หลังจากกรณีที่สำนักอนามัยกรุงเทพฯ ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย “วิบริโอ คอราลี” ในแซลมอนซาซิมิ น.ส. จารุวรรณ ลิ้มสัจจะกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาเผยว่า เมื่อปีพ.ศ. 2555-2558 พบสารปรอทร้อยละ 59 ในเนื้อปลาแซลมอน 78 ตัวอย่าง พบสารตะกั่ว 5 ตัวอย่างจากเนื้อปลาแซลมอน 62 ตัวอย่าง และพบสารแคทเมียมปนเปื้อนในเนื้อปลาแซลมอน 3 จาก 153 ตัวอย่าง จึงสรุปผลการตรวจว่า เนื้อปลาแซลมอนนำเข้าจากประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพราะยังพบการปนเปื้อนในปริมาณน้อย ไม่เกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้เมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้มีการเก็บตัวอย่างซาซิมิจากร้านอาหารญี่ปุ่น ภัตราคารต่าง ซูเปอร์มาเก็ต และมินิมาร์ท ในจังหวัดกรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ 52 ตัวอย่าง พบว่า 37 ตัวอย่าง มาจากการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เพราะเจอจุลินทรีย์ 25 ตัวอย่าง เชื้ออีโคไล 1 ตัวอย่าง ทั้งจุลินทรีย์และอีโคไล 11 ตัวอย่าง เชื้อวิบริโอและเชื้อพาราฮีโมไลติคัส 7 ตัวอย่าง เชื้อซาโมไนลา 1 ตัวอย่าง และเชื้อลิสทีเรียฯ 5 ตัวอย่าง แต่ไม่เจอพยาธิ
น.ส. จารุวรรณ กล่าวว่า ความจริงแล้ว ทางกระทรวงฯ ไม่แนะนำให้รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ แต่หากอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่น ขอให้เลือกซื้อในร้านที่มีการผลิตถูกสุขลักษณะ โดยสุขอนามัยส่วนตัวของผู้ประกอบอาหารต้องดี ไม่เป็นพาหะของโรคติดต่อบางชนิด ของสดที่นำมาทำซาซิมิต้องมีเกรด และหากอยากอยากซื้อกลับมาทำรับประทานเอง ต้องเลือกซื้อชนิดที่ใช้สำหรับทำซาซิมิโดยเฉพาะ จากร้านที่มีการเก็บในอุณหภูมิพอเหมาะ
ขณะนี้ กรมวิทย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำลังรอผลตรวจสอบซูชิที่วางขายในกระบะตามตลาดนัด และป้ายรถเมล์ และยังเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนต้องการซื้อ ควรดูว่ามีภาชนะปิดป้องกันฝุ่นดีหรือไม่ และยังต้องระวังแซลมอนสด ปลาหมึกสด เพราะการปรุงมักมีการใช้มือสัมผัสโดยตรง นอกจากนี้อยากให้ประชาชนปรับพฤติกรรมมารับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ
ที่มา: เดลินิวส์
เครดิตภาพ PublicDomainPictures/pixabay.com