ยาคุม, ยาคุมกำเนิด, กินยาคุม, วิธีกินยาคุม, วันลอยกระทง

กินยาคุม อย่างไรให้ปลอดภัย คู่มือดูแลสุขภาพสำหรับสาว ๆ

กินยาคุม อย่างไรให้ปลอดภัย คู่มือดูแลสุขภาพสำหรับสาว ๆ

กินยาคุม อย่างไร ให้ปลอดภัย ไกลโรค เพราะอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันลอยกระทงแล้ว ซึ่งเทศกาลนี้ ถูกจัดว่าเป็นเทศกาลเสี่ยงเป็นอันดับ 1 ของไทย ดังนั้น นอกจากยืดอกพกถุงแล้ว ก็ต้องรู้จักการกินยาคุมให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เสี่ยงป่วยด้วยค่ะ

รู้ไหมคะว่า นอกจากยาแก้ปวดแล้ว ยังมียาอีกชนิดหนึ่งที่คุณผู้หญิงจําเป็นต้องใช้ นั่นก็คือ ยาคุมกําเนิด ผู้เขียนได้อ่านข้อมูลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ศึกษาการใช้ยาเม็ดคุมกําเนิดในผู้หญิงอายุ 15-45 ปี จํานวน 300 คน พบว่า มีเพียงร้อยละ 53.6 เท่านั้นที่ใช้ยาถูกวิธี เป็นข้อมูลที่น่าตกใจค่ะ เพราะแสดงว่ามีผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งกําลังใช้ยาคุมผิดวิธี วันนี้ เราจึงมีคําแนะนําเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกําเนิดให้ถูกต้องปลอดภัยมาฝาก

นานาประโยชน์จากยาคุมกําเนิด

แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลประจําจังหวัดพิจิตร อธิบายว่า “ในยาเม็ดคุมกําเนิดจะมีฮอร์โมน 2 ชนิด คือเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยกลไกลการทํางานของยาเม็ดคุมกําเนิดคือ ห้ามการตกของไข่ ทําให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะแก่การฝังตัวของตัวอ่อน และทําให้ปากมดลูกเหนียว จนอสุจิไม่อาจเข้าไปได้”

จะเห็นได้ว่า จุดประสงค์หลักของผู้ใช้ยาคุมกําเนิดคือเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ก็มีสาว ๆ หลายคนกินยาคุมเพื่อความสวยงาม คุณหมอชัญวลีอธิบายว่า “ปัจจุบันมีการปรับสูตรยา นอกจากมีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนและเอสโทรเจนที่มีคุณสมบัติป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ตัวยายังมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อแอนโดรเจน ซึ่งหลังกินยาจะทําให้ผู้ใช้บางคนซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนมีความเป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น ช่วยลดหนวด ลดเครา ลดสิว ลดหน้ามัน แต่ไม่ได้ช่วยผู้ที่มีปัญหาสิวที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือการติดเชื้อ”

อย่างนั้นแพทย์ปัจจุบันก็ยังใช้ยาคุมกําเนิดเพื่อบําบัดโรคบางชนิด ซึ่งคุณหมอชัญวลีสรุปไว้ดังนี้

1.โรคไข่ไม่ตก

ซึ่งทําให้ผู้ป่วยไม่มีประจําเดือน หรือมีประจําเดือนกะปริบกะปรอย สามารถใช้ยาคุมกําเนิดทดแทนการทํางานของฮอร์โมนได้

2.ผู้ที่มีฮอร์โมนน้อย

ในบางคนรังไข่ไม่ทํางานเนื่องจากระบบฮอร์โมนทํางานผิดปกติ ทําให้ไม่มีประจําเดือน การใช้ยาคุมก็ทําให้มีประจําเดือนได้

3.โรคถุงน้ําหลายใบในรังไข่

ผู้ป่วยโรคนี้มีฮอร์โมนเพศชายสูง มีภาวะอ้วน ไม่มีประจําเดือน ยาเม็ดคุมกําเนิดจะช่วยลดขนาดของถุงน้ําได้

4.ลดอาการปวดประจําเดือนแบบปฐมภูมิ

เป็นอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากโรคแฝง เกิดจากโพรงมดลูกมีแรงดันสูง การกินยาคุมจะช่วยลดอาการปวดแบบปฐมภูมิได้ แต่กรณีเป็นการปวดประจําเดือนแบบทุติยภูมิ คือ มีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ยาคุมอาจไม่ได้ช่วยให้หาย

ผู้ป่วยโรคใดบ้างต้องระวัง

แม้ยาคุมกําเนิดจะสามารถนําไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ มากกว่าแค่การคุมกําเนิด แต่ถึงอย่างนั้นหากใช้ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วย คราวนี้เรามาดูกันว่า ผู้ป่วยโรคใดบ้างต้องระมัดระวังการกินยาคุมกําเนิดเป็นพิเศษ

1.โรคหัวใจ

อาจารย์นายแพทย์สุนทร ม่วงมิ่งสุข ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถกินยาเม็ดคุมกําเนิดได้ แต่ต้องกินยารักษาโรคหัวใจร่วมด้วยอย่างสม่ําเสมอ เพราะการใช้ยาคุมกําเนิด อาจทําให้เลือดจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น และเข้าไปอุดตันหลอดเลือดในร่างกายได้ง่าย

“แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดเขียว(มีเลือดดําจากหัวใจห้องขวาไหลมาผสมกับเลือดแดงในหัวใจห้องซ้าย)และมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ หรือผู้ป่วยที่เคยมีก้อนเลือดไปอุดตามหลอดเลือดของร่างกายมาแล้วไม่ควรกินยาเม็ดคุมกําเนิดอย่างเด็ดขาด”

ส่วนคุณหมอชัญวลีอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่ห้ามใช้ยาคุมกําเนิด คือ

2.มะเร็งเต้านม

แม้ยาคุมไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม แต่เพราะฮอร์โมนในเม็ดยาอาจส่งผลให้มะเร็งเต้านมกําเริบหรือลุกลามได้ ดังนั้นไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม

3.โรคตับ

ผู้ป่วยโรคตับหรือตับมีความผิดปกติไม่ควรใช้ เพราะฮอร์โมนในเม็ดยาอาจเข้าไปทําให้การทํางานของตับลดลงได้

4.ผู้มีรอบเดือนผิดปกติ

สําหรับผู้มีรอบเดือนผิดปกติ หากยังไม่ได้รับการตรวจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ไม่ควรใช้ยาคุมกําเนิด ควรตรวจให้ทราบสาเหตุเสียก่อน เพื่อความปลอดภัย

กินยาคุม อย่างไร ปลอดภัยแน่นอน

เนื่องจากยาคุมกําเนิดมีความจําเป็นสําหรับคุณผู้หญิงบางท่าน เราจึงมีคําแนะนําวิธีกินที่ถูกต้องมาฝาก คุณหมอชัญวลีอธิบายว่า

1.ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่าควรกินยา คุมกําเนิดประเภทใด

2.ไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 ปี

3.ควรพบแพทย์ทุกปีเพื่อประเมินความเสี่ยงในการกินยาคุมกําเนิดในปีต่อๆ ไป

4.กรณีใช้ยาคุมเพื่อรักษาโรค ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่ง ไม่ควรซื้อยาคุมกําเนิดมากินเอง

นอกจากนี้ เภสัชกรหญิงพิธัญญา มะลารัมย์ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี ได้แนะนําต่ออีกว่า

5.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนร่วมกับการกินยาคุม เพราะฮอร์โมนเอสโทรเจนจะไปขัดขวางกระบวนการกําจัดกาเฟอีนออกจากร่างกาย ทําให้ร่างกายมีกาเฟอีนตกค้างเป็นเวลานาน จึงเกิดอาการใจสั่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับตามมาได้

6.ส่วนคุณผู้หญิงที่เป็นฝ้า ควรเลือกยาคุมกําเนิดชนิดที่มีระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ํา และควรใช้ครีมกันแดดร่วมด้วยเพื่อลดการเกิดฝ้า

ความรู้เหล่านี้นําไปบอกต่อคนใกล้ตัว ก็จะช่วยให้เราและเพื่อนๆ แข็งแรงปลอดภัยได้ค่ะ


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ฟิตเนสสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ บอกเลยมีจริง เริ่ดเว่อร์

10 วิธี หยุดภาวะ ช่องคลอดแห้ง คลายทุกข์หัวใจสาววัยทอง

วิธีรักษาและป้องกัน ฝ้า กระ จุดด่างดำ ปัญหาผิวกังวลใจในวัยที่เพิ่มขึ้น

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.