่างหากจากเงินที่จะนำไปใช้ โดยเราควรเก็บเงินขั้นต่ำ 10% ของเงินเดือนก่อนหักภาษี และค่าประกันสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้คุณเผลอใช้เงินเก็บของตนเองไปจนหมด เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ตัวคุณเอง ให้คุณได้มีเงินเก็บไปใช้บริหารจัดการ วางแผนการเงินต่อได้ตามที่ต้องการ
::: แชร์ค่าหอกับเพื่อน :::
สำหรับใครที่นอนที่บ้าน หรือไม่ต้องเสียค่าที่พักก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ค่ะ แต่สำหรับคนที่ทำงานอยู่ไกลบ้านหรือมีความจำเป็นต้องนอนหอพัก ก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ลองเลือกหาบ้านพัก หอ ห้องเช่าที่ปลอดภัย และค่าเช่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเงินเดือนไม่ลำบากจนเกินไป และไม่แพงจนไม่เหลือเงินเก็บ
ควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเช่าให้ชัดเจนก่อนเซ็นสัญญาเช่า เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟต่อหน่วย ค่าเคเบิลทีวี ค่าจอดรถ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าบำรุงส่วนกลาง ค่าเช่าคีย์การ์ด ฯลฯ เพื่อป้องกันรายจ่ายที่บานปลายเกินคาดคิด
::: ประหยัดน้ำไฟ :::
เมื่อทำสัญญาเช่าหอพักเรียบร้อยแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อมาที่รองลงมาจากค่าเช่าก็คือค่าน้ำค่าไฟ หอพักบางแห่งอาจจะคิดค่าน้ำขั้นต่ำ บางแห่งก็คิดราคาตามปริมาณน้ำและไฟที่ใช้งานจริง ประหยัดการใช้น้ำและไฟให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เลือกใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน เปิดปิดน้ำและไฟเท่าที่จำเป็น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานให้โลกของเราอีกด้วย
::: เดินให้มากขึ้น ขึ้นรถให้น้อยลง :::
ใครที่ต้องเสียค่าเดินทางจำนวนมากเพื่อเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ลองหาวิธีการเดินทางหลายๆ เส้นทาง ช่วงเวลาเร่งด่วนอาจต้องยอมเสียค่ารถราคาสูงหน่อย เช่น นั่งรถแท็กซ๊่ เรียกรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อแลกกับความรวดเร็ว และแลกกับการที่จะได้มีเวลานอนพักผ่อนมากขึ้น
แต่หากวันไหนที่ไม่เร่งรีบมาก เช่น ตอนเย็นหลังเลิกงานที่ไม่มีธุระอะไรต่อ ก็สามารถเปลี่ยนวิธีการเดินทางเป็นวิธีการเดินทางแบบอื่นที่ประหยัดมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการนั่งรถแท็กซี่ รถไฟฟ้า เป็นการนั่งรถประจำทาง ขับอ้อมหน่อย รถติดหน่อย แต่ก็ประหยัดราคามากกว่า หรือถ้าเส้นทางไหนที่อยู่ในระยะที่สามารถเดินได้ ลองเดินแทนการนั่งรถก็ช่วยประหยัดเงินและยังเป็นการออกกำลังอีกด้วย
::: ใช้อย่างประหยัด เท่าที่จำเป็น อดเปรี้ยวไว้กินหวาน :::
ข้อนี้เป็นข้อที่ฟังดูง่าย ใครๆ ก็รู้ แต่ถึงเวลาจริงแล้วทำยากกว่าข้ออื่นเลย เพราะบางครั้งกิเสสก็เข้าครอบงำ หรือบางครั้งเราก็พลั้งเผลอซื้อของมาผิดพลาด ไม่ตรงตามที่ต้องการจนทำให้ต้องหาซื้อใหม่ ต้องวางของเก่าทิ้งเอาไว้อย่างน่าเสียดาย ไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป
ในช่วงเวลาที่ยังไม่ค่อยมีเงินเก็บเพียงพอที่จะช้อปปิ้งทุกสิ่งที่เราต้องการ เราต้องฝืนตัวเองเอาไว้บ้าง ซื้อเฉพาะของที่จำเป็น แล้วค่อยให้รางวัลตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว การอ่านรีวิวก่อนซื้อก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คุณทำความรู้จักกับสินค้าที่คุณหมายตาเอาไว้นั้นล่วงหน้า ลดปัญหาการซื้อสิ่งของ เครื่องใช้ และบริการต่างๆ พลาด จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายเงินที่เสียไปค่ะ
::: จำกัดค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน :::
