นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ในขณะนี้มีพื้นที่ประกาศภัยแล้งแล้วถึง 1,893 หมู่บ้าน ใน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว เพชรบุรี สุโขทัย และนครสวรรค์ และมีพื้นที่น้ำเค็มรุก 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ด้านระดับน้ำในแม่น้ำโขง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะเพิ่มระดับในช่วงต้นเดือนเมษายน
นอกจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจแล้ว ภัยแล้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ชี้ว่า ภัยแล้งเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองในอากาศที่เกิดจากดินแห้งและไฟป่า โรคระบบทางเดินอาการ ซึ่งเกิดจากการไม่ล้างมือ เพื่อประหยัดน้ำ โรคที่มียุงเป็นพาหะ เพราะความแห้งแล้งทำให้น้ำในแหล่งน้ำกลายเป็นน้ำนิ่ง เอื้อต่อการวางไข่ของยุง และโรคไข้วาลเลย์ (Valley Disease) ซึ่งเกิดจากการสูดอากาศที่มีเชื้อราค็อกสิดิออยโดไมโคสิส (Coccidioidomycosis) โดยผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บหน้าอก ไอ มีผื่น และปวดกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามโรคนี้พบน้อยในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งพบมากในกลุ่มเกษตรกรที่ต้องสูญเสียรายได้จนเกิดความเครียดสะสม ปัญหาสุขลักษณะอนามัย ที่อาจตามมาจากการใช้ยาฆ่าแมลงและน้ำรีไซเคิล เพื่อประหยัดงบประมาณในการทำการเกษตรกร และอุบัติเหตุทางน้ำที่อาจเกิดขึ้นเมื่อน้ำตื้น เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ และการทำกิจกรรมทางน้ำอื่นๆ
สำหรับเหตุการณ์ในประเทศไทย กระทรวงฯ ระบุว่า เขื่อนหลักยังมีปริมาณน้ำพอใช้ โดยเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำร้อยละ 35 เขื่อนสิริกิติ์ ร้อยละ 46 เขื่อนจุฬาภรณ์ ร้อยละ 38 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ร้อยละ 42 ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี จะมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศได้ตลอดหน้าแล้ง
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ และวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมความพร้อมในการปรับตัวให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงฯ กรมทรัพยากรน้ำได้สูบน้ำช่วยพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 16 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้เร่งขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: เดลินิวส์, Livescience