50 นิยามของภาวะจิตในรูปแบบต่าง ๆ
พระพุทธเจ้าทรงให้ทำความเข้าใจความจริงด้วยการภาวนาเป็นสำคัญ เพราะถ้าเราเพียงอ่านและฟัง ย่อมมีภาวะบางอย่างที่เราจะถูกภาษาหลอกเอา เช่น เราพูดกันอยู่เสมอว่า อย่ามองโลกแง่ร้าย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การมองโลกแง่ร้ายเป็นสิ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ทว่ามันปรุงแต่งของมันเองตามธรรมชาติจากสัญญาหมายจำในภพชาติก่อน ๆ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจภาวะตามจริงของอาการและนิยาม จึงขอหยิบยกนิยามที่คนมักเข้าใจผิดมาให้พิจารณาสัก 50 ข้อ ซึ่งนิยามเหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำความเข้าใจตนเองและการภาวนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่กระทำกันอยู่
- อยากลงมือทำ = ฉันทะ
- อยากได้ความสำเร็จ = ตัณหา
- รักแท้ = เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
- รักหนุ่มสาว = เมตตา ตัณหา ราคะ
- รักหลอก = ตัณหา ราคะ
- ความสุข = ภาวะปรุงแต่งด้านบวก
- ความทุกข์ = ภาวะปรุงแต่งด้านลบ
- เบิกบาน = ไม่ปรุงแต่ง เป็นกลาง ไม่บวกไม่ลบ
- ฌานสมาธิ = จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อดับความคิด
- สมาธิการงาน = จิตจดจ่อกับการงานตรงหน้า ใช้การงานเป็นกรรมฐาน
- วิปัสสนา = การสังเกตความจริงของร่างกาย ความรู้สึก ความคิด จนเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของรูปนาม
- ปัจจุบันขณะ = การตระหนักรู้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอัตตาหายไปเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง
- การพัฒนาจิต = กระบวนการที่นำไปสู่ความเข้าใจเพื่อการปล่อยวาง
- ปัญญา = ความสามารถในการปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ
- ความฉลาด = ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ
- การคิดวิเคราะห์ = การประมวลข้อมูลและประสบการณ์เก่า นำไปสู่การตัดสินใจต่าง ๆ
- ปัญญารู้แจ้ง = ภาวะไร้ผู้คิด เข้าใจสรรพสิ่ง
- ชีวิต = กระบวนการทำงานของขันธ์ 5 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
- รู้จักตนเองทางโลก = รู้หนทางบำรุงกิเลสฝ่ายดีและฝ่ายเลวของตน
- รู้จักตนเองทางธรรม = รู้ความจริงเรื่องเหตุปัจจัยในการสร้างอัตตาของตน รู้หนทางยุติการบำรุงกิเลสทั้งฝ่ายดีและฝ่ายเลว
- พุทธะ = ผู้ทำลายความหลงผิดว่ามีตัวเรา
- เวลาทางโลก = อดีต อนาคต ปัจจุบัน
- เวลาทางธรรม = ไร้เวลา เกิดขึ้น ดับไปขณะจิตนั้น ๆ
- การแสวงหาทางโลก = เรียนรู้ภายนอก เพื่อเข้าใจภายใน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไปตามทัศนคติของตน
- การแสวงหาทางธรรม = เรียนรู้ภายใน เพื่อเข้าใจภายนอก เพื่อปล่อยวางภายในภายนอก
- ความสำเร็จทางโลก = การได้มาซึ่งลาภ ยศสรรเสริญ สุข
- ความสำเร็จทางธรรม = เป็นอิสระจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และสิ่งทั้งปวง
- การภาวนา = อุบายการพิจารณาเพื่อเข้าใจความจริง
- ลมหายใจ = ฐานที่ตั้งเพื่อหยั่งรากสมาธิ นำไปสู่ วิปัสสนา เพื่อทำลายอัตตาตัวตน
- ความฟุ้งซ่าน = ภาวะความปั่นป่วนอันเกิดจากการปรุงแต่ง
- การใช้ความคิด = กำหนดสมาธิและสติลงไปเพื่อแก้ไข ปรับปรุงการงานตรงหน้า
- จิตสำนึก = ความรู้ สิ่งที่รู้ รู้ในความหมายของภาษา บัญญัติ คลังสัญญา ความจำ
- จิตใต้สำนึก = ความจำ ธาตุสัญญา ประสบการณ์เก่าซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกสุขทุกข์
- อดีต = การปรุงแต่งโดยใช้สัญญาในเวลาปัจจุบัน
- อนาคต = การปรุงแต่งโดยปรับเปลี่ยนสัญญาตามทัศนะในเวลาปัจจุบัน
- โลกความจริง = ผลอันเกิดจากความเข้าใจระดับจิตว่า โลกคือภาวะซึ่งสร้างจากการปรุงแต่ง
- โลกสมมุติ = ผลสืบเนื่องจากการไม่เห็นความจริงเห็นว่าสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความจริง
- ระงับความโกรธ = ความตั้งใจที่จะจดจ่ออยู่ในความว่าง ด้วยสมาธิบ้าง วิปัสสนาบ้าง การตรึกคิดที่เป็นกุศลบ้าง
- ความโกรธ = อาการที่จิตหลุดเข้าไปในการปรุงแต่งมีสัญญาใหญ่ฝ่ายอกุศลครอบงำ สติดับ สมาธิดับ กิเลสพุ่ง
- ความดี = ขณะจิตดำรงอยู่ในเมตตา กรุณามุทิตา อุเบกขา การตื่นรู้
- ความชั่ว = ขณะจิตดำรงอยู่ในโมหะ โลภะ โทสะราคะ ความหลงในตัวตน
- ปฏิบัติธรรม = กระบวนการทำลายกิเลสทั้งรูปและนาม
- ความจริงสูงสุด = เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
- เข้าใจความจริง = ออกจากหนทางแห่งการเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป
- ความตาย = ภาวะเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบชีวิตใหม่อันเกิดจากการปรุงแต่งของจิต
- อัตตาตัวตนตาย = ยุติภาวะของการเปลี่ยนผ่านทางจิต เข้าสู่ภาวะไร้การเกิดดับ
- คน = สัตว์ที่มีศักยภาพในการฝึกฝนสติในขั้นสูงสุด
- มนุษย์ = วิวัฒนาการของสัตว์ที่ได้รับการฝึกสติมาแล้วพอสมควร
- อริยบุคคล = มนุษย์ผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
- พระพุทธเจ้า = ผู้ค้นพบหนทางและถ่ายทอด
กระบวนการฝึกตน เพื่อบรรลุสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เราเรียกมนุษย์ประเภทนี้ว่า “พระอรหันต์”
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ท่านเคยถามตนเองบ้างหรือไม่ว่าท่านเกิดมาเพื่ออะไร ขอให้ท่านมองไปที่คนทั้งโลกแล้วหยุดพิจารณา ในยุคสมัยที่มีแต่การแก่งแย่งแข่งขัน ท่ามกลางเสียงโฆษณาชวนเชื่อถึงชีวิตที่ผาสุกและสมบูรณ์แบบ
ข้าพเจ้าอยากถามท่านว่า ท่านเคยเห็นใครบ้างไหมที่มีความสุขและพอใจกับชีวิตของตัวเองจริง ๆ เราฟังกันมานานแล้วว่า ความสุขเป็นสิ่งที่หาง่าย แต่เราแทบไม่เคยเห็นใครสักคนที่มีความสุขได้อย่างที่พูด แล้วท่านอยากเป็นเช่นนั้นหรือ
ท่านทั้งหลาย ชีวิตของเราเป็นสิ่งมีค่า ทว่าชีวิตก็มีวันหมดอายุ ไม่ช้าความตายย่อมเกิดกับเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง คำถามสำคัญที่ท่านต้องย้ำกับตนเองให้มาก ๆ คือ
“ท่านกำลังทำอะไรอยู่ ท่านกำลังใช้ความเป็นมนุษย์ของท่านเพื่อทำอะไรอยู่”
เรื่อง พศิน อินทรวงค์
ข้อมูลจาก คอลัมน์ Heart and Soul นิตยสาร Secret
บทความน่าสนใจ
10 ข้อคิดเปลี่ยนชีวิตที่คับแคบให้กลายเป็นท้องฟ้ากว้างใหญ่ โดยคุณพศิน อินทรวงค์
10 ข้อปฏิบัติเพื่อการเติบโตของจิตวิญญาณ โดยคุณพศิน อินทรวงค์
10 ความเข้าใจผิด ที่ทำให้คนเราทุกข์ไปจนตาย!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์
10 ความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรตระหนัก!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์