ศาสตร์ศิลป์บนเส้นทางธรรม ณ "เฮือนชมจันทร์" เชียงราย

ศาสตร์ศิลป์บนเส้นทางธรรม ณ “เฮือนชมจันทร์” เชียงราย

ศาสตร์ศิลป์บนเส้นทางธรรม ณ “เฮือนชมจันทร์” เชียงราย

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”

เพราะตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีล้านนาและวัฒนธรรมล้ำค่าที่กำลังจะสูญหายไป คุณซัน– ชยานนท์ ปัญญาธีรพงษ์ จึงสร้างเฮือนชมจันทร์บ้านทรงล้านนาประยุกต์ขึ้น  ในพื้นที่บ้านป่าแดง  ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย

คุณซันมิได้ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อคุ้มกายจากแดดฝนและตอบแทนพระคุณบุพการีเท่านั้นแต่ยังเปิดกว้างให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาของกลุ่มเยาวชนทีชื่อว่า “กลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดิน” อีกด้วย

คุณซัน– ชยานนท์ ปัญญาธีรพงษ์ คนรุ่นใหม่ผู้ริเริ่ม เฮือนชมจันทร์

 

“เดิมทีผมทำงานรับใช้พระอาจารย์ว.วชิรเมธี หลายปีจากนั้นมีโอกาสไปเรียนที่ซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียช่วงที่อยู่ต่างประเทศผมได้เห็นวัฒนธรรมของต่างชาติเห็นว่าเขาพยายามรักษาวัฒนธรรมของตัวเองไว้ไม่ให้สูญหายจึงนึกถึงบ้านเกิดและคิดว่าหากเราไม่รีบทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาวัฒนธรรมล้านนาไว้สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้คงสูญสลายไป

“ผมตระหนักรู้จากตอนบวชเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นว่า การได้พบเจอและทำเพื่อกันและกันขณะมีชีวิตอยู่นั้นสำคัญที่สุดดังนั้น ผมจึงอยากปลูกบ้านให้พ่อได้อยู่สุขสบายขณะที่ท่านยังมีชีวิต และเปิดบ้านหลังนี้ต้อนรับกัลยาณมิตรทั้งหลาย เมื่อกลับมาประเทศไทย จึงสร้างบ้านทรงล้านนาประยุกต์ที่คงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบล้านนาดั้งเดิม และประยุกต์บางส่วนให้เป็นแบบร่วมสมัย และวางแผนไว้ว่าจะทำธุรกิจของตัวเอง”

ระหว่างสร้างบ้าน คุณซันเห็นเด็กสองคนพี่น้องซึ่งฐานะไม่ค่อยดี เดินลัดทุ่งนาเพื่อหวังมาเรียนดนตรีกับพ่อจันทร์ ปัญญาธีรพงษ์คุณพ่อของเขาซึ่งเป็นครูดนตรีพื้นเมือง ที่มักเดินทางไปสอนดนตรีให้กับคนในชุมชนเผ่าบีซูบนดอยห้วยส้านพลับพลา และชุมชนต่างๆ ภาพนั้นทำให้คุณซันรู้สึกสะเทือนใจ คิดว่าความยากจนทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีโอกาสไปเรียนพิเศษอย่างเด็กคนอื่นๆ

สิ่งปลูกสร้างสอดแทรก เอกลักษณ์ล้านนา ทุกส่วนของบ้านมีนัยยะซ่อนไว้

 

เขาจึงพักความคิดที่จะสร้างธุรกิจไว้แล้วรีบสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา และเปิดให้เป็นโรงเรียนหลังเลิกเรียนเพื่อสอนดนตรีล้านนา การฟ้อนรำ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ให้เด็กๆ ในชุมชน และเด็กๆ ชนเผ่าบีซู เพื่อต่อลมหายใจให้กับวัฒนธรรมล้านนาที่นับวันก็ยิ่งสูญหายและตั้งชื่อกลุ่มเยาวชนว่า ‘กลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดิน’

