ขณะที่คนส่วนใหญ่ มักยึดติดกับความสำเร็จและความสุขที่เคยได้รับมาในอดีต แต่คุณปลาปนิตา ตันติวัฒนวัลลภอายุ 35 ปี อดีตผู้หญิงเก่งและเจ้าแม่ปาร์ตี้ที่ต้องป่วยเป็น มะเร็งโพรงจมูก เธอเลือกใช้การวิ่งมาราธอนเพื่อนำทางเธอกลับสู่เส้นทางแห่งสุขภาพดีอีกครั้ง
แต่กว่าที่หญิงสาวจะค้นพบคำตอบจนประจักษ์แจ้งในหัวใจตนเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
จุดอ่อนเดียวคือชีวิตขาดสมดุล
เหตุใดสาวคนนี้จึงถูกโรคร้ายคุกคาม เจ้าตัวทบทวนและอธิบายว่า แม้จะไม่เคยขาดการออกกำลังกาย คือ วิ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีต่อเนื่องจนถึงช่วงทำงานและทำเวลาได้ดีมาก คือ วิ่งได้ 12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ยังมีจุดอ่อนเพียงหนึ่งเดียว คือ ขาดความสมดุลในการใช้ชีวิต ซึ่งเธออธิบายว่า
“งานแรกเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน งานต่อมาเป็นโบรคเกอร์ค้าตราสารหนี้ เราเป็นคนรับผิดชอบสูงและเข้มงวดกับตนเองเสมอ อีกด้านหนึ่งด้วยวัยในตอนนั้น เราก็ยังใช้ชีวิตแบบเจ้าแม่ปาร์ตี้ ศุกร์กลางคืนเจอได้ที่สีลมซอย 4 เที่ยวเสร็จตี 2 กลับบ้านมาล้างหน้าล้างตา ตี 5 ปุ๊บก็ออกไปวิ่งสวนลุมฯ ทำอย่างนี้อยู่เป็นปีๆเลย ในที่สุด อยู่ดีๆ ก็คลำพบก้อนที่ใต้ใบหูข้างซ้ายซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองโตเท่าไข่ไก่”
“เราก็รีบไปโรงพยาบาล ครั้งแรกหมอสันนิษฐานว่าต่อมน้ำเหลืองอักเสบ แต่กดไม่เจ็บ เราก็เริ่มใจไม่ดีแล้วเพราพบข้อมูลในอินเตอร์เน็ต จึงกลัวว่าจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงไปพบหมออีกครั้งเพื่อนัดเจาะเอาเซลล์ไปตรวจ ผลตรวจเป็นลบไม่พบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มีทางเลือกคือกินยาแล้วรอให้ยุบกับผ่าออกเลย”
เมื่อผ่าตัดเสร็จจึงพบว่าต่อมน้ำเหลืองที่ผ่าตัดออกมามีขนาดใหญ่ถึง 12 เซนติเมตรและเป็นผลจากมะเร็งโพรงจมูก แม้ว่านี่คือข่าวร้าย แต่เธอก็อธิบายว่า นับเป็นโชคดีได้เช่นกัน เพราะปกติมะเร็งโพรงจมูกจะปรากฏอาการก็ล่วงเข้าระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว ขณะที่ที่คุณปลาเอง ขณะนั้นยังไม่มีอาการที่โพรงจมูกเลย แพทย์จึงมั่นใจว่ายังรักษาได้ จึงเป็นที่มาของการเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัดทั้งหมด 7 เดือนทันที
หลังได้รับเคมีบำบัดผ่านไป 2 เดือนคุณปลาเริ่มเห็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับร่างกายชัดเจนขึ้น เพราะเป็นแผลในโพรงจมูก คอ ปาก เพดานปาก ฟันเสียหมดทั้งปาก ไม่มีน้ำลาย ปุ่มรับรสที่ลิ้นจะหายไปหมด เปรียบเทียบแล้วเหมือนอวัยวะภายในช่องปากถูกเผาหมด และน้ำหนักลดมากจนแก้มห้อยลงมาข้างนึง ซึ่งเธอเล่าว่าถ้าช่วงนั้นติดเชื้อในกระแสเลือด ทุกอย่างก็จบ
