ไปดูประสบการณ์การใช้ชีวิตของคุณศรีสอางค์หลังจากทราบว่าตนเป็นมะเร็งรังไข่กันค่ะ
เมื่อสี่ปีที่แล้วคุณหน่อย – ศรีสอางค์ อินทรสูต เริ่มมีอาการปัสสาวะไม่ออก หมอตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกในมดลูก จึงแนะนำให้ผ่าตัด ผลวิเคราะห์ชิ้นเนื้อออกมาไม่เป็นอันตราย หลังการผ่าตัดเธอจึงใช้ชีวิตตามปกติอย่างเคย และมิได้ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน ด้วยความเข้าใจผิดๆ ว่าคงจะไม่กลับมาเป็นเนื้องอกอีก ความชะลาใจที่คิดว่าตัวเองแข็งแรง ทำให้คุณหน่อยไม่ได้ใส่ใจดูแลตัวเองนัก จนช่วงต้นปีที่ผ่านมาเธอมีอาการท้องอืดเรื้อรัง และมีอาการเสียวที่หลัง ทำให้ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายหน ครั้งล่าสุดน้ำหนักเพิ่มขึ้น 2-3 กิโลกรัมภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีอาการบวมและถ่วงหนักที่ขา เธอจึงรีบกลับไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลอย่างละเอียด
ในเบื้องต้นหมอคลำพบก้อนเนื้อบริเวณมดลูกที่คุณหน่อยวางใจไปนานแล้ว และผลการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวยืนยันว่าเธอมีเนื้องอกบริเวณรังไข่ที่ขยายไปถึงช่องท้องอุ้งเชิงกราน จำเป็นต้องผ่าตัดเนื้องอกเป็นครั้งที่สอง และนำชิ้นเนื้อมาวิเคราะห์อีกทีว่าเป็นเนื้อร้ายหรือเนื้อดี ซึ่งผลออกมาว่า…เธอเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย
“ดิฉันไม่เชื่อ คุณหมอโกหก ดิฉันแข็งแรง วิ่งออกกำลังกาย 5-6 กิโลทุกวัน”
“เพราะความที่คุณแข็งแรง คุณจึงไม่รู้ตัวว่า ถ้าไม่รักษาอยู่ได้หกเดือนนะ”
“ดิฉันไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้หกเดือน แล้วเรามาลองดูกัน”
ชีวิตคือการต่อสู้กับมะเร็งรังไข่ด้วยพลังใจ
เนื่องจากคุณหน่อยเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือธรรมะ สิ่งนี้จึงกลายเป็นมิตรทางใจที่คอยเติมกำลังใจ ซึ่งเธอมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ทวีขึ้น
“วันก่อนเจอเพื่อน เพื่อนถามว่าอะไรกัน นี่เหรอมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย แล้วหันไปมองเพื่อนอีกคนที่เดินมาคู่กัน ตกลงคนไหนป่วยกันแน่ เราก็ถามกลับไปว่า ทำไม ต้องทำยังไงถึงจะรู้ว่าเป็นคนป่วย เราทำไม่เป็น”
ด้วยพลังใจมหาศาลที่มีอยู่ภายในตัว ผลักดันให้คุณหน่อยมีพลังกายในการต่อสู้กับโรคร้ายอย่างเข้มแข็ง บวกกับความคิดในแง่ดี ทำให้เธอแตกต่างไปจากคนป่วยทั่วไป ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ยังส่งผลให้เธอเจ็บปวดน้อยลง และไม่รู้สึกหวาดกลัวโรคร้ายที่เป็นอยู่ เพราะเธอคนนี้…แกร่งเกินกว่าใคร การให้กำลังใจตัวเองจึงเป็นสิ่งที่วิเศษสุด คุณหน่อยเน้นย้ำว่า
“ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามถ้าเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาสิ่งสำคัญคือใจของเรา คนรอบข้างรักเรายังไงก็ตาม เขาไม่สามารถที่เจ็บป่วยกับเราได้”
ชีวิตคือการเผชิญทุกสิ่งอย่างระมัดระวัง
