ด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ ครูอาสาจากแดนไกล บ้านกรูโบ
เธอคือ “ครูอาสาสมัคร” คนหนึ่งที่หยัดยืนและทุ่มเททำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติมานานร่วม 20 ปี ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านกรูโบ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โรงเรียนซึ่งได้ชื่อว่า “ไกลที่สุด” บนผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก
ครูเจี๊ยบ – นฤมล แก้วสัมฤทธิ์ เป็นครูเพียงคนเดียวที่ดูแลเด็ก ๆ และชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ เธออยู่ที่นี่ตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนในปี 2541 ไร้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ การเดินทางยากลำบาก ต้องขับรถยนต์จากอำเภออุ้มผาง 111 กิโลเมตร ถึงบ้านหม่องกั๊วะ และนั่งรถอีต๊อกต่ออีก 23 กิโลเมตรกว่าจะถึงหมู่บ้านกรูโบ
แต่ละเดือนครูเจี๊ยบต้องเดินทางไป - กลับอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพื่อนำเสบียงอาหารกลางวันไปให้ลูกศิษย์กว่า 60 ชีวิต หากย้อนไปเมื่อราว 20 ปีก่อน ยังไม่มีถนนตัดผ่านถึงบ้านหม่องกั๊วะ เธอต้องเดินเท้านานข้ามวันกว่าจะถึงตัวอำเภออุ้มผาง ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนต้องเดินไปอีกเส้นทาง ซึ่งใช้เวลาถึง 3 วันเลยทีเดียว
ใครจะทนความยากลำบากเพื่อผู้อื่นได้หากปราศจากแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ ครูเจี๊ยบก็เช่นกัน
ก่อนทำงานครูอาสา ชีวิตของครูเจี๊ยบเป็นอย่างไรบ้างคะ
ครูเติบโตในชนบท เกิดที่จังหวัดกำแพงเพชร ความเป็นอยู่ในครอบครัวก็ถือว่าฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำรวย แต่ค่อนข้างดีกว่าคนละแวกนั้น เพราะคุณพ่อทำงานกรมทางหลวง มีลูกน้องหลายคน คุณแม่เป็นแม่บ้าน ตอนเด็ก ๆ เรียนโรงเรียนใกล้บ้านนั่งรถมาโรงเรียนแค่ 2 กิโลเมตรครึ่ง มีรถรับส่งไป - กลับทุกวัน จำได้ว่าเมื่อเข้าอนุบาลเราเรียนรู้เร็วกว่าคนอื่นจึงได้เลื่อนชั้นขึ้น ป.1เลย เพราะคุณแม่เคยสอนหนังสือเรามาก่อน
ตอนเป็นเด็ก ครูไม่มีความคิดว่าอยากทำอาชีพอะไรหรอก แต่พอเรียนถึงม.ศ.5 (เท่ากับ ม.6 ในปัจจุบัน) ครอบครัวก็อยากให้เป็นหมอ พยาบาลหรือทหารอากาศเหมือนญาติพี่น้อง แต่เราเรียนสายศิลป์ - ภาษา ไม่ได้เรียนสายวิทย์ สอบไม่ได้ จึงไปสอบเรียนต่อที่วิทยาลัยครูกำแพงเพชรจนจบ ป.กศ.สูง (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง) หลังเรียนจบจึงสมัครเป็นครูอาสาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในกำแพงเพชร ระหว่างนั้นเรียนภาคพิเศษวันเสาร์ - อาทิตย์ไปด้วยเพื่อให้จบปริญญาตรี
