เที่ยวตามรอยนิยาย “กาหลมหรทึก”
กาหลมหรทึก (กา-หน-มะ-หอ-ระ-ทึก) คือนิยายสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมระทึกขวัญย้อนยุค แฝงเงื่อนงำ ผูกเรื่องโดยใช้ ‘กลโคลง’ และฉากที่เป็นเหตุการณ์และสถานที่จริงในเขตธนบุรีและพระนครท่ามกลางไฟสงครามโลกครั้งที่ 2
หากใครได้อ่านนิยายเรื่องนี้แล้ว ย่อมจินตนาการถึงสถานที่สำคัญในเนื้อเรื่องที่ผู้เขียนได้พรรณนาไว้อย่างละเอียดลออ แม้ดูภาพจากละครก็อาจยังไม่จุใจ สำนักพิมพ์อมรินทร์จึงจัดทริปเที่ยวตามรอยนิยาย โดย“ปราบต์”ผู้เขียนและผู้อ่านจำนวนหนึ่ง เดินเที่ยวชมสถานที่ซึ่งเป็นฉากสำคัญในเรื่อง แต่ละที่มีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจมากทีเดียว
ตรอกศาลาต้นจันทน์จุดเริ่มต้นเปิดเรื่อง
ตรอกศาลาต้นจันทน์อยู่ในย่านวังหลัง ไม่ไกลจากวัดระฆังโฆษิตาราม เดิมศาลาต้นจันทน์เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูง ทิศเหนือด้านหน้ามีต้นจันทน์ 2 ต้น ตัวศาลาอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี เป็นศาลาเอนกประสงค์ ชาวบ้านย่านวังหลังใช้ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น ทำบุญประจำปี สงกรานต์ ต่อมาเมื่อขยายถนนอรุณอมรินทร์จึงต้องรื้อศาลาออก และ
ปัจจุบันศาลาเดิมนี้ย้ายไปอยู่ที่เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ ภายหลังชาวบ้านร่วมทุนกันสร้างศาลศาลาต้นจันทน์ลักษณะเดิมไว้บริเวณเดิม
ถัดจากศาลศาลาต้นจันทน์คือ ตรอกศาลาต้นจันทน์ ตรอกแคบ ๆ ที่นักเขียนได้เดินเข้ามาสำรวจหาภาพบ้านต้นแบบในการบรรยายฉากบ้านหลังหนึ่งที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรมเปิดเรื่อง
ศาลเจ้าเกียนอันกงอารามอันสงบและงดงาม
ศาลเจ้าเกียนอันกง หรือ ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ของชุมชนกุฎีจีน ตัวศาลตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือวัดกัลยาณมิตร สามารถเดินมาตามทางเดินแคบ ๆ เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศในศาลเจ้าเงียบสงบ และสวยโดดเด่นด้วยศิลปะจีน
“เกียนอันกง”มีความหมายว่า อารามที่สร้างความสงบสุข ว่ากันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นผู้สร้างขึ้น มีไม้แกะสลักและภาพจิตกรรมฝาผนังที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะความสวยงามเป็นเอกลักษณ์แต่เงียบสงบนี้ นักเขียนจึงเลือกศาลเจ้าแห่งนี้เป็นฉากสำคัญของเรื่อง
ชุมชนกุฎีจีนชุมชนเก่าของขนมโบราณ
เดินออกจากศาลเจ้าเกียนอันกง จะพบกับโบสถ์ซางตาครูส ด้านหลังโบสถ์คือชุมชนกุฎีจีน ชุมชนเก่าที่ผสานวัฒนธรรม3 ศาสนา 4 ความเชื่อคือ ศาสนาคริสต์ อิสลาม พุทธศาสนานิกายลัทธิหินยาน และลัทธิมหายานเดิมเป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ขนมกุฏีจีนเป็นขนมโบราณของชุมชน มีต้นตำรับมาจากโปรตุเกส ผสมผสานกับหน้าขนมแบบจีนด้วยการโรยลูกเกด หรือลูกพลับ
ชุมชนแห่งนี้ยังคงเหลือร้านขนมแห่งหนึ่งที่อบขนมด้วยวิธีดั้งเดิม ด้วยการใช้เตาถ่านแบบโบราณ และเตาอบนี้อยู่ในฉากคดีฆาตกรรมสำคัญในเรื่องเช่นกัน
วัดประยูรวงศาวาสวรวิหารวัดรั้วเหล็กในอดีต
เดิมที่ดินของวัดนี้เป็นสวนกาแฟของสมเด็จพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งอุทิศถวายเพื่อสร้างเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ.2371 สมัยก่อนชาวบ้านเรียกติดปากว่าวัดรั้วเหล็ก เนื่องจากรั้ววัดสูงโปร่งราวสามศอกเศษ ปลายและบางส่วนเป็นรูปอาวุธสามประเภท ได้แก่ ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก และหอกสามแสน นำเข้ามาจากอังกฤษตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อเป็นกำแพงวังในตอนต้น แต่เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ผู้สั่งรั้วนี้มาจึงกราบบังคมทูลขอใช้เป็นกำแพงวัดแทน ปัจจุบันสามารถหาชมได้ในเขตภายในวัด
นอกจากนี้วัดยังมีเจดีย์สีขาวทรงกลมสูงใหญ่โดดเด่น นามว่า พระบรมธาตุเจดีย์ เจดีย์แบบลังกาวงศ์องค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงเขามอ ภูเขาจำลองก่อด้วยศิลากลางสระน้ำ ซึ่งได้เค้าโครงมาจากหยดเทียนขี้ผึ้งในห้องลงพระบังคนหนักของรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีกล่าวอยู่นิยายเรื่องนี้ และนิยายเรื่อง นิราศมหรรณพ ของปราบต์เช่นเดียวกัน
ส่วนฉากสำคัญของคดีที่ 2 ในเรื่องกาหลมหรทึก คือ กุฎิคณะ 11 ซึ่งปัจจุบันทาสีใหม่เป็นสีเหลืองอร่ามหาได้ไม่ยากนัก
ย่านสามแพร่งหนึ่งย่านชุมชนที่เคยเจริญมากที่สุด
ข้ามมาฝั่งกรุงเทพ เยี่ยมชมย่านสามแพร่ง ชุมชนเก่าแก่ที่เคยติดอันดับเจริญมากที่สุด เดิมเป็นที่ประทับของพระโอรส 3 พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระนามกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกแพร่งทั้งสามคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ (แพร่งภูธร) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (แพร่งนรา) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ (แพร่งสรรพศาสตร์)
ณ ย่านสามแพร่งนี้ เป็นฉากของร้านขนมกุฎีจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่พบศพถูกหั่นในเตาอบขนม ส่วนฝั่งตรงข้ามคือ โรงเรียนวัดมหรรณพ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามแหล่งศึกษาจากจารึกหินอ่อน
เดินออกจากย่านสามแพร่ง ลัดเลาะผ่านอาคารกระทรวงกลาโหม และสวนสราญรมย์ ข้ามถนนมาถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ จุดศูนย์กลางของสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญทั้งหมดในเรื่อง และถือเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายเรื่องนี้ เพราะเป็นที่จารึกของกลโคลงต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจของนักเขียน
วัดพระเชตุพนฯ ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่แผ่นดินอยุธยา พระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ยกเป็นพระอารามหลวง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาเป็นวัดหลวง และโปรดเกล้าฯบูรณะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ดำเนินการนานกว่า 16 ปี โดยเพิ่มจารึกหินอ่อนประดิษฐ์ไว้ตามศาลาราย เป็นความรู้หมวดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 8 หมวด 38 เรื่อง บนศิลา 1,440 แผ่น จึงเป็นที่มาของสมญามหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศและเมื่อปี พ.ศ.2554 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนจารึกทั้งหมดนี้เป็นมรดกความทรงจำโลก
ความรู้ด้านคำประพันธ์ในรูปแบบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย และสุภาษิต ถูกจารึกไว้ในแผ่นหินอ่อนเช่นกัน ซึ่ง “กลโคลงพรหมภักตร์”คือต้นแบบของการเขียนโคลงปริศนาในเรื่อง อยู่ที่พระระเบียงอุโบสถฝั่งทิศใต้ ประตูทางเข้าที่ 1 เสาด้านขวา
กลโคลงพรหมพักตร์ เป็นคำประพันธ์โคลงกลบทที่เรียกว่า กลแบบ ซึ่งกวีจะซ่อนรูปคำประพันธ์ไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วาดเป็นรูปพญานาค รูปดอกบัว รูปยันต์ หรือใช้เส้นลากคำ ผู้อ่านจะต้องรู้รูปแบบฉันทลักษณ์และลักษณะบังคับจึงตะสามารถถอดคำอ่านได้ถูกต้อง โดยกลโคลงนี้ต้องอ่านเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลาง โดยยึดคำว่า “เรียม” เป็นคำขึ้นต้นของทุกบาทซึ่งปราบต์อ่านให้ทุกคนฟังว่า
“เรียมหวาดขวันหวั่นว้า หวาดขวัน
เรียมโศกศร้อยสุดศัลย โศกศร้อย
เรียมจิตรครากเจ็บครัน จิตรคราก
เรียมทุกข์ร้อนยิ่งร้อย ทุกข์ร้อนหวาดขวัน”
กลโคลงนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนได้สร้างกลโคลงห้าเหลี่ยมที่ดำเนินเรื่องราวได้อย่างระทึกใจ
เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง เราได้ความรู้เกร็ดประวัติศาสตร์จากสถานที่แต่ละแห่งมากยิ่งขึ้นหากได้อ่านนิยายแล้วมาเดินทางมาตามรอยชมสถานที่ในเรื่องไปด้วย ก็คงทำให้เกิดจิสตนาการและซึมซับเรื่องราวได้ดีขึ้นไม่น้อย
นี่แหละคือเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ “กาหนมหรทึก” ที่ผู้เขียนเหมือนจะแอบเชิญชวนให้ผู้อ่านไปเห็นภาพจริงที่ปรากฏอยู่ในนิยายา
ความรู้สึกนักเขียน
“แรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่อง กาหลมหรทึกคือ วันหนึ่งขณะที่นั่งรถไปต่างจังหวัด ผมได้ฟังรายการวิทยุที่พูดเรื่องจารึกที่วัดโพธิ์ และกลโคลง ที่นำโคลงมาซ่อนในแผนภาพ แล้วแก้กลเพื่ออ่านออกมาอีกที พอได้ยินก็คิดถึงเรื่องดาวินชี โค้ด
“แต่กว่าจะนำกลโคลงนี้มาเขียนเป็นเรื่องก็นานเหมือนกัน เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งด้านนี้ แต่พอวันหนึ่งได้รู้ว่ามีการประกวดนิยายรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด จึงเริ่มหาข้อมูลอย่างหนัก และเขียนเสร็จภายใน 3 เดือน
คอนเซ็ปต์ของเรื่องเริ่มต้นจากตัวกลโคลงก่อน จากนั้นก็นำมาใส่เป็นรหัสลับ ซึ่งถอดออกมาได้เป็นภาพห้าเหลี่ยม แล้วนำไปเชื่อมโยงกับสถานที่ต่าง ๆ 5 สถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน ก็ยึดปูมประวัติจากตรงนั้นมาเขียนเป็นเรื่องครับ”
ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราบต์
เจ้าของนามปากกา “ปราบต์”ผู้เขียน กาหลมหรทึก
นิยายยอดเยี่ยม รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2557
ที่มา: Serve Your Senses นิตยสาร Secret ฉบับ 232 เมษายน 2561
เรื่อง: เชิญพร คงมา, ชลิตา รักธรรมนูญ ภาพ: สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความน่าสนใจ
สู้สุดหัวใจ นิยามชีวิตของ จอห์น มกจ๊ก ตลกหญิงร่างเล็กใจสู้
เสน่ห์มัดใจ สร้างได้ด้วยธรรม ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
Dhamma Daily: ผม โดนโกงเงิน แต่เห็นคนโกงยังอยู่ดีมีสุข เขาจะได้รับกรรมอย่างไร