หลังจากนั้น เธอต้องมีพยาบาลพิเศษมาดูแลขณะทำกิจวัตรประจำวัน เพราะเดินไม่ได้ ไม่มีแรง หน้าบวม มือบวม จะเข้าห้องน้ำมีคนพยุงไป บางทีก็อาเจียนจนหมดแรงน้ำหนักลดเหลือ 46 กิโลกรัมแต่คุณปลาโชคดีที่มีคุณแม่คอยทำอาหารสุขภาพปั่นเหลวให้กิน ร่างกายจึงฟื้นขึ้นมาทีละน้อยๆ และมีคุณพ่อที่คอยดูแลให้กำลังใจอยู่ข้างๆ เสมอนอกจากนี้ แพทย์ที่ดูแลเธอยังให้ข้อคิดที่จุดประกายให้มองการป่วยไข้ครั้งนี้ใหม่ทั้งหมด
“อาจารย์หมอมานั่งคุยกับปลาที่ข้างเตียง ท่านบอกว่า ตอนนี้คุณอาจคิดว่าตัวเองพบจุดจบแล้ว แต่ถ้าเลิกยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ยอมรับและเริ่มใหม่ คุณจะกลับมาทำอะไรๆ ได้มากกว่าเดิม”
ตอนนั้นเธอยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจมากนัก จวบจนได้เริ่มลงมือสานฝันเรื่องการเป็นนักวิ่งมาราธอนใหม่อีกครั้ง จึงเข้าใจว่า สิ่งที่แพทย์ประจำตัวแนะนำไว้นั้นเป็นความจริงที่แสนมหัศจรรย์และมีคุณค่ายิ่งนัก
…แต่การเริ่มต้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอจะทำสำเร็จหรือไม่ ติดตามต่อไป
หน้าถัดไป
ออกสตาร์ทใหม่ วิ่งฟื้นกายใจใน 1 เดือน
ราวต้นปี พ.ศ.2554 เมื่อจบการรักษา ตรวจร่างกายอย่างละเอียดและไม่พบการลุกลามหรือเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งแล้ว คุณปลาเล่าว่า ตนเองรู้สึกยังเคว้งๆ ไม่รู้จะเริ่มต้นใหม่อย่างไร
“พอหายจากมะเร็งแล้วจะทำอะไรต่อ ก็ยังไม่รู้คำตอบ เมื่อพ่อแม่ถามว่าอยากทำอะไร เราก็ตอบประชดๆ ว่า แค่มีแรงออกไปวิ่งก็ดีแล้ว เพราะคิดว่าคงวิ่งไม่ได้อย่างเดิมอีกแน่ๆ
“พอพ่อได้ยินเราพูดแบบนั้น วันรุ่งขึ้นเขาก็พาไปสวนลุมพินีเลยค่ะ (หัวเราะ) ปลาเดินได้ 300 เมตรก็ทรุดไปนั่ง น้ำลายยังไม่มา แรงขาไม่มี น้ำก็ต้องกิน แต่พ่อยังเดินต่อ พ่อบอกว่าค่อยๆ เดินไปด้วยกันก็ได้”
หญิงสาวอธิบายว่า ขณะนั้นเธอคิดว่า ถ้ายอมแพ้และกลับบ้านไปนอนเหมือนเป็นคนป่วยคนหนึ่ง ย่อมไม่มีทางเดินได้ไกลกว่านี้ แต่ถ้าพรุ่งนี้ยังแข็งใจมาเดินต่ออีกหนึ่งวัน นั่นแปลว่าเธอยังมีโอกาสไปได้ไกลกว่าเดิม
“ถ้าปลาทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็คงเดินได้ถึง 1 กิโลเมตรและคงมีวันที่กลับมาวิ่งได้อีก ทุกๆ เช้า แค่เราออกมาวิ่งและทำระยะทางได้มากกว่าเดิมทุกวัน นั่นล่ะคือความมหัศจรรย์ของชีวิต”
ผ่านไป 1 เดือน ในที่สุดเธอก็กลับมาเดินรอบสวนลุมพินีดังที่ตั้งใจไว้ซึ่งเธอย้ำว่า
“โชคดีที่มีมะเร็งเข้ามาช่วยแตะเบรกให้ชีวิต ทำให้เรากล้าเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเดิมๆค่ะ ส่วนการวิ่งก็เข้ามาเสริมให้เห็นความจริงของชีวิตข้อนี้และทำให้ปลารู้ว่าเราสร้างตัวเองใหม่ได้ทุกวันค่ะ