หลังจากเรียนจบก็กลับมาอยู่บ้านกระทั่งแต่งงานมีลูกชาย 1 คน ก็ยังไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง ดูโทรทัศน์เห็นชีวิตชาวเขาบนดอยบรรยากาศดี เงียบสงบก็อยากไปอยู่บ้าง จึงสมัครเป็นครูอาสาสมัครไปที่แม่ฮ่องสอน แต่ตอนนั้นคุณแม่ไม่ให้ไปจึงสมัครใหม่ไปที่จังหวัดตาก แม่เห็นว่าไม่ไกลก็เลยยอม แต่จริง ๆ แล้วคืออำเภอแม่สอด ติดชายแดน
พอแม่รู้ก็บ่นด้วยความเป็นห่วงกลัวจะลำบากเพราะอยู่ไกล เป็นโรงเรียนที่ทำจากไม้ไผ่ พื้นปูไม้อัด บ้านพักครูต้องนอนบนแคร่ ใช้ชีวิตอยู่กับชาวเขาเผ่าม้ง แต่ก็อยู่ได้อาจเป็นเพราะเวลาอยู่ที่บ้าน เรารู้สึกเหมือนถูกตีกรอบ แต่ครูเป็นคนชอบอิสระ อยากไปในที่ที่สบายใจ
ทั้งที่สามารถสอบบรรจุข้าราชการครูได้ ทำไมจึงเลือกเป็นเพียงครูอาสาสมัคร ซึ่งเงินเดือนน้อยกว่าและไม่มีสวัสดิการ
บอกตรง ๆ ว่าครูไม่ชอบครูในระบบราชการ เพราะรู้สึกว่าชักช้า ซับซ้อน ต้องมีเอกสารมากมาย ทั้งที่จริง ๆ แล้วเอกสารป้องกันการโกงไม่ได้ ระบบราชการไทยสร้างเอกสารที่ซับซ้อนเพื่อให้คนอื่นดูไม่รู้ว่าโกงต่างหาก ครูไม่ได้แอนตี้ราชการครู แต่ไม่ชอบระบบ จะลงมือทำอะไรสักอย่างก็ต้องบอกว่ารอนาย ยังไม่เสร็จเพราะติดตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่เรารู้สึกว่าเรื่องบางอย่างมันตัดสินใจได้เร็ว แต่ทำไมจึงไม่ตัดสินใจสักที
การเป็นครูอาสาแม้จะอยู่ในสังกัดกศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) แต่ก็สบายใจกว่า ส่วนเรื่องสวัสดิการ ครูไม่รู้สึกอะไรมันเป็นแค่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว
มาเป็นครูที่บ้านกรูโบได้อย่างไรคะ
ขณะที่สอนอยู่ที่แม่สอด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯมาที่พื้นที่บ้านกรูโบ พระองค์ตรัสถามตำรวจตระเวนชายแดนว่าเด็ก ๆ ที่หมู่บ้านแห่งนี้ไปเรียนหนังสือที่ไหน ตชด.ตอบว่าเด็ก ๆ บ้านกรูโบไปเรียนหนังสือที่บ้านแม่จันทะต้องเดิน 12 กิโลเมตร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระ-ราชกระแสรับสั่งให้ตั้งศูนย์การเรียนในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อประกาศรับสมัครครูอาสา ครูก็มาสมัครทันที เพราะรู้ว่าน้อยคนจะตัดสินใจมาเปิดดูแผนที่จะเห็นว่าเป็นโรงเรียนที่ไกลที่สุดของอำเภออุ้มผาง เพื่อนครูก็ทัดทานว่าทำไมไม่เลือกโรงเรียนที่ใกล้กว่านี้ จะไหวหรือเปล่าแต่ใจเรามันรู้สึกว่าอยากไปมาก ไม่กลัวความลำบากอะไรเลย
แต่เดินทางวันแรกเราก็แย่มาก ต้องเดินจากหม่องกั๊วะไปโรงเรียน 23 กิโลเมตรตอนนั้นยังไม่มีทางรถ จำได้ว่าเป็นเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนมาก ใบไผ่ร่วงเต็มพื้นครูทั้งหิวน้ำทั้งเหนื่อย เหนื่อยมาก เพราะเราไม่เคยเดินไกลขนาดนี้มาก่อนเลยในชีวิตไม่เคยลำบากขนาดนี้ อยู่ที่บ้านม้งเดินอย่างมากแค่ 3 ชั่วโมง แต่นี่เดินตั้งแต่เช้ายันหกโมงเย็น จนยกขาไม่ขึ้นก็ยังไม่ถึง
ครูร้องไห้นั่งลงกับดิน นอนลงกับดินร้องไห้คร่ำครวญอยู่หลายรอบ เพราะว่าเหนื่อยมาก แต่ไม่เคยถามตัวเองว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ ได้แต่ร้องไห้ด้วยความเหนื่อย