“เด็กบางคนฐานะยากจน พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเท่าไรนักผมจึงอุทิศเวลาว่างมาใช้ร่วมกับเด็ก และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อเติมเต็มช่องว่างให้พวกเขา ผมคิดว่าเด็กเหล่านี้เปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ หากเราหว่านเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ลงไปบนดินดี พวกเขาก็จะเจริญเติบโตเป็นคนดีของสังคม ส่วนบ้านหลังนี้และกัลยาณมิตรใจดีทั้งหลายก็เปรียบเหมือนดินดีที่สนับสนุนให้เด็กๆเติบโตอย่างสง่างามเพราะผมตระหนักดีว่า สภาพแวดล้อมส่งผลต่อเด็กๆ เพียงใด”

ส่วนชื่อเฮือนชมจันทร์ หรือเรือนชมจันทร์ ตั้งขึ้นเพราะหวังให้สิ่งที่ตั้งใจสร้างขึ้นนี้เป็นแสงสว่างชี้ทางให้กับเด็กๆ และครอบครัวของเขาแม้ในยามมืดมิด

ครูส้ม สอนเด็ก ๆ รุ่นเล็กรุ่นใหญ่ฟ้อนรำ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ อ่านหนังสือ และเรียนดนตรี
เด็ก ๆ เล่นดนตรีพื้นบ้านอย่างเชี่ยวชาญ

 

“เราไม่ได้สอนดนตรีพื้นบ้านและฟ้อนรำเพียงอย่างเดียว ก่อนที่จะฝึกซ้อม เราจะให้เด็กๆ สวดมนต์ไหว้พระ และทำสมาธิก่อนเข้าสู่กิจกรรม จากการฝึกฝนเช่นนี้ทำให้เด็กๆ บางคนมีผลการเรียนและพฤติกรรมดีขึ้น เพราะเขามีสติ และสมาธิ”

“ผมเอง ถ้าไม่ได้เจอพระอาจารย์ ไม่ได้เข้าหาธรรมะ ก็ไม่รู้ว่าวันนี้ตัวเองจะไปอยู่ที่ไหน เพราะในอดีต ผมเอาแต่สังสรรค์ แต่ไม่เคยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เลย”

ผลจากความสร้างสรรค์ของเขา กลายเป็นสะพานบุญที่ส่งผลให้เด็ก ๆ มีรายได้เสริมจากงานเล่นดนตรีในงานต่างๆ เป็นค่าขนมและเป็นทุนการศึกษาต่อไปในอนาคต บางคนมีความฝันอยากเป็นครูสอนภาษาจีน แต่ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีเงินทุน เมื่อได้เรียนดนตรี และฟ้อนรำ จึงได้พบผู้มีพระคุณที่ยินดีเกื้อหนุนส่งเสียให้เรียนจนจบระดับปริญญาตรี


พ่อจันทร์ ปัญญาธีรพงษ์ พ่อครูแห่งเฮือนชมจันทร์ผู้ปลูกฝังจิตวิญญาณของศิลปินล้านนาให้เยาวชน เล่าให้เราฟังว่า จากเดิมที่ชาวบ้านเล่นดนตรีกันทุกบ้าน แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว สังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนไม่เล่นดนตรีกันเหมือนเก่า จึงไปเป็นครูสอนดนตรีตามที่ต่างๆ พ่อจันทร์จึงกลัวว่าดนตรีพื้นเมืองจะหายไปจากเชียงราย

พ่อจันทร์ ปัญญาธีรพงษ์ ศิลปินล้านนาผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
“ดนตรีไม่มีโกรธ ไม่มีเกลียด ธรรมะกับดนตรีเหมือนกัน ช่วยขัดเกลาให้เราเป็นคนดี ไม่โกรธ ไม่เกลียดคนอื่น พ่อเอง เวลาสอนดนตรีให้เด็กๆ ก็ไม่เคยดุด่า แต่จะบอกให้เขาตั้งใจเรียน เคยห่วงว่าหากวันหนึ่งพ่อตายไป ใครจะมาสอน แต่ตอนนี้ลูกชายมาช่วยแล้ว ดีใจและภูมิใจมาก ยังมีหน่อคำ กับหลานสาวที่พ่อพอวางใจให้สืบสานดนตรีล้านนาต่อไปพ่อก็เบาใจ”