“ตัวปลาเองจะมีวันนี้ไม่ได้ หากไม่มีพ่อ แม่ เพื่อนๆ และทีมแพทย์ที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเรารับรู้ถึงคุณค่าของความเอาใจใส่จากคนรอบข้าง จึงบอกตัวเองว่าท้อหรือตายไม่ได้เด็ดขาดค่ะ (หัวเราะ)”
เมื่อเธอตระหนักว่า นี่คือโอกาสพิสูจน์ความแข็งแกร่งของตนเอง หญิงสาวจึงหวนคืนสู่เส้นทางนักวิ่งอีกครั้ง และกลายเป็นหนึ่งในเซเลบริตี้ในแวดวงของนักวิ่งมาราธอนหญิงในประเทศไทยที่มีคนรู้จักมากที่สุดคนหนึ่ง ณ ขณะนี้
…จากสาวปาร์ตี้ที่กลายเป็นคนป่วยหนัก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่วันนี้เธอกลายเป็นนักวิ่งคนเก่งที่ใครๆ ก็ชื่นชม แต่เธอจะหายจากโรคร้ายหรือไม่ เราไปติดตามกันต่อ
หน้าถัดไป
4 Steps for runner
ฟิตก่อนมาราธอน
บัดนี้ ผ่านมาครบ 3 ปี สุขภาพของหญิงสาว เรียกได้ว่า ปลอดจากมะเร็งโพรงจมูกแล้ว เมื่อเจ้าตัวได้ละวางความเจ็บปวดทั้งกายใจ มุ่งสู่การเป็นนักวิ่งเต็มตัว จึงค้นพบศักยภาพของตนเองที่ทะลุเพดานเดิมไปได้ทุกๆ วัน ผ่านการวิ่ง ซึ่งคุณปลา อธิบายถึงขั้นตอนการฝึกฝนตนเอง ให้พร้อมสำหรับการวิ่งมาราธอน ดังนี้
Step 1stพักผ่อนให้พอคุณปลาแนะว่า ควรนอนให้ได้อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมง เช่น หากพรุ่งนี้ต้องตื่น
มาซ้อมวิ่งตั้งแต่ ตี 4 ก็ต้องเข้านอนตั้งแต่ 3 ทุ่ม เป็นต้น ที่สำคัญ ต้องเป็นการนอนหลับสนิท เพื่อให้ร่างกายคืนความสดชื่นได้อย่างแท้จริง และมีผลให้ระบบการเผาผลาญทำงานได้ดี
Step 2ndจัดตารางซ้อมวิ่งคุณปลาเลือกซ้อมวิ่งสัปดาห์ละ 3 วัน แบ่งเป็น วันแรกซ้อมวิ่งเร็วเพื่อฝึกกำลังขา วันที่สองซ้อมวิ่งทนเพื่อให้ร่างกายเคยชินและสามารถวิ่งในระยะไกลได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปส่วนวันสุดท้าย เป็นการซ้อมวิ่งยาว เทียบเท่ากับการแข่งจริง ซึ่งมักต้องใช้ระยะเวลานาน จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ซ้อมเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์
นอกจากนี้ ขณะที่ซ้อม ให้พยายามสังเกตท่าวิ่งของตัวเอง หากมีปัญหาหรือพบว่า เกิดอาการบาดเจ็บซ้ำๆ ให้ปรับท่าวิ่ง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยแนะนำให้ ถ้าเริ่มพบอาการบาดเจ็บ ต้องไม่ฝืนวิ่งต่อขอให้รักษาตัวให้ดีก่อน แล้วค่อยกลับมาวิ่งใหม่
Step 3rdฝึกหายใจ ข้อนี้ ถือเป็นหัวใจหลักของการวิ่งระยะไกลอย่างมาราธอน ซึ่งคุณปลาแนะว่า หากวางตารางฝึกซ้อมมาอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือนก่อนลงแข่งในรายการจริง ร่างกายของคนเราจะสามารถปรับตนเองให้มีวิธีหายใจได้ถูกจังหวะตามธรรมชาติ ไม่ใช่อยู่ๆ อยากแข่งมาราธอนแล้วไปซ้อมไม่กี่วันหรือสัปดาห์ก็จะลงแข่งแล้ว หากฝืนทำเช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อระหว่างแข่งได้
