ต่อมไทรอยด์
10 โรค จากเสียสมดุล ต่อมไทรอยด์ นายแพทย์วราภณ วงศ์ถาวรราวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึ่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ความเครียดส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยโดยที่คนทั่วๆ ไปคาดไม่ถึง ไม่เพียงแค่อาการปวดศีรษะหรือปวดท้อง แต่ยังลามไปถึงอวัยวะสำคัญ เช่น ต่อมหมวกไต ที่ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนสูงถึง 36 ชนิด และต่อมไทรอยด์ ซึ่งควบคุมระบบเมตาโบลิซึมหรือการใช้พลังงานจากอาหารและออกซิเจน การซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บสึกหรอ และยังช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
“เมื่อเกิดภาวะเครียด ต่อมหมวกไตจะถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนและนอร์อะดรีนาลีนออกมา ทำให้หัวใจเต้นเร็ว นอกจากนี้ก็ยังทำให้ต่อมหมวกไตผลิตสเตอรอยด์ออกมามากขึ้น ทำให้ติดเชื้อง่าย ถ้าต่อมหมวกไตทำงานผิดปกตินานๆ มักพบว่า มีน้ำหนักเกิน ใบหน้าบวมฉุ ความดันโลหิตสูง และเป็นโรคเบาหวาน”
คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า ความเครียดยังส่งผลกับต่อมไทรอยด์อีกด้วย
“พบมากอีกกลุ่ม คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ยังไม่ถึงกับไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการเฉื่อยชา สมาธิสั้น มีภาวะซึมเศร้า กินอาหารไม่มากแต่น้ำหนักขึ้น ขี้หนาว ผิวแห้ง ท้องผูก ประจำเดือนมากผิดปกติ กลุ่มนี้มักไม่ทราบว่าตอนเองมีอาการผิดปกติที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ กว่าจะมาพบแพทย์ก็กินเวลานาน
อีกกลุ่มที่พบมากเช่นกัน คือ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้มีผลต่ออารมณ์ วิตกกังวล หงุดหงิด นอนไม่หลับ มือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลงหรือคงที่แม้ว่าจะกินมากก็ตาม ”
วิถีชีวิตที่เร่งรีบในยุคปัจจุบันส่งผลให้คนเรามักมีความเครียดสะสมแบบไม่รู้ตัว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองเครียดจนอาจนำพาให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูชีวจิต อธิบายถึงวิธีสังเกตความเครียดสะสมในร่างกายอย่างง่ายๆ ไว้ ดังนี้
“เวลาที่คุณเครียด กระเพาะ บีบน้ำย่อยออกมามากเกินไป พอถึงเวลากินอาหาร น้ำย่อยกลับไม่มี กินข้าวไม่ลง ความอยากอาหารลดลง หน้าตาไม่สดใส เลือดลมเดินไม่สะดวก ทดสอบได้ง่ายๆ ให้ลองเอาคางจรดอก หรือ ให้ลองหมุนคอไม่รอบๆ บางคนทำไม่ได้ รู้สึกเกร็งไปหมดทั้ง คอ บ่า ไหล่ แสดงว่ามีความเครียดสะสมอยู่”
“คนที่มีความเครียดสะสม จะป่วยบ่อย เพราะความเครียดทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ภูมิต้านทานต่ำ จึงเป็นหวัดหรือติดเชื้อได้ง่าย ทางที่ถูก คือ ต้องรู้สึกผ่อนคลาย ให้อภัย เข้าใจ และปล่อยวางได้ ไม่ถือสาหาความใคร ”
แนวทางลดเครียดที่ ชีวจิต แนะนำ นอกจากต้องฝึกคิดบวก มองโลกในแง่ดี รู้จักปล่อยวางได้ มองโลกให้แจ่มใสและมีอารมณ์ขันแล้ว ต้องทำควบคู่ไปกับการกินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ จึงจะทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้อย่างยั่งยืน
ที่มา คอลัมน์ เรื่องพิเศษ มาหัวร่อ ต่อชีวิต ผู้เขียน กองบรรณาธิการ นิตยสาร ชีวจิต
สารพัดสมุนไพรคลาย วิตกกังวล
7 สมุนไพรไทยรักษาโรค ยืนยันแล้วว่าได้ผลจริง
เครียดลงกระเพาะ ภาวะฮิตของคนทำงาน