ระวัง โรคไข้เลือดออก
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 57,425 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,553 ราย ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 5 – 14 ปี รองลงมาคือ 15 – 24 ปี มีผู้เสียชีวิต 55 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. สงขลา 2. เชียงใหม่ 3. สุรินทร์ 4. สมุทรสาคร 5. ตรัง นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณครึ่งหนึ่ง ที่เข้ารับการรักษาล่าช้า คือเมื่อป่วยเกิน 3 วัน แล้วจึงเข้ารับการรักษา
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2559 ) กรมควบคุมโรค ได้รับแจ้งเหตุการณ์ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กชาย อายุ 5 ปี จังหวัดนครศรีธรรมราช และชายอายุ 25 ปี จังหวัดยะลา
การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพในสัปดาห์นี้ คาดว่า จะมีผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจาก โรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาล่าช้า หรือถ้าหากบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนไม่ได้ตระหนักถึงโรคไข้เลือดออก
จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลตัวเอง ไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันควบคุม แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งในครัวเรือน และสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยให้ใช้หลัก 3 เก็บ 1. เก็บบ้าน 2. เก็บขยะ 3. เก็บน้ำ เพื่อป้องกัน3 โรค 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย
หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ให้เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ปลอดภัย คือพาราเซตตามอล ไม่ควรซื้อยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบมารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง
ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุ ให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกไว้เสมอ และควรตรวจร่างกายผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย โรคไข้เลือดออกต่อไป
สำหรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ควรยึดแนวทางการวินิจฉัย และรักษาโรคไข้เลือดออก ตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา : กรมควบคุมโรค