ความเครียด ก่อโรคมะเร็ง

เครียด ซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง จริงหรือ?

เครียม ซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง ได้จริงหรือไม่

ความเครียด และซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง ได้อย่างไร และอารมณ์เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคอย่างไร วันนี้มีคำตอบค่ะ

สิ่งแรกที่เราควรรู้คือ ทำความเข้าใจเรื่องความเครียด ‘เพื่อนใกล้ตัว’ ให้ถ่องแท้เสียก่อน โดยแพทย์หญิงกฤตชญา ฤทธิ์ฤาชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้ความรู้ว่า ……

“ความเครียดมักเกิดขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ ที่ตนเองไม่สามารถจัดการได้ และทันทีที่เกิดความเครียด ร่างกายของคนเรา จะตอบสนองด้วยการสร้างฮอร์โมน อันได้แก่ อีพิเนฟริน ( Epinephrine ) หรือ อดรีนัลลีน ( Adrenaline ) และ คอร์ติซอล ( Cortisol ) ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และระดับน้ำตาล ในกระแสเลือดสูงขึ้น เป็นผลให้คนเราเกิดความตื่นตัว แข็งแรง และมีพลังพร้อมรับกับสถานการณ์ จึงนับว่าความเครียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประโยชน์ ที่ทำให้เราตื่นตัวกระตือรือร้น ในการใช้ชีวิตประจำวัน

“แต่ในทางกลับกัน หากความเครียดนั้น กินระยะเวลายาวนาน มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มอัตราเสี่ยง ต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค ปัญหาสุขภาพจิตก็เกิดขึ้นตามมา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล

“นอกจากนี้ ความเครียดจะนำไปสู่พฤติกรรม หรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสมอย่าง การดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดอื่น ๆ รวมถึงพฤติกรรมการกินอาหารที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้อัตราความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมีมากขึ้น”

ไม่เพียงเท่านี้ การศึกษาทั้งในคนและสัตว์หลายแห่งพบว่า ความเครียดที่เรื้อรังจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ทั้งการศึกษาในสัตว์ยังพบว่า ฮอร์โมนที่ถูกปล่อยออกมาในกระแสเลือดจากการกระตุ้นของระบบประสาทมีผลรบกวนกระบวนการของเซลล์ในการป้องกันการเกิดมะเร็งอีกด้วย

“โดยสรุปแล้ว….. ผลของความเครียดต่อการเกิดมะเร็งนั้น มีความสัมพันธ์ในการเป็นปัจจัยร่วม ให้เกิดความเสี่ยง ทั้งยังส่งผลให้มะเร็งขยายขนาด และลุกลาม แม้ยังไม่พบความสัมพันธ์ ที่แน่ชัดว่าจะทำให้เกิดได้โดยตรง แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอก็คือ เราต้องรู้จักจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ให้ส่งผลร้ายต่อตัวเราค่ะ” …. คำแนะนำจาก คุณหมอกฤตชญา

ก่อโรคมะเร็ง

ดังนั้น …. ความเครียดที่มากเกินไป ทำร้ายคุณได้มากกว่าความทุกข์ใจ และอาการนอนไม่หลับนะคะ ทำใจให้ปล่อยวางในเรื่องร้าย เพื่อสุขภาพใจ จะได้ไม่ส่งผลต่อกาย จนโรคมะเร็งถามหาค่ะ

ข้อมูลจากนิตยสารชีวจิต ฉบับ 417

แม้ปัจจุบันวงการแพทย์จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าสาเหตุใด คือ ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าสาเหตุดังต่อไปนี้ คือ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเนื้องอกและเซลล์ร้ายในร่างกาย

ต่อกันอีกนิดกับ ภูมิชีวิตตก เสี่ยงโรคมะเร็ง

ภูมิชีวิต (Immune System) บกพร่อง

“มะเร็งไม่ใช่โรค” คือคำกล่าวที่ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูชีวจิตกล่าวถึงโรคมะเร็งในหนังสือมะเร็งแห่งชีวิต เพราะความเจ็บป่วยที่ถือว่าเป็นโรค ซึ่งอาจารย์สาทิสยึดตามคำจำกัดความด้านการแพทย์นั้นต้องเกิดจากเชื้อโรคเป็นต้นเหตุ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และพยาธิเท่านั้น

