สำหรับการเดินทางสายสุขภาพรอบนี้ คุณกาละแมร์ คอลัมนิสต์หุ่นสวยสุขภาพแข็งแรงของเราชวนคุณไปกินอยู่สุขภาพเลิศกันที่ญี่ปุ่น แต่จะกินดีอยู่ดีสักแค่ไหน (และสไตล์ไหน) ชวนไปตามอ่านเธอกันเลย
หลายคนชอบถามว่าเวลาเดินทาง ฉันกินอย่างไร พังเลยไหม ปล่อยไหลได้รึเปล่า ฉบับนี้ขอเล่าประสบการณ์ที่เพิ่งได้ไปเที่ยวต่างประเทศมาเมื่อสิ้นปีให้ฟังแล้วกันค่ะ ซึ่งประเทศแรกที่เลือกมาเล่านี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนมากที่สุดประเทศหนึ่งเลยทีเดียว ญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ ทุกสิ่งอย่าง เริ่มจากอาหาร
อาหาร เปรียบได้กับ ชีวิต ของมนุษย์ โดยเฉพาะกับคนญี่ปุ่น ที่พิถีพิถันกับการบริโภคด้วยการเลือกวัตถุดิบที่สดใหม่และเป็นไปตามฤดูกาล เมื่อได้ลองอาหารญี่ปุ่นถึงถิ่น จะพบกับความหลากหลายที่ว่า มาต่างช่วงเวลา ต่างเมือง ต่างภูมิภาค อาหารจะต่างกันโดยสิ้นเชิง มีผักแปลกๆ มากมายให้เลือกชิมในหนึ่งเมนู แถมอาหารทะเลก็สดมากๆ
อาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีคอเลสเตอรอลต่ำ ทั้งยังปรุงแต่งน้อยมาก เพราะเขาเน้นให้ลิ้มรสชาติความสดของวัตถุดิบแต่ละชนิดจริงๆ หลายอย่างที่กินเข้าไปจึงเป็นอาหารสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างซูชินี่เหมาะกับการกินหลังออกกำลังกายมากนะคะ เพราะตอนนั้นร่างกายต้องการใช้พลังงานอย่างรวดเร็ว ซูชิมีทั้งโปรตีนจากปลาทะเลสดๆ และมีคาร์โบไฮเดรตพร้อมใช้ หากกินในปริมาณที่พอดีจะช่วยทดแทนพลังงานที่ร่างกายกำลังขาดได้เลย
เวลาไปพักที่เรียวกัง (บ้านแบบญี่ปุ่น) มีข้อดีตรงที่ แมร์จะได้กินอาหารท้องถิ่นที่คนพื้นที่กินกัน เสิร์ฟมาเยอะไปหมดจานเล็กจานน้อย เราก็แอบเหล่วิธีกินของคนญี่ปุ่นข้างๆ เลยค่ะ ว่าเขากินอย่างไร เพื่อจะได้ลองกินด้วยวิธีคนญี่ปุ่นแท้ๆ เห็นเขาวางไข่ออนเซ็นบนข้าวสวยร้อนๆ ตามด้วยนัตโตะ(ถั่วเน่า) คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นเอาสาหร่ายจับข้าวขึ้นมาพอดีคำเอาเข้าปาก เอ้อ ก็แปลกดีนะ แต่เป็นวิธีที่สร้างสรรมาก กินเหมือนข้าวห่อสาหร่ายแต่ไม่ต้องปั้น ทำให้รู้ว่า โห กินแบบนี้ก็ได้ด้วย
และที่ชอบมากคือชาเขียวจ้า เยอะแยะเต็มไปหมด หลายรูปแบบหลายยี่ห้อ ตามเรียวกังก็จะมีชนิดพร้อมชงไว้บริการ เวลาเผลอชิมอาหารเพลินก็จิบชาเขียวช่วยแก้กรรม เอ๊ย แก้พฤติกรรมการกินที่ทำไว้ พอช่วยได้ค่ะ เพราะในชาเขียวมีทั้งแอนติออกซิเดนท์ (สารต้านอนุมูนอิสระ) แถมช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน ลดคอเลสตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด กินแบบดั้งเดิม ชงดื่มร้อนไม่เติมน้ำตาล ฟินมากค่ะ
วิสัยของการพึ่งพาตนเอง