พอไปถึงหมู่บ้านตอนหกโมงเย็นชาวบ้านเห็นเราก็แปลกใจ เพราะเราเป็นครูผู้หญิงคนแรก เขาเคยเห็นแต่ครู ตชด.ผู้ชายเขาจะเข้ามาทักทาย แต่เราไม่อยากทำอะไรเลย เพราะยังรู้สึกเหนื่อย เช้าวันรุ่งขึ้นนั่งส้วมไม่ได้ งอขาไม่ได้มันเจ็บมาก ต้องนอนยกขาพาดขึ้นให้สูงจะได้ไม่ปวด
ต่อมาเจอหน้าฝนต้องเดิน 43 กิโลเมตรเดินสองสามวันจนหลับตาเดินร้องไห้ ยิ่งเมื่อก่อนใส่รองเท้าบู๊ตไม่เป็น เดินไปก้าวสองก้าวก็ถอยหลังลื่นล้ม ตามห้วยยังไม่มีสะพานมีแต่ราวไม้ไผ่ เราก็ว่ายน้ำไม่เป็น รองเท้าบู๊ตบีบเล็บหลุดหมด ตอนนั้นอายุสามสิบกว่าปียังมีแรงอยู่ แต่ตอนนี้ห้าสิบกว่าปี เดินแบบนั้นไม่ไหวแล้ว เมื่อเริ่มมีทางก็ต้องนั่งรถอีต๊อกเข้าไป
ถ้าเป็นเรื่องการกินการอยู่ ครูเป็นคนกินง่ายอยู่ง่าย กินมาม่า กินพืชผักได้หมดแต่เรื่องเดินเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์มากที่สุดโรงเรียนหยุดทุกวันที่ 1 - 7 พอถึงสิ้นเดือนวันที่ 28 - 30 ครูก็ลงมาประชุม มาจัดของที่จะใช้ทำอาหารกลางวันให้นักเรียน ประชุมเสร็จก็ต้องขึ้นไปโรงเรียน ถ้าเราเดินทุกวันละครึ่งชั่วโมงร่างกายเราก็จะอยู่ตัว แต่ของครูต้องเดินหนัก 3 วันพัก 10 กว่าวัน จึงทำให้เส้นเอ็นอักเสบถาวรจนถึงทุกวันนี้
ถอดใจไหมคะเมื่อต้องเหนื่อยขนาดนั้น
ไม่ถอดใจ ครูเป็นคนที่ร้องไห้แล้วมีพลังฮึดสู้ บางทีก็ร้องไห้รำพึงรำพัน บ่นกับตัวเองว่าเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ถึงสักที แต่พอร้องไห้เสร็จแล้วก็ไปได้ต่อ บางทีเห็นเด็ก ๆ รอเรา เขาดีใจที่เห็นเรากลับมาความรู้สึกตรงนั้นมันมีค่าจนทำให้เราลืมความเหนื่อย
ถ้าเป็นเรื่องงาน ครูจะอธิษฐานกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่า ลูกจะทำงานนี้ไม่ว่าจะยากหรือง่าย ขอให้ประสบความสำเร็จ สุดท้ายก็สำเร็จ ครูเชื่อว่าหากตั้งจิตว่าเราจะทำเพื่อชาวบ้าน เพื่อเด็ก ๆ เราเชื่อในจิตที่คิดดี แม้แต่เทวดาท่านต้องรับรู้ครูคิดแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานครูอาสา
เมื่อมาอยู่ที่บ้านกรูโบแล้วต้องปรับตัวอย่างไรบ้างคะ
ครูเคยอยู่กับชุมชนม้งมาก่อน พวกเขาขยันทำมาหากิน ตื่นตีสี่ตีห้าเพื่อไปไร่ไปสวนเด็กนักเรียนก็มาจุดเทียนกวาดโรงเรียนแล้วแต่ชุมชนกะเหรี่ยงอยู่แบบสมถะเรียบง่ายตอนมาใหม่ ๆ ปรับตัวยากอยู่เหมือนกันเพราะไปมองว่าเขาขี้เกียจหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วเราคิดผิด วิถีชีวิตของเขากลับมีประโยชน์ เพราะไม่ได้ล้างผลาญทรัพยากรอะไร เขาทำแค่พออยู่พอกิน
ชาวบ้านกรูโบส่วนใหญ่ทำไร่ทำนายากจน และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะภาษาไทยพูดกันแทบไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่อายุ 10 ปีแล้วก็ยังไม่ได้เรียน พอเรียนได้ 2 ปีก็ต้องออกไปทำไร่ทำนา ครูมาสอนเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ตอนนี้มีลูกศิษย์ที่เรียนจบไปแล้ว 25 คน
เมื่อก่อนนี้ช่วงกลางคืนครูก็ต้องสอนพ่อแม่ผู้ปกครองและสอนชาวบ้านที่มาจากหมู่บ้านอื่นด้วย ช่วงเสาร์อาทิตย์ครูจะพาเด็ก ๆ ไปเรียนกับพระที่วัด ส่วนครูก็สอนชาวบ้านไปเพื่อให้เขาได้วุฒิ ป.6 เอาไว้ไปสมัครทำงานอะไรได้
ทั้งโรงเรียนมีครูเจี๊ยบเพียงคนเดียวจัดระบบการเรียนการสอนอย่างไรคะ
ที่นี่ได้รับพระราชทานชื่อ “แม่ฟ้าหลวง”ครูจะต้องทำให้สมพระเกียรติ ให้พระองค์ทรงหายเหนื่อย ครูสอนให้เด็ก ๆ ช่วยกันดูแลโรงเรียน ตั้งแต่เด็ก ป.1 ถึง ป.6 ทุกคนมีหน้าที่ เมื่อถึงโรงเรียนตอนเช้าต้องกราบพระไหว้คุณครู เก็บกระเป๋าแล้วทำตามหน้าที่ของตัวเองก่อน เช่น ถูพื้น เช็ดโต๊ะ ทำความสะอาดห้องเรียน ขัดห้องน้ำ เตรียมอาหารกลางวัน เพื่อฝึกให้เขามีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตัวเอง แล้วเขาจะไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ในช่วงคาบเรียน ครูแบ่งสอนตามระดับชั้น ห้องเรียนเรามีอาคารเดียว ไม่มีผนังกั้นห้อง เพราะต้องมองเห็นเด็กทั้งหมดครูหมุนเวียนการสอนสลับกับให้ทำแบบฝึกหัด เด็กโตช่วยดูแลน้อง สอนน้องเน้นสอนวิชาเลขและภาษาไทยเป็นหลักเพราะสำคัญมาก เป็นวิธีที่ทำให้เขารู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นคนไทย แล้วเขาจะรักแผ่นไทย รักพระมหากษัตริย์ไทย
เราเป็นโรงเรียนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำอะไรก็ต้องให้สมพระเกียรติ สิ่งที่ครูเจี๊ยบทำยังไม่ได้หนึ่งในล้านที่พระองค์ทรงทำเลย ครูไม่พูดหรอกว่ารักพระมหากษัตริย์มากน้อยแค่ไหน รู้แค่ว่าต้องทำ แรก ๆ ครูเจี๊ยบไม่มีความพร้อมอะไร ไม่มีเงินพาเด็กนักเรียนออกนอกพื้นที่ ไม่มีทุนให้เด็ก ๆ เรียนต่อได้ทุกคนเพราะเขามีพ่อแม่ยากจนทั้งนั้น แต่ครูเจี๊ยบก็ทำด้วยเชื่อว่าตราบใดที่เราให้ความรู้ พวกเขาก็จะสามารถดูแลตัวเองได้ ดูแลชุมชนของตัวเองได้ อย่างลูกศิษย์ที่จบไปแล้วก็กลับมาเป็นครูภาษาไทยให้ชุมชน กลับมาดูแลกันได้จริง ๆ
สังคมมักพูดว่าสร้างชุมชนให้เข้มแข็งแต่ในการปฏิบัติจริงกลับไม่มีกิจกรรมไหนที่จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้เลย หรือมีแต่น้อยมาก เหมือนกับที่เราบอกว่าต้องสร้างเด็กดี แต่กิจกรรมไหนล่ะที่สร้างเด็กดี ไม่มีเลย มีแต่จะสร้างเด็กเก่งทั้งนั้น
เด็กดีในความหมายของครูเจี๊ยบเป็นแบบไหนคะ
เป็นเด็กที่มีศีลธรรม เรื่องนี้สำคัญมาก เดี๋ยวนี้เด็กเก่งจริง แต่เขาเก่งเพื่อประโยชน์ตัวเขา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ครอบครัวของเขา เอื้อเฟื้อใครไม่เป็นยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องความอ่อนน้อม-ถ่อมตน ครูสังเกตเห็นเด็กเดี๋ยวนี้ไหว้ใครไม่เป็น บางคนแม้แต่ยามที่แก่คราวพ่อต้องให้ยามยกมือไหว้เด็กเมื่อวานซืน นี่คือระบบการศึกษาไทย ระบบสังคมที่ถูกปลูกฝังมานาน บางครอบครัวมีคนรับใช้แก่คราวย่าคราวยายยังต้องมาไหว้เด็ก กินข้าวไม่ล้าง ทำอะไรเองไม่เป็น ถามว่าคนอย่างนี้หรือจะพัฒนาประเทศ มีแต่จะผลักภาระไปให้คนอื่น