ทันทีที่เธอรู้ว่าป่วย แม้จะยังไม่เชื่อนัก แต่ก็พยายามศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งในรังไข่อย่างละเอียด จึงทำให้รู้จักสภาวะที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองดี และค้นหาวิธีการดูแลสุขภาพด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่ คือหยุดกินอาหารที่กระตุ้นให้อาการทรุดลง และเลิกทำงานหนักเหมือนที่เคยเป็นมา
“เปลี่ยนอาหารร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ไม่ทานหมู และไก่ ทานผัก ปลาบ้างนิดหน่อย แล้วก็กินแต่ข้าวกล้อง”
นอกจากการดูแลตัวเองทางด้านร่างกาย และจิตใจแล้ว คุณหน่อยยังทำพินัยกรรมเตรียมไว้ หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นกับตัวเธอ เพื่อไม่ให้มีห่วงใดๆ และพร้อมยอมรับกับทุกสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเธอเป็นตัวอย่างของคนที่รู้เท่าทันชีวิต ทำให้เผชิญทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีสติและรอบคอบ
ชีวิตคือความสนุก และกล้าท้าทาย มะเร็งรังไข่
“ดิฉันก็เป็นคนประเภทเย้ยๆ ท้าทายกับชีวิตอยู่แล้ว อยู่ได้หกเดือนเหรอ ไม่จริงน่ะ”
คุณหน่อยเล่าถึงช่วงเวลาก่อนเข้าและออกจากห้องผ่าตัดอย่างสนุกสนาน เพราะเธอไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว ทว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำและน่าถ่ายทอดให้ผู้อื่นรับรู้
“นึกในใจก่อนเข้าไปห้องผ่าตัดว่า หลังจากนี้เราจะจำตัวเองได้ไหม แล้วก็โบกมือบ๊ายบายก่อนเข้าไป พอผ่าตัดเสร็จ….พยาบาลก็เรียก “คุณศรีสอางค์ คุณรู้สึกตัวแล้วขานด้วย” “พออื้อปุ๊บ นึกในใจตัวเรานี่ ไม่เป็นไรแล้ว รอดแล้ว ตอนแรกกลัวว่าจะเอ๋อ จำอะไรไม่ได้ หรือไม่ฟื้น หลังจากตื่นมาเราก็รู้ว่าเราไม่ตายแล้ว ถึงไม่กลัวการผ่าตัดครั้งที่สอง”
การที่คุณหน่อยเป็นคนสนุกกับชีวิต และกล้าท้าทายกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามา ทำให้เธอมีความสุขกับการใช้ชีวิต ซึ่งเธอคิดว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพียงพอแล้ว คุณหน่อยทำให้เราเรียนรู้ว่า “การใช้ชีวิตให้เป็น” นั้นเป็นเช่นไร คนเรามีเวลาภายในหนึ่งวันเท่ากันคือยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่มีเวลาสำหรับการอยู่ในโลกนี้…ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถไขรหัสลับในการใช้ชีวิตได้มากน้อยกว่ากัน ซึ่งทำให้นิยามของคำว่า “ชีวิต” ของแต่ละคนแตกต่างกันไป
สำหรับคุณหน่อย ชีวิตของเธอคือการเผชิญทุกสิ่งอย่างระมัดระวัง การยอมรับกฎแห่งกรรม การต่อสู้ด้วยพลังใจ ความสนุกและกล้าท้าทาย สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอเป็นผู้มีพุทธิปัญญาในการรู้แจ้งเห็นแจ้ง กลายเป็นพลังใจในการต่อสู้อุปสรรคนานัปการอย่างหาญกล้า
เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนนี้จึงยังคงดำเนินต่อไป
ข้อมูลเรื่อง ” มะเร็งรังไข่ โค้งสุดท้าย ฉันไม่ยอมตาย ” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ …