ไทรอยด์เป็นพิษ

ดูแล ไทรอยด์เป็นพิษ ตามวิถีแพทย์แผนจีน

ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากจนเกินไป ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายรวน ซึ่งอาการนี้ไม่เพียงมีการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนจีนเองก็มีวิธีรักษา ที่น่าหยิบมาใช้ดูแลตัวเองไม่น้อยเลยค่ะ

รู้จักไทรอยด์เป็นพิษ

ต่อมไทรอยด์ถือเป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนและปล่อยฮอร์โมนสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นในร่างกาย ลักษณะของต่อมไทรอยด์คล้ายปีกผีเสื้อ ซึ่งจะมีสองข้าง ซ้ายและขวา ตำแหน่งคืออยู่บริเวณหน้าหลอดลม

ไทรอยด์เป็นพิษ ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันคือมีการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป จุดที่ถูกกระตุ้นจึงเกิดเป็นถุงน้ำและส่งผลต่ออวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้มีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ขึ้นตามมา เช่น เหนื่อยหอบง่าย ใจสั่น ขี้ร้อน เหงื่อมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะไทรอยด์ผิดปกติส่วนใหญ่ทำโดยการตรวจเลือด เพื่อเช็กการทำงานของต่อมไทรอยด์และการเผาผลาญในร่างกาย โดยตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 เพื่อดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าผิดปกติหรือไม่

ไทรอยด์เป็นพิษในทางแพทย์แผนจีน

ตามทฤษฎีของแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากร่างกายมีความร้อนมากเกินไป และเป็นโรคที่เกิดจากเลือด หยินในร่างกายถูกลดทอนให้น้อยลง ร่างกายมีเสลดและเสมหะมาก ส่งผลให้มีความเครียดกังวลจนทำให้หัวใจและตับทำงานผิดปกติ

ส่วนอาการอื่น ๆ คือ มือสั่น ร้อนๆ หนาวๆ เหงื่อออกง่าย หัวใจเต้นเร็ว ตาโปน ตัวอ้วนตัน อาการบวมน้ำง่าย ร่างกายขับน้ำออกไม่ทัน ควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นลักษณะอาการของคนที่มีเสลด มีความชื้นในร่างกายมากเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาการไฮเปอร์ไทรอยด์ทั้งสิ้น ดังนั้นแพทย์แผนจีนจะเน้นทำการรักษาตามอาการ ด้วยวิธีเสริมหยิน เพิ่มเลือด ขับเสมหะ ลดไฟในตับ

การฝังเข็ม

ศาสตร์ทางการแพทย์แผนจีนจะใช้วิธีการฝังเข็มเพื่อระบายความร้อนออกมา มีหลายจุดสำคัญที่ใช้ฝังเข็มเพื่อช่วยให้ร่างกายสงบลง เช่น บริเวณรอบๆ คอ บริเวณเส้นลมปราณตับ จุดฝังเข็มขับความร้อนตามปลายมือปลายเท้า จุดลดเสลดอุดตันในเส้นลมปราณ

การกินอาหารและยาจีน

ในการรักษาอาการไทรอยด์ แพทย์จีนเน้นปรับสมดุลหยินหยาง ในทางแพทย์แผนโบราณตำราจีนและไทยถือว่าไทรอยด์เป็นพิษ เกิดจากการกินอยู่และพฤติกรรมที่ไม่สมดุล การกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนมากกว่าฤทธิ์เย็น พฤติกรรมรีบๆ
ทำงานหนักยาวๆ ใช้ร่างกายโดยไม่พัก มีความเครียดสูง ทำให้หยินหยางไม่สมดุล จึงทำให้ภายในร่างกายร้อนเกิน
และร่างกายขับความร้อนออกมาไม่ทัน ก่อเสลดในเส้นลมปราณตับที่ตำแหน่งไทรอยด์ จนกระทั่งการทำงานของ
ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ วิธีธรรมชาติแบบจีนช่วยบำบัดรักษาอาการไทรอยด์คือ

ปรับนิสัยการกิน หันมากินอาหารฤทธิ์เย็นแทน งดเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่ยังกินปลาได้ เช่น ปลานึ่งทาเกลือ เพื่อเสริมไอโอดีน กินผักผลไม้ฤทธิ์เย็น เช่น แตงโม สับปะรด แอ๊ปเปิ้ล

อาหารที่มีสรรพคุณฤทธิ์เย็น เช่นแตงโม ผักใบเขียว กุ้งปูหอยทะเลทุกชนิดที่ปรุงสุกต้มทั้งเปลือก จะได้น้ำซุปที่ต้มหอยกับกุ้งทั้งเปลือก ควรกินสัปดาห์ละประมาณ 2- 3 ครั้ง และแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการทำงานและพักผ่อนให้สมดุล ปรับอารมณ์ คลายเครียด

สำหรับสมุนไพรยาจีนเน้นให้กินกลุ่มยาขับเสลด กลุ่มยาลดร้อนทำให้เลือดเย็น และกลุ่มยาช่วยสงบตับ บำรุงตับ
หยินและเลือด ส่วนใหญ่หมอจีนจะเลือกวิธีการรักษาตามอาการ และเมื่ออาการดีขึ้นหมอจะเสริมเรื่องการกินยา
บำรุงร่างกาย ให้กินเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ฮอร์โมนทำงานคงที่และพลังงานซี่ของตับขยับดี เช่น ยาไฉหูซูกันหวัน ยาปั้นเซี่ยโฮ่วพั่วทัง ซึ่งเป็นยาที่หาได้ในร้ายขายยาแผนจีนใกล้บ้านเลยค่ะ

มีอาการคอพอก ตาโปน

ในกรณีคนที่มีอาการคอหอยพอกและอาการตาโปนร่วมด้วยเป็นภาวะการขาดไอโอดีน หมอจะให้กินยาจีนสูตรที่มีส่วนผสมมาจากเปลือกหอยนางรมและของทะเลลึก เช่น สาหร่าย ปลิงทะเล เกลือทะเล ซึ่งมีแร่ธาตุไอโอดีนและมีแคลเชียมสูง เพราะทฤษฎีของแผนจีนเชื่อว่า ความเค็มจะช่วยสลายก้อนที่โตขึ้นและสลายเสลดที่รวมตัวกันตรงบริเวณคอ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร จะช่วยให้อาการดีขึ้น

มีอาการภาวะขาดน้ำ

โรคไทรอยด์เป็นพิษจะผลิตความร้อนมาก ก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ เพราะฉะนั้นการดื่มน้ำอย่างเพียงพอต่อวันจะช่วยลดภาวะขาดน้ำและทำให้อาการดีขึ้น

สรุปคือ เน้นอาหารที่มีแคลเชียม ไอโอดีน และโซเดียมมากขึ้นแต่ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะทำให้กระดูกบางลง ดังนั้นจึงควรรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมและวิตามินดีควบคู่กันไปด้วย ทั้งในระหว่างการรักษาและหลังจากอาการดังกล่าวหายแล้ว เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรงขึ้นค่ะ

ออกกำลังกาย

สูตรที่หมอใช้รักษาคนไข้ ส่วนใหญ่เป็นการออกกำลังกายแบบเบาๆ เน้นแนวยืดเหยียดหรือการเดินประมาณวันละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น หรือการแกว่งแขน โดยการแกว่งแขนเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 20 นาที เน้นให้เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยให้ร่างกายได้ขยับ เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนไปเลี้ยงต่อมไทรอยด์ได้ดี หรือเป็นการฝึกโยคะเน้นท่าที่ให้ศีรษะลงพื้นก็สามารถช่วยได้

สำหรับการออกกำลังกายแบบชีวจิตเองก็คือการรำกระบองในท่าไหว้พระอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยให้เลือดลมไหลเวียน การทำงานของต่อมน้ำเหลืองดีขึ้น


ที่มา

นิตยสารชีวจิต โดยแพทย์หญิงศรันยา สาครินทร์ แพทย์แผนปัจจุบัน จบจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศึกษาต่อปริญญาโทด้านฝั่งเข็มยาจีน นวดทุยหนา และโภชนาการ จากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการรักษาโรคจากทั้งศาสตร์ตะวันออกและตะวันตก

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.