ชาวญี่ปุ่นมีการพึ่งพาตนเองสูงมาก ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนญี่ปุ่นนิยมเดินไม่ก็ปั่นจักรยาน บางคนอายุมากแล้วก็เห็นยังเดินเหินคล่อง สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเดินและปั่นจักรยานมีมาก ทำให้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องปั่นเพียงเพื่อออกกำลังกายอย่างเดียว และแมร์ก็ใช้วิธีเดินในการสำรวจสถานที่ต่างๆ เยอะมากค่ะ มันได้ทั้งออกกำลังกายและได้เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถ้าเรานั่งรถอาจมองไม่เห็นได้
ตามบ้านจัดสรรของญี่ปุ่น แม้มีพื้นที่ไม่มากนะ แต่พวกเขาก็จะปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง คงเพราะมั่นใจในความปลอดภัยและได้วัตถุดิบสดใหม่ที่ดูแลมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง มีอยู่บ้านหนึ่งถึงขั้นปลูกข้าวเลยค่ะ หลังบ้านเขามีแปลงนาจริงๆ ทั้งๆ ที่พื้นที่ในรั้วบ้านมีไม่มาก ซึ่งคงปลูกไว้กินเองในครัวเรือนไม่ได้หวังค้าขาย แต่มันทำให้แมร์เห็นว่า คนญี่ปุ่นก็ตระหนักเรื่องการพึ่งพาตนเองและเรื่องสุขภาพมากทีเดียว
เมื่อการกินอยู่ของคนญี่ปุ่นเป็นการพึ่งพาตนเองเสียส่วนใหญ่ นี่จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมมื้ออาหารหลักหนึ่งมื้อในแต่ละที่แต่ละช่วงเวลาจึงหน้าตาไม่เหมือนกันเลย ทั้งยังมีเอกลักษณ์ชัดเจนมากเพราะไม่ขึ้นตรงต่อพืชเศรษฐกิจ สดสะอาดและแปลกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรามาก สามารถพูดได้ว่า คุณภาพชีวิตของคนญี่ปุ่นโดยรวมคือ กินดีอยู่ดี อย่างไม่ต้องสงสัย
และที่อยากจะเล่าแถมคือเรื่องของภูมิทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น สังเกตไหมเวลาใครไปเที่ยว มองไปทางไหนก็เจริญหูเจริญตา ต้นไม้ขึ้นกันสวยงามไล่สีสันเหมือนตั้งใจ คำตอบคือก็เพราะเขาตั้งใจจริงๆ ค่ะ รัฐบาลจะคิดไว้แล้วว่าโซนนี้ปลูกอะไร โซนนี้ต้นไม้จะให้ใบให้ดอกสีอะไร คือมีการวางแผนเรื่องการปลูกต้นไม้ในเมืองกันอย่างจริงจัง แถมยังอนุรักษ์ต้นเก่าๆ ที่มีอายุเป็นร้อยปี บางต้นเขาถึงกับพยายามสร้างสิ่งปลูกสร้างให้โค้งเอนไปตามรูปของต้นไม้แทนจะตัดทิ้ง และหลายต้นก็มีระบุวันที่ปลูกเสร็จสรรพ แสดงว่าเขาให้ความสำคัญกับธรรมชาติและภูมิทัศน์จริงๆ
ความจริงยังมีอีกหลายความประทับใจในประเทศนี้ แต่หน้ากระดาษไม่พอเสียนี่ ไม่เป็นไรค่ะ แมร์สรุปให้ว่า หากใครกำลังมองหาที่เที่ยวเชิงสุขภาพดีๆ แนะนำให้นำร่องด้วยการไปเที่ยวญี่ปุ่น รับรองไม่ผิดหวังค่ะ
ข้อมูล “กินดี-อยู่ดี ที่ญี่ปุ่น” จากคอลัมน์ Clean Food Clean Life นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 418