ส่วนมะเร็งนั้น ถือว่าเป็นเนื้องอกหรือกลุ่มเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ร้ายนั้น คือ กระบวนการกลายพันธุ์ และปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ก็คือ ความบกพร่องของภูมิชีวิตนั่นเอง

อาจารย์สาทิส กล่าวว่า “Immune System เป็นตัวคุ้มครองป้องกันชีวิตของคุณ เหมือนอย่างตำรวจ ทหารที่เป็นผู้คุ้มกันสร้างความสงบสุขให้กับประเทศ…นอกไปจากนั้น Immune System ยังเป็นผู้ทำนุบำรุงเลี้ยงร่างกายให้ใหญ่โต แข็งแรง เป็นตัวสร้างพลังทั้งปกติและพิเศษในตัวคนเราอีกด้วย

“Immune System ตามแนวทางชีวจิต นอกจากจะหมายถึง Immune System โดยตรงแล้วยังครอบคลุมไปถึงระบบอื่นๆของร่างกายด้วย เช่น ระบบย่อย ระบบเลือด”

ดังนั้นความบกพร่องของ Immune System จึงทำให้อวัยวะในร่างกายและเซลล์ต่างๆทำงานผิดปกติ ซึ่งปัจจัยที่ทำลาย Immune System ก็คือ การที่ร่างกายมีสารพิษหรือ Toxin มากเกินไป ซึ่งอาจารย์สาทิสกล่าวว่า ความผิดทั้งทางกายและทางใจล้วนเป็นตัวสร้าง Toxin ไม่ว่าจะเป็นการกิน นอน พักผ่อน ทำงานที่ผิด และขาดการออกกำลังกายรวมถึงความเครียด

เมื่อร่างกายสะสม Toxin ไว้มากโดยไม่ได้ขับออกโดยระบบขับถ่ายหรือการออกกำลังกาย สารพิษต่างๆจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ Immune System และการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายบกพร่อง

การดูแลรักษาภูมิชีวิตให้แข็งแรงจึงเป็นดั่งปราการปกป้องมะเร็งได้

นอกจากภูมิชีวิตแล้ว ยังมีเรื่องของพันธุกรรมอีกด้วย

พันธุกรรม

นอกจากลักษณะทางกายภาพภายนอก เช่น สีผิว ตา และผม ที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษแล้ว บางคนยังอาจได้รับยีนส์ (Genes) หรือสารพันธุกรรมที่ซุกซ่อนการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกายมา เช่น ยีนส์ BCRA1 และ BCRA2 ซึ่งเป็นยีนส์ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมและรังไข่มากถึง 40-80 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้โรคมะเร็งเต้านม รังไข่ ต่อมลูกหมาก และลำไส้ใหญ่ จะถูกส่งต่อจากญาติที่ใกล้ชิดที่สุดคือ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และพี่น้อง

แต่การมีพันธุกรรมมะเร็ง นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นจะต้องป่วยเป็นโรคมะเร็งเสมอไป เพราะผลการศึกษาโรคมะเร็งในฝาแฝดที่มียีนส์มะเร็งทั้งคู่ พบว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีฝาแฝดเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่เป็นโรคมะเร็ง

ส่วนคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคนี้เช่นกัน เพราะอาจมีพฤติกรรมก่อมะเร็งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การสูบบุหรี่ ความเครียด และวิถีชีวิต

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยทางด้านพันธุกรรมแล้ว นักวิจัยและแพทย์ต่างเห็นว่าพันธุกรรมนั้นมีผลกระทบน้อยที่สุด และเป็นปัจจัยที่ทุกคนสามารถยับยั้งได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

บทความอื่นที่น่าสนใจ

แนะวิธีจับคู่ สมุนไพรรักษาโรค บำรุงเลือด ป้องกันไขมันพอกตับ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

แกงไทย กับการช่วยป้องกันมะเร็ง

5 สาเหตุใกล้ตัว ก่อมะเร็ง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.