จริง ๆ มันเป็นแค่จุดเล็ก ๆ แต่สำคัญมาก ครูจึงให้เด็กทำเองหมด ต้องเก็บเช็ดล้างของตัวเอง โต๊ะเรียนต้องกวาดเองถูเองจัดการตัวเองหมดโดยไม่ต้องสั่ง ใครมาโรงเรียนก็ตามต้องยกมือไหว้ และต้องไหว้พระพุทธรูปทุกวัน ครูอยากให้เขามีพระอยู่ในหัวใจ คนเราถ้าไม่มีศาสนาในหัวใจก็มีแต่จะเลวลง
ตลอดชีวิตครู ครูเจี๊ยบไม่เคยถามว่าเด็กจะได้เกรดเท่าไหร่ แต่สิ่งที่อยากเห็นก็คือขอให้เขาเป็นคนดี เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการศึกษา
ระยะหลังมานี้ครูเจี๊ยบไม่แข็งแรงเป็นอย่างไรบ้างคะ
กลางปีที่แล้วครูมีอาการเหนื่อยง่ายปัสสาวะน้อยผิดปกติ และเริ่มสังเกตว่าร่างกายบวมไปทั้งตัว หมอบอกว่าลักษณะคล้ายกับภาวะน้ำท่วมปอด ก็พักรักษาตัวแต่ครูก็ยังขึ้นไปสอนเด็ก ๆ จนกระทั่งหนังบริเวณหน้าท้องแข็งเป็นกระดาน ลูกชายจึงพาไปเข้าอุโมงค์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่โรงพยาบาลศิริราช หมอตรวจก็ไม่เจอสาเหตุแต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวกับโรคหัวใจ ให้ยามากิน ชาวบ้านก็ช่วยกันรักษาโดยหาสมุนไพรมาให้อบตัว ก็บรรเทาลงไปได้บ้าง
ตอนนั้นเรารู้สึกทรมานเหมือนมีกระดานอยู่บนหน้าท้อง เวลาเรานอนจะแน่นจุก กินอะไรนิดหน่อยก็รู้สึกอืด ครูร้องไห้จนอยากจะฆ่าตัวตาย เพราะมันทรมานแบบไม่รู้สาเหตุ จึงคิดว่าเราคงไม่มีโอกาสหาย แล้วเราจะอยู่ไปทำไม แต่พอเราร้องไห้แล้วก็ฮึดสู้อีก
หลายคนอาจคิดว่าทำดีแล้วทำไมยังต้องลำบาก ยังต้องป่วย ครูเชื่อว่ามันเป็นเรื่องการชดใช้กรรม เราต้องชดใช้กรรมตั้งแต่ตอนที่เรายังมีกำลังดีกว่าตอนที่เราแก่ไม่มีกำลัง หากสุดท้ายอยู่โรงเรียนไม่ไหวครูก็คิดว่าหมดเวลาทางโลกแล้ว คงถึงคราวที่เราต้องออกมาอยู่ในทางธรรม เพราะครูเชื่อว่าคนทุกคนสะสมบุญอยู่แล้วทุกชาติมันอยู่ที่ว่าคนเรามีต้นทุนมามากหรือน้อย บางคนก็ถอยหลังลงคลอง ไม่ได้สะสมบุญสะสมแต่บาป
เคยคิดถึงอาชีพอื่น ๆ หลังเกษียณไหมคะ
ไม่เคยคิดเลย คิดแต่อยากเป็นครูตอนนี้ที่คิดว่าคงไปไหนไม่ได้ก็เพราะเรื่องสุขภาพร่างกาย ห่วงก็แต่เด็กที่กำลังเรียนครึ่ง ๆ กลาง ๆ กลัวว่าจะไปไม่รอด เพราะบางคนที่ให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ อาจรู้สึกว่าเพราะเราอยู่ เขาจึงช่วย
เราเป็นครูในสายเลือด แม้วันหนึ่งไม่ได้ทำอาชีพครูแล้ว ก็จะยังเป็นครูอยู่ เพียงแต่เราจะสอนอะไรเขาเท่านั้น ถ้าจะไปปฏิบัติธรรมเราก็สอนเด็ก ๆ ได้ เราเป็นครูเขาได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องสอนในชั้นเรียน