สำหรับนักวิ่งมือใหม่ เธออธิบายว่า ขอเพียงเริ่มต้นแบบสบายๆ ไม่จดจ่อหรือรู้สึกเคร่งเครียดนัก จะมีการหายใจที่สอดคล้องกับการวิ่งไปโดยธรรมชาติขอให้หมั่นซ้อมและค่อยๆ สังเกตตนเองให้ต่อเนื่อง จะเข้าใจรูปแบบหรือจังหวะการผ่อนลมหายใจขณะวิ่งของตนเองได้ในที่สุด ไม่หอบหรือหายใจไม่ทัน ขอเพียงรักษาความเร็วให้พอดีกับลมหายใจ ถ้าเหนื่อยก็ลดความเร็วลง ให้หัวใจเต้นช้าลงหน่อยแล้วค่อยไปต่อ
Step 4thเสริมด้วยการออกกำลังกายอื่นๆ นอกจากการวางตารางฝึกซ้อม 3 วันใน 1 สัปดาห์ ซึ่งระบุไว้ในขั้นตอนที่ 2 แล้ว เวลา 4 วันที่เหลือในสัปดาห์นั้นๆ คุณปลาเลือกการฝึกโยคะกับว่ายน้ำมาสลับกับการซ้อมวิ่งอีก 2-3 วัน โดยเธออธิบายว่า การฝึกโยคะช่วยได้ยืดกล้ามเนื้อ ยืดเส้นเอ็นและข้อต่อต่างๆ ไปในตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลังออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อตามตารางฝึกซ้อมแล้ว
ส่วนการว่ายน้ำ มีผลดีมากเช่นกัน เพราะช่วยให้ปอดแข็งแรง เป็นการเสริมเรื่องการหายใจ นอกจากนี้ ยังมีการออกกำลังกายในฟิตเนสอีก 1 วันเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยให้มีกำลังในการวิ่งระยะยาวได้ดี
การวิ่งช่วยสร้างทั้งกำลังใจ ลดความเครียด โดยเฉพาะการวิ่งระยะยาวๆ ถือเป็นการฝึกสมาธิที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะช่วยฝึกให้ตัดความคิดฟุ้งซ่าน จดจ่ออยู่ที่ฐานกายหรือการเคลื่อนไหวเป็นหลัก หากทำอย่างต่อเนื่องจะค่อยๆ เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทำงานของปอด กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิกัน ช่วยให่ร่างกายกายฟื้นตัวจากโรคร้ายได้เร็วขึ้น
สุดท้าย นักวิ่งมาราธอนสาว ฝากถึงการวิ่งมาช่วยสร้างพลังทั้งกายใจสู้โรคไว้ว่า
“วันที่เราวิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม มันก็เหมือนเราได้ทะลุเพดานของตัวเองไปทีละชั้นๆ ทุกครั้งที่ผ่านเพดานไป เราได้เคารพตัวเองและรู้ว่าทำได้ความกลัวที่แฝงอยู่ใจจะหมดไปค่ะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเป้าหมายในการวิ่งเท่านั้น แต่จะขยายออกไปถึงความกลัวที่ซ่อนอยู่ทุกเรื่องหากเป้าหมายนี้เราทำได้ เรื่องอื่นๆ ก็ทำได้เช่นกัน”
ก่อนจากกัน เธอทิ้งท้ายว่า
“การวิ่งทำให้เรามีวินัยโดยปริยาย และปลาคิดว่านี่เป็นการเสพติดที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ”
ข้อมูลเรื่อง ” เจ้าแม่ปาร์ตี้ พิชิต มะเร็งโพรงจมูก ” จากนิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 407 คอลัมน์ ประสบการณ์สุขภาพ