ลองนำเงินเดือนและรายรับทั้งหมดของเรามาแบ่งอัตราส่วน ว่าต้องการเก็บออมเท่าไหร่ ต้องการใช้จ่ายเท่าไหร่ หารเฉลี่ยจำนวนวันในแต่ละเดือน เราก็จะทราบได้ว่า เราสามารถใช้จ่ายเงินได้วันละประมาณกี่บาท วันไหนที่ใช้เหลือก็ทบไปวันรุ่งขึ้นได้ แต่ถ้าวันไหนใช้เกินกว่าโควต้าที่มีอยู่ ก็ต้องจัดสรรเงินจากวันอื่นๆให้ลงตัว เพียงพอต่อการใช้จนถึงสิ้นเดือน
::: ทำรายรับรายจ่าย :::
วิธีการยอดนิยมที่ทำให้คุณรู้จักสภาพทางการเงินของตนเองมากขึ้น ผ่านการจดรายละเอียดว่าเรามีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่บ้าง เรามีรายได้จากกี่ช่องทาง แต่ละช่องทางสร้างรายได้ให้คุณเท่าไหร่ คิดเป็นอัตราส่วนเท่าไหร่เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดต่อเดือน
ส่วนการจดบันทึกรายจ่ายเอาไว้ ก็เพื่อให้คุณมองเห็นภาพรวมว่าในแต่ละเดือนคุณใช้จ่ายเงินไปกับอะไร มากน้อยแค่ไหนบ้าง เพื่อที่จะได้มองเห็นว่าแท้ที่จริงแล้วคุณใช้เงินไปกับอะไรมากที่สุด และมีรายจ่ายส่วนไหนที่สามารถประหยัดได้บ้าง
::: ใช้บัตรเครดิตอย่างมีสติ :::
สำหรับเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มก้าวเข้าสู่วัยทำงาน เมื่อทำงานผ่านไปสักประมาณ 4-5 เดือน หลายคนก็มักจะสมัครบัตรเครดิต ที่จริงแล้ว หากคุณใช้บัตรเครดิตอย่างรู้เท่าทันและมีสติ การใช้บัตรเครดิตก็มีข้อดีมากมาย เช่น สามารถสะสมแต้มจากการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งบางครั้งหากคุณจ่ายเป็นเงินสด คุณจะไม่สามารถสะสมแต้มอะไรได้เลย หรือการใช้โปรโมชั่นของบัตรเครดิตในการลดราคาและรับสิทธิพิเศษต่างๆ
แต่ไม่ว่าจะใช้จ่ายอย่างไร อย่าลืมข้อพึงระวัง 2 ประการ ได้แก่
ใช้เท่าที่จำเป็น และ จ่ายหนี้ตรงเวลาเสมอ
::: สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ :::
บางบริษัทและองค์กรมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรอดออมเงิน การสมัครกองทุนเลี้ยงชีพเป็นวิธีการออมเงินอย่างหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อ ทำได้ง่าย และสะดวก เนื่องจากสามารถหักเงินออมออกจากบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินเดือนได้เลย ทั้งยังได้รับเงินสมทบจากบริษัทหรือองค์กรที่เราทำงานด้วยอีกด้วย แถมยังมีความเสี่ยงต่ำ เป็นวิธีการออมที่เหมาะสำหรับสำหรับมือใหม่หัดลงทุนมากๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กองทุนสำรองเลี้ยงเลี้ยงชีพ
::: สมัครสหกรณ์ :::
หากบริษัทหรือองค์กรของคุณมีสหกรณ์เป็นของตนเอง ลองศึกษาเงื่อนไขการสมัคร การปันผล และดูผลประกอบการที่ผ่านมา หากมีผลประกอบการที่ดี น่าเชื่อถือ การซื้อหุ้นสหกรณ์ก็เป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน
::: นำเงินไปลงทุนให้งอกเงย :::
คุณสามารถแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งเพื่อนำไปเก็บออม หรือลงทุนให้ได้ผลกำไรงอกเงย ไม่ว่าจะเป็นการฝากธนาคาร เปิดบัญชีฝากประจำ ซื้อประกันชีวิตที่มีปันผล ซื้อสลากออมสิน ซื้อหุ้น และกองทุนรวมต่างๆ ซึ่งการลงทุนแต่ละแบบมีความเสี่ยงและผลกำไรที่แตกต่างกัน ควรศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุน
::: หางานพิเศษ :::
หากคุณมีเวลาว่างก่อนเริ่มงาน หลังเลิกงาน หรือในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดประจำปีต่างๆ ลองมองหาอาชีพเสริมที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ ก็เป็นวิธีหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้คุณค่ะ
เก็บเงิน ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ตั้งเป้าหมาย และมีวินัยกับตนเอง คุณก็สามารถมีเงินเก็บจำนวนมากได้ แม้ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานก็ตาม ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