ตอนสร้างโรงเรียนเสร็จใหม่ ๆ สมเด็จ-พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯมาที่อุ้มผาง ครูไปรับเสด็จด้วย ท่านตรัสถามว่ายังอยู่ที่บ้านกรูโบอยู่ไหม พระองค์ทรงจำแม่นมาก ครูดีใจมากที่ได้ทำงานถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในหลวงรัชกาลที่ 9 จนถึงวันนี้พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ครู ไม่รู้หรอกว่ามากแค่ไหน รู้แต่วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสู่สวรรคาลัยเหมือนสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง นอนร้องไห้อย่างเดียวไม่อยากทำอะไร
สุดท้ายก็คิดได้ว่า เพราะพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว เราจึงต้องทำให้มากกว่าเดิม จะทำไปเรื่อย ๆ เพื่อถวายพระองค์ เพราะเชื่อว่าพระองค์ทรงมองเห็นเวลาท้อครูจะคิดถึงตอนที่ไปส่งเสด็จพระองค์ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตอนนั้นฝุ่นเต็มหัว แต่เราก็ยังยืนอยู่ เพื่อให้พระองค์ทรงหันมาทอดพระเนตรเห็นว่าเรายังยืนอยู่ตรงนี้ จะไม่ทำให้พระองค์โดดเดี่ยว ทรงมีพวกเราที่เป็นครูอาสาสมัครที่จะทำเพื่อพระองค์
ครูเจี๊ยบได้อะไรจากการทำงานครูอาสาบ้างคะ
สำหรับครูมันมีค่ามากมาย ได้รับความรักจากชาวบ้านอย่างจริงใจ ตอนที่เราป่วยหนัก เขามาส่งขึ้นรถร้องไห้ กลัวครูต้องกลับไปอีก พอกลับไปก็ดีใจร้องไห้พอบอกจะกินข้าวก็ไปหาปูหาปลา หาอะไรมาให้ หาหยูกหายามาอบให้ทุกวัน เหมือนครูเป็นหนึ่งในครอบครัวของพวกเขา
โรงเรียนอื่น ๆ อาจสามารถส่งนักเรียนไปเมืองนอกได้ แต่ครูเจี๊ยบห่างไกลทุรกันดาร ขาดแคลนงบประมาณ แต่ครูยังสู้ทำเท่าที่เราทำได้ในพื้นที่ขาดแคลนนี่ละเมื่อก่อนครูเคยคิดนะว่าขาดแคลนจะทำอย่างไร ทำไมหน่วยงานไม่ช่วยเลย กระทั่งเห็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า
“เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์”
ตั้งแต่นั้นก็ไม่เคยนึกเหมือนก่อน เลยทำเท่าที่มี ดิ้นรนจนคนก็เห็นความดีและให้ความช่วยเหลือ
สำหรับครูเจี๊ยบ หน้าที่ของครูเป็นอย่างไรคะ
ครูเป็นอาชีพที่ต้องฝึกคนไม่ใช่แค่สอนความรู้ แต่เป็นการฝึก ฝึกนิสัย ฝึกใจคอให้เด็กเป็นคนดี ไม่ใช่แค่สอนให้รู้แล้วก็จบถ้ารู้แล้วไปโกงเขา รู้แล้วเห็นแก่ตัว มันไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องรู้ดีกว่า
สิ่งที่ทำให้ครูอยู่ที่นี่ได้นานหลายปีเพราะครูเจี๊ยบมีเป้าหมาย ถ้าเราทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้วทิ้งไป มันก็เหมือนกับการปั้นหม้อ ปั้นไหเพียงครึ่งเดียว ไม่ได้ประโยชน์อะไร พอเด็กเราจบ ป.6 ครูก็ต้องดูแลเด็กต่อจนถึงปริญญาตรีซึ่งไม่ง่ายนะ แต่ครูก็จะทำในสิ่งที่ยาก
เมื่อเขาเรียนจบเราก็เหมือนปั้นหม้อได้ใบหนึ่ง เขาทำประโยชน์ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง
แม้เป้าหมายอยู่ไกลแค่ไหน หากมีพลังใจก็ไปถึง
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง อุราณี ทับทอง
ภาพ ดวงพร ใบพลูทอง
บทความน่าสนใจ
บรูคทาวิท ทิกาบู ครูผู้เป็นดั่ง “ไม้ขีดไฟ” ส่องนำทางให้แก่เด็ก ๆ ในเอธิโอเปีย