ครูหน่อคำ- หน่อคำ สมสวัสดิ์ ที่พ่อจันทร์พูดถึง คือครูผู้ช่วยจิตอาสาที่มีความพิเศษทั้งทางกาย และจิตใจ แม้จะเกิดมาไร้แขนขา แต่พี่หน่อคำก็ไม่ย่อท้อ เดินหน้าส่งต่อกำลังใจและแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นอีกมากมายรวมไปถึงเด็กๆ เยาวชนกลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดินด้วย

ครูหน่อคำ- หน่อคำ สมสวัสดิ์ ศิลปินผู้เปี่ยมด้วยแรงใจอันยิ่งใหญ่
“ผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่กำเนิด ตอนเป็นวัยรุ่น ผมรู้สึกท้อแท้ที่เกิดมาไม่เหมือนคนอื่น จนกลายเป็นปมในใจ ช่วงนั้นเป็นวัยที่เราต่อสู้กับความคิดว่าจะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร กระทั่งเข้าใจสัจธรรมว่าเราไม่สามารถเลือกเกิดได้ แต่เราต้องอยู่กับมันให้ได้ และต้องพัฒนาตนเอง สิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ ก็ต้องฝึกฝนจนสามารถเอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ ให้ได้
“สำหรับผม กำลังใจจากตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราสามารถเติมกำลังใจให้กับตนเองได้จากสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจากธรรมะ พบปะกัลยาณมิตร และการรู้จักเป็นผู้ให้ เพราะยิ่งให้เหมือนยิ่งได้รับ ยิ่งให้ ยิ่งเพิ่มพูน ดังนั้น ในหนึ่งอาทิตย์ หากปลีกตัวมาได้ ผมก็จะรีบมาสอนเด็กๆ ที่นี่เมื่อเด็กๆ เห็นว่าขนาดผมยังสามารถเล่นดนตรีได้ พวกเขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา

“ผมคิดว่าดนตรีล้านนา คือศิลปะพื้นบ้านที่เราควรอนุรักษ์ไว้ และเป็นสิ่งดีที่ผมอยากถ่ายทอดให้ลูกหลาน เพราะดนตรีช่วยขัดเกลาให้เราเป็นคนอ่อนโยน และมีสมาธิ ทั้งยังเป็นกุศโลบายที่จะดึงเด็กๆ ออกมาจากโซเชียลเน็ตเวิร์ค และสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารสาระ”

 

แม้ปัจจุบัน เยาวชนเหล่านี้เป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ แต่หากได้พบดินดีที่อุดมสมบูรณ์ และได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยสายธารแห่งความเมตตาเช่นนี้ ในอนาคต พวกเขาย่อมเติบโตเป็นต้นกล้าแห่งความดีที่สง่างามอย่างแน่นอน


เรื่อง : อิสรา ราชตราชู, อุราณี ทับทอง  ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี

ที่มา : นิตยสาร Secret ปี 2560 ฉบับที่ 221 (10 ก.ย. 60)

 

 

บทความน่าสนใจ

เฮือนชมจันทร์ โรงเพาะชำเมล็ดพันธุ์แห่งศาสตร์ศิลป์ ล้านนา

วัดพระแก้ว เชียงราย พุทธศิลป์ล้านนา ตำนานพระแก้ว

น้ำพริกอี่เก๋ เมนูอร่อยรสเด็ดชาวล้านนา

แกงกระด้าง เมนูสุขภาพปลอดเนื้อสไตล์ล้